HomeBrand Move !!ทำความรู้จัก Plan B ของ Huawei นาม HongMeng ระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012

ทำความรู้จัก Plan B ของ Huawei นาม HongMeng ระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จาก Plan B ที่ “ริชาร์ด หยู” (Richard Yu) ซีอีโอ Huawei เคยแง้มเอาไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า Huawei ก็มีแผนสำรองในกรณีที่ไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการ Android หรือ Microsoft Windows ได้เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐอเมริกา มาวันนี้ Plan B ที่ว่านั้นได้เผยชื่อออกมาแล้ว กับ “HongMeng” ว่าที่ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะนำมาใช้กับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ ของทางค่าย รวมทั้งระบบในคอมพิวเตอร์ก็ดูเหมือนว่าจะมีการพัฒนาเตรียมความพร้อมเอาไว้แล้วเช่นกัน

โดยรายงานจาก Huawei Central ระบุว่า ระบบปฏิบัติการ HongMeng ได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2012 แล้ว และมีการทำงานอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวที่อ้างถึงระบบปฏิบัติการตัวนี้ไม่ยืนยันว่า Hongmeng เป็นแค่ชื่อโค้ดเนม หรือเป็นชื่อที่จะใช้ทำตลาดจริง เพียงแต่ยืนยันว่า Huawei มี OS สำรองเตรียมไว้แล้วอย่างแน่นอน

โดยชื่อของ HongMeng มาจากชื่อในตำนานจีน ซึ่งพ้องกับแบรนด์ Kirin หนึ่งในตระกูลชิปของ Huawei ที่มีความหมายถึงตัวกิเลน และเป็น 1 ใน 4 สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของจีน ที่ประกอบไปด้วย หงส์ เต่า มังกร และกิเลน (บ้างว่าเป็น เสือ) ด้วย

HongMeng – แรงบีบจากทรัมพ์ ต้นกำเนิด Eco-System ของจีน?

HongMeng เป็นคำจีนที่เหมือนกับคำจีนหลาย ๆ คำ แฝงความหมายมากมาย เช่น ต้นกำเนิด ปฐมภูมิ พลังแห่งธรรมชาติ ฯลฯ และเมื่อ Huawei ถูกบีบจากสหรัฐอเมริกาจนเกิดเป็นระบบปฏิบัติการนี้ขึ้นมา นั่นแปลว่านับจากนี้ Huawei น่าจะเริ่มต้นตัดขาดกับแอนดรอยด์ คงเหลือไว้แค่ Android Open Source Project (AOSP) ส่วนบริการอื่นๆ เช่น  Google Drive, Google Play, Google Search, Gmail, YouTube รวมทั้ง Google Maps ก็ต้องถูกระงับไป และนั่นเท่ากับว่า Huawei ต้องเร่งพัฒนาโปรดักท์ของตัวเองขึ้นมา…คำถามก็คือ นี่จะเป็นการปลุกให้ยักษ์ตื่นหรือเปล่า?

Huawei เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยี 5G ประมาณ 18-20% ของโลก คิดง่ายๆ ว่านั่นคือเกือบ 1 ใน 5 ของเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่จะเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมอยู่ในมือของ Huawei อย่างมีนัยสำคัญ แม้แต่หลายประเทศในยุโรปก็ยังเลือกใช้อุปกรณ์ของ Huawei ด้วยซ้ำ

ผู้บริโภคหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าแล้วระบบของ Huawei ที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะทัดเทียมกับแอนดรอยด์ ที่พ่วงมากับบริการเสริมอื่นๆ ของกูเกิลหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google Map ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่า กว่าที่ระบบแผนที่ของค่ายยักษ์ใหญ่รายนี้จะแม่นยำได้ต้องอาศัยทั้งงบประมาณมหาศาล เทคโนโลยีและ Passion ที่ทั้งหมดสะสมมาหลายปี ไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายในหลักเดือน นี่เป็นคำถามที่ฝั่ง Huawei เองก็ต้องตอบคำถามและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าให้ได้ ในเมื่อของที่เคยมีกลับหายไปหรือมีดีไม่เท่าของเดิม ผู้บริโภคต้องรู้สึกแน่ๆ

งานเข้าแบรนด์จีนทุกค่าย ไม่เฉพาะ “Huawei”

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่เฉพาะ Huawei ที่ต้องเจองานหนัก เพราะการตัดสินใจแบน Huawei ของ Google ได้ทำให้ความเชื่อมั่นใน Android นั้นหมดลงแล้ว และผู้ผลิตสมาร์ทโฟน Android ทุกยี่ห้อในวันนี้ต้องมองหา Plan B ของตัวเองแล้วเช่นกัน และนั่นคาดว่าจะกระทบกับตลาดสมาร์ทโฟน Android ด้วย

โดยข้อมูลจาก IDC ระบุว่าในบรรดาสมาร์ทโฟน Android ที่จำหน่ายไปแล้วในไตรมาส 1 ของปี 2019 นั้น Samsung มาเป็นที่หนึ่งด้วยส่วนแบ่ง 26% ตามมาด้วย Huawei 21.4% Xiaomi 10.1% ส่วน Vivo และ OPPO เท่ากันที่ 8.4% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในมุมของผู้ผลิต คนที่จ่ายเงินให้เพื่อนำเซอร์วิสจาก Google ไปใช้นั้น มาจากจีนแผ่นดินใหญ่มากขนาดไหน แต่งานนี้ที่แน่ๆ คนที่ได้รับอานิสงห์ก็คือ Samsung และ Nokia ที่หุ้นขึ้น 2% และ 1.5% ตามลำดับทันทีที่ Google กับ Huawei มีประเด็นกันคราวนี้

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ และยิ่งถ้าหากว่ายืดเยื้อออกไป เราอาจจะได้เห็นการรวมพลังของ “แบรนด์จีน” เกิดขึ้นก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมา ระบบการสื่อสาร แอปพลิเคชัน หรือพฤติกรรมผู้บริโภคของคนจีนก็มีความเฉพาะตัวอยู่แล้ว แต่เราก็ได้เห็นว่าพลังเงินและอิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนสามารถแพร่หลายเข้ามาในดินแดนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ อย่าง TikTok, Ali Pay, WeChat, Weibo บางแอปฯ เป็นที่รู้จัก บางแอปฯ เป็นเทรนด์ใหม่ บางแอปฯ ต้องใช้เพราะความจำเป็นเมื่อต้องรองรับนักท่องเที่ยวหรือคู่ค้าจากประเทศจีน บริษัทเบื้องหลังแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นยักษ์ใหญ่ เงินหนาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Tencent, Alibaba ถ้าหากว่าสงครามการค้ายังยืดเยื้อต่อไป จนเกิดเป็น “กระแสชาตินิยม” ไปจนถึง “คลั่งชาติ”  ขึ้นมาจนบริษัทเหล่านี้ร่วมมือกันบอกลาบริการของสหรัฐอเมริกาละก็ “งานเข้า” แน่ๆ

และนอกจากรายได้ที่จะหายไปแล้ว อีกสิ่งที่ Google อาจไม่สามารถเรียกกลับมาได้ก็คือความภูมิใจ โดยเฉพาะในเรื่องของม็อตโต้ที่ยุคหนึ่ง Google เคยมีประโยคอย่าง Don’t Be Evil บรรจุอยู่ใน Code of Conduct และสร้างความภูมิใจให้พนักงานได้อย่างเต็มปาก ซึ่งเราก็หวังว่า Code of Conduct ยุคใหม่ที่บริษัทเขียนขึ้นนั้น จะสามารถนำพาบริษัทให้ไปต่อได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ที่บริษัทอเมริกันเองก็ต้องได้รับผลกระทบจากสงครามในครั้งนี้ไปตาม ๆ กัน

ในส่วนของ HongMeng เอง จึงไม่ใช่แค่ระบบปฏิบัติการณ์ที่เกิดขึ้นมาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดของหัวเว่ย แต่นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดแอกจากเซอร์วิสของชาติตะวันตก และปลุกมังกรให้ยืนบนลำแข้งของตัวเองมากกว่าเดิม

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like