HomeInsightโลกอยู่ยาก เมื่อชีวิตฟรีแลนซ์ ไม่สวยเหมือนในฝัน 1 ใน 5 มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 9 พัน และส่วนใหญ่รายได้น้อยกว่าทำงานประจำ

โลกอยู่ยาก เมื่อชีวิตฟรีแลนซ์ ไม่สวยเหมือนในฝัน 1 ใน 5 มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 9 พัน และส่วนใหญ่รายได้น้อยกว่าทำงานประจำ

แชร์ :

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราจะได้ยินคนพูดถึงเทรนด์ของการทำงานฟรีแลนซ์กันอยู่ไม่น้อย ถ้ามองดูรอบตัวก็จะเห็นว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่ช่วยพาให้คนกับงานมาเจอกัน รวมไปถึง IG, Facebook สามารถเป็นช่องทางในการหารายได้ใหม่ๆ โดยที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบงานประจำเดิมๆ บวกกับความต้องการมีอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง ทำให้วงการฟรีแลนซ์ขยายตัวและเติบโตมากขึ้น เพราะหลายคนต้องการผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว วงการฟรีแลนซ์ไม่ได้สวยหรูและเรียบง่ายแบบภาพที่หลายคนมอง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์​ หรือ EIC ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสายงานฟรีแลนซ์ในประเทศไทยพร้อมได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ในหลากหลายมิติ ทั้งรายได้ สายงานที่คนนิยม ใครกันบ้างที่นิยมเดินเข้ามาในสายงานฟรีแลนซ์ รวมทั้งปัจจัยสู่โอกาสในการเป็นฟรีแลนซ์เงินแสน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ต่อไปนี้

เกือบ 80% ของมนุษย์เงินเดือนอยากเป็นไท 

จากผลสำรวจของ EIC พบว่า มนุษย์เงินเดือนชาวไทย 79% อยากเปลี่ยนมาทำงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นงานฟรีแลนซ์ หรือการออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่คนที่มีเงินเดือนสูงๆ เป็นหลักแสนบาทต่อเดือน ที่ 1 ใน 3 ของคนในกลุ่มนี่ก็มีความต้องการไปในทิศทางเดียวกันนี้

เพราะจากการสำรวจ พบว่า แม้คนทำงานฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่จะมีรายรับต่อเดือนน้อยกว่าคนทำงานกลุ่มอื่น ๆ แต่ถ้าดูตัวเลขดี ๆ จะเห็นว่ามีชาวฟรีแลนซ์ 5% ที่ตอบว่ามีรายได้สูงกว่า 100,000 บาทต่อเดือน ที่น่าสนใจคืออายุเฉลี่ยของชาวฟรีแลนซ์รายได้สูงเหล่านี้อยู่ที่เพียง 44 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับมนุษย์เงินเดือน ถ้าหากจะสามารถมีเงินเดือนเกินหลักแสนได้นั้น  ส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 46 ปี

สำหรับสายงานของฟรีแลนซ์ชาวไทยนั้นมีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขาย อาจารย์ นักวิจัย นักแสดง นักวาด นักเขียน ล่าม เทรนเนอร์ ช่างแต่งหน้า บริการขับรถรับส่งผู้โดยสาร ไปจนถึงอาชีพที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องทำงานประจำเท่านั้น เช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย นักบัญชี และที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน เป็นต้น โดยจากการสำรจฟรีแลนซ์ชาวไทยจากกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 6 พันคน แบ่งเป็นกลุ่มงานฟรีแลนซ์ต่างๆ ต่อไปนี้

รับจ้างทั่วไป (34%) รองลงมาคืองานสอนและงานวิจัย (11%) พนักงานขาย (10%) งานสายครีเอทีฟ (10%) และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (9%)

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ความสนใจในตลาดฟรีแลนซ์จะโดดเด่นอย่างไร แต่แรงงานที่ครองสัดส่วนขนาดใหญ่ในตลาดแรงงานถึง 3 ใน 4 ก็ยังคงเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนอยู่ดี โดยมีสัดส่วนสูงถึง 74% ในขณะที่กลุ่มคนทํางานอิสระมีสัดส่วนเพียง 21% (แบ่งเป็นคนทํางานฟรีแลนซ์ 12% และคนทำธุรกิจส่วนตัว 9%) เนื่องจาก ยังมีหลายเหตุผลที่ทำให้คนลังเลในการก้าวมาเป็นฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัวแบบที่ใจคิด ทั้งในเรื่องความไม่แน่นอนของรายได้ ความไม่มั่นคงทางด้านการงาน และยังคงต้องการสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งงานฟรีแลนซ์อาจไม่ได้มีค่าตอบแทนในระดับสูงอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้

ฟรีแลนซ์เกือบ 20% รายได้ไม่ถึง 9,000 บาทต่อเดือน

EIC แชร์ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เว็บไซต์หางานยอดนิยมของไทยแห่งหนึ่ง เปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนที่บรรดาเหล่าฟรีแลนซ์ไทยเรียกร้อง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของงานประจำทั่วไป และยังเรียกเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยปี 2016 กลุ่มฟรีแลนซ์เรียกเงินต่อเดือนราว 18,600 บาท และเพิ่มเป็น 20,900 บาท ในปี 2018 ขณะที่เงินเดือนของงานประจำทั่วไป เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 18,503 บาทต่อเดือนในปี 2016 เพิ่มเป็น 18,637 บาท ในปี 2018

และเมื่อเหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องการเปลี่ยนสายงานมาสู่การเป็นฟรีแลนซ์ พบว่า เกือบทั้งหมด หรือ 96% ต้องการรายได้เพิ่มขึ้นอีก 50-70% ของเงินเดือนเดิม และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการรายได้เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจ​ เพราะฟรีแลนซ์ที่มีรายรับสูงๆ มีจำนวนน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่าคนทำงานประจำด้วยซ้ำ

โดย 18% ของคนทำงานฟรีแลนซ์ มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาท เมื่อเทียบกับคนทำงานประจำ และทำธุรกิจส่วนตัว ที่มีสัดส่วนตรงนี้ 4% และ 1% เท่านั้น ส่วนฟรีแลนซ์ที่ทำรายได้เกิน 1 แสนบาทต่อเดือนนั้น มีอยู่ที่ราว 5% ซึ่งก็ยังน้อยกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูงของคนทำงานประจำ และทำธุรกิจส่วนตัวที่มีรายได้ถึงจุดนี้ ในสัดส่วนที่ 8% และ 12% ตามลำดับ ซึ่งนี่อาจเป็นกำแพงหลักสำคัญที่ทำให้คนทำงานประจำแม้อยากจะก้าวออกจากความเป็นมนุษย์เงินเดือนมากแค่ไหน แต่ด้วยตัวเลขรายได้ที่ยังน้อยอยู่ทำให้ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะรับเงินเดือนประจำที่มีรายได้แน่นอนและมั่นคงเพื่อความอุ่นใจมากกว่า

ซึ่งข้อดีของการทำงานประจำ มี 2 เหตุผลหลัก ที่ทั้งคนทำงานประจำ และคนทำงานฟรีแลนซ์ที่อยากได้งานทำประจำ  มองเห็นเหมือนกันคือ เรื่องของความมั่นคงทางด้านการงานและการเงิน รวมทั้งเรื่องของการมีสวัสดิการต่างๆ โดยคนทำงานประจำพอใจใน 2 ปัจจัยนี้สูงสุดที่ 94% และ 75% ตามมาด้วยเรื่องของการรู้วันและเวลาทำงานที่แน่นอน รายได้ดี มีโอกาสเติบโต และตรงกับสาขาที่เรียนมา ขณะที่คนทำงานฟรีแลนซ์พอใจกับ 2 ปัจจัยหลักนี้ที่ 82% และ 59% ส่วนปัจจัยอื่นๆ รองลงมาตามลำดับ อาทิ รายได้ดี มีโอกาสเติบโต รู้วันเวลาทำงาน มีสังคมในการทำงาน มีหน้ามีตา และเป็นที่คาดหวังของครอบครัว เป็นต้น

ยังมีข้อดีในการทำงานฟรีแลนซ์ ทั้งความหลากหลายของงาน อิสระในการบริหารจัดการ การมีเวลาเป็นของตัวเอง และไม่ต้องพบปัญหาดราม่าต่างๆ ในที่ทำงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้หลายคนยอมแลกความมั่นคงจากการมีงานประจำแล้วผันตัวเองไปสู่วิถีฟรีแลนซ์ พร้อมทั้งยังพบ​​ Insight ที่น่าสนใจ คือ คนที่ก้าวเข้ามาสู่วงการนี้แล้ว ส่วนใหญ่จะพอใจกับส่ิงที่เป็นอยู่และอยากใช้ชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตรงข้ามกับมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานประจำ ที่ส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนงานมากขึ้น

3 ปัจจัย ที่ช่วยให้ฟรีแลนซ์สามารถสร้างรายได้หลักแสน  

แม้ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ทุกคนที่จะสามารถสร้างรายได้สูงๆ แตะหลักแสนได้ และยังเป็นคนจำนวนน้อยที่จะสามารถไปถึงจุดนั้นได้ แต่ด้วยเสน่ห์หลายๆ อย่างของวิถีฟรีแลนซ์ที่มนุษย์เงินเดือนไม่อาจสัมผัส ทำให้หลายคนก็พร้อมและอยากท้าทายตัวเอง ซึ่งทาง EIC มีแนวทางสำหรับคนอยากเป็นฟรีแลนซ์ที่สามารถสร้างรายได้หลักแสน มีปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ ต่อไปนี้

1. ยิ่งเรียนสูง ยิ่งประสบการณ์มาก ยิ่งมีโอกาสได้เงินแสน

หลายคนอาจคิดว่ารายได้ของชาวฟรีแลนซ์ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวหรือความขยันในการทำงานเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วระดับการศึกษามีผลกับรายได้ของชาวฟรีแลนซ์มากกว่าที่เราคิด

ผลสำรวจบอกเราว่า ชาวฟรีแลนซ์ที่จบการศึกษาสูงมีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่า โดย 13% ของชาวฟรีแลนซ์ที่จบปริญญาโทขึ้นไปตอบว่ามีรายรับต่อเดือนเกินแสน ขณะที่ฟรีแลนซ์ซึ่งจบปริญญาตรีมีสัดส่วนตรงนี้เพียง 4% หรือมีโอกาสน้อยกว่าราว 3 เท่า แม้ว่าเมื่อเทียบกันแล้วระดับการศึกษามีผลกับระดับเงินเดือนของงานประจำมากกว่า โดยมนุษย์เงินเดือนที่จบสูงกว่าปริญญาโท มีสัดส่วนได้เงินเดือนเกินแสนมากกว่ามนุษย์เงินเดือนที่จบปริญญาตรีถึง 6 เท่า ดังนั้น ระดับการศึกษามีส่วนสำคัญต่อการประกอบอาชีพ ทั้งในวงการฟรีแลนซ์และงานประจำ ​แต่จะมีความสำคัญกับรายได้ในวงการมนุษย์เงินเดือนมากกว่า

นอกจากระดับการศึกษาแล้ว ประสบการณ์ทำงานก็มีส่วนช่วยให้รายรับจากงานฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในสายงานที่ยิ่งมีความรู้รอบตัวและประสบการณ์มากก็ยิ่งได้เปรียบ เช่น อาชีพพนักงานขาย ซึ่งต้องอาศัยทั้งความรอบรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการที่รับเป็นตัวแทนไปจนถึงวิธีการเข้าหาและรับมือกับลูกค้า หรืออาชีพที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุน ซึ่งถ้ายิ่งคร่ำหวอดในวงการมานานก็ยิ่งได้เปรียบในเรื่องความเชื่อมั่นจากลูกค้า ประสบการณ์ทำงานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประสบการณ์การเป็นฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียว ในบางสายอาชีพ ประสบการณ์จากงานประจำก็มีส่วนช่วยทั้งในเรื่องของฐานลูกค้า คอนเนคชัน และความเชื่อมั่นในคุณภาพของงาน จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่บางคนก็เลือกที่จะทำงานประจำก่อนเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก่อนที่จะลาออกมาทำงานฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว

2. Work Smarter, Not Harder

หลายคนมีคติประจำใจว่า Work hard, Play hard แต่ความจริงแล้วทำงานให้สุดอาจจะไม่หยุดที่เงินเพิ่มขึ้นเสมอไป

ผลสำรวจของ​ EIC พบว่า ฟรีแลนซ์ชาวไทยส่วนใหญ่ทำงานประมาณ 3-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ระยะเวลาการทำงานไม่ได้ส่งผลกับระดับรายได้เสมอไป เพราะเมื่อลองเทียบระดับรายได้ตามระยะเวลาที่ใช้ทำงาน จะเห็นว่าชาวฟรีแลนซ์ที่ทำงานน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันมีสัดส่วนกลุ่มคนรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน สูงที่สุดคือ 26% มากกว่าชาวฟรีแลนซ์อีกสองกลุ่มที่มีระยะเวลาการทำงานมากกว่า ตีความง่ายๆ คือถึงจะใช้เวลาทำงานน้อยกว่าแต่ก็มีโอกาสได้รายได้สูงพอกัน หรือในบางกรณีก็อาจจะได้สูงกว่าด้วยซ้ำ

ตรงนี้อาจพอสรุปได้ว่าการโหมทำงานมากๆ ก็ไม่ได้ทำให้รายรับของเรามากขึ้นด้วยเสมอไป คุณภาพของงานบางครั้งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำ แต่ขึ้นอยู่กับทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือขึ้นอยู่กับว่าเราบริหารเวลาทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ยังไงมากกว่า ในทางตรงข้ามการโหมงานอดหลับอดนอนติดต่อกันนานๆ ​จะส่งผลต่อคุณภาพงาน​และสุขภาพอีกด้วย

3. สร้างคอนเนคชัน

ผลสำรวจ ยังระบุว่า ชาวฟรีแลนซ์เกินครึ่งหางานผ่านคอนเนคชันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อด้วยตัวเองโดยตรง ผ่านการแนะนำจากคนรู้จัก หรือผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น Facebook Instagram และ Twitter ดังนั้น การมีสังคมกว้างขวาง ย่อมหมายถึงโอกาสงานที่มากขึ้น แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ชาวฟรีแลนซ์ที่มีรายได้สูง ๆ มักจะเลือกหางานผ่านคอนเนคชั่นส่วนตัวมากกว่าเว็บไซต์หางาน 

EIC ยังระบุว่า ระดับรายได้ยิ่งสูงขึ้น ชาวฟรีแลนซ์จะเลือกหางานจากเว็บไซต์หางานน้อยลง แต่หางานผ่านคอนเนคชันมากขึ้น โดยชาวฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาท มีสัดส่วนคนที่ตอบว่าหางานผ่านเว็บไซต์หางาน 39% และหาผ่านคอนเนคชันทางสังคม 54% ขณะที่ชาวฟรีแลนซ์รายได้ต่อเดือนสูงกว่า 100,000 บาท ตอบว่าหางานผ่านเว็บไซต์เพียง 16% แต่หาผ่านคอนเนคชันสูงถึง 62%

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะงานฟรีแลนซ์ที่ได้จากเว็บไซต์ให้ค่าจ้างที่ต่ำกว่า เพราะการแข่งขันที่สูงทำให้คนจ้างสามารถต่อรองราคาลงได้ โดยเฉพาะงานที่ไม่ได้ต้องการทักษะสูงมากนัก หรือมีจำนวนชาวฟรีแลนซ์ในตลาดรองรับเยอะ หรือถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ชาวฟรีแลนซ์รายได้สูงๆ มักมีทักษะความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น หรือเป็นที่รู้จักในวงการนั้นๆ จนสามารถหางานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งเว็บไซต์ ​อย่างฟรีแลนซ์ในสายงานครีเอทีฟ ที่มีรายรับเกินแสนทุกคนในผลสำรวจเองก็ตอบว่าหางานผ่านคอนเนคชันทางสังคมเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องพึ่งเว็บไซต์หรือเอเจนซี่ใดใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ข้อดีของเว็บไซต์หางานคือโอกาสงานและสายงานที่หลากหลาย ดังนั้นสำหรับใครที่เป็นฟรีแลนซ์มือใหม่หรือยังมีคอนเนคชันไม่มาก เว็บไซต์หางานก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะช่วยสร้างโปรไฟล์ สร้างฐานลูกค้า และต่อยอดให้คอนเนคชันการทำงานของเรากว้างขวางยิ่งขึ้นนั่นเอง

เครดิตภาพเปิด : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like