HomeDigitalHuawei vs Google เปิดฉาก “สงครามเย็นเทคโนโลยี” หรือแค่ The Apprentice ซีซั่นใหม่

Huawei vs Google เปิดฉาก “สงครามเย็นเทคโนโลยี” หรือแค่ The Apprentice ซีซั่นใหม่

แชร์ :

สำหรับใครที่ติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา – จีนแผ่นดินใหญ่กันมา ข้อพิพาทระหว่าง Huawei – Google ในตอนนี้น่าจะเป็นภาพของสงครามตัวแทนที่ชัดเจนที่สุดกรณีหนึ่ง โดยล่าสุด แม้จะมีการผ่อนผัน ที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาเลื่อนเวลาให้ Huawei สามารถอัพเดท และรับเซอร์วิสต่าง ๆ จาก Google ได้อีก 90 วันเพื่อจะได้สามารถเปลี่ยนถ่ายจ่ายโอนการทำงานต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น แต่หลังจากวันที่ 19 สิงหาคม 2019 ถ้ายังไม่มีการถอดชื่อของ Huawei ออกจากบัญชีดำของสหรัฐอเมริกา ก็คงแน่นอนแล้วว่า สงครามเย็นรอบใหม่ได้ปะทุขึ้นแล้ว โดยมีเรื่องของ “เทคโนโลยี” เป็นแกนกลางของความขัดแย้ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากจะย้อนไปนั้น สงครามเย็นเทคโนโลยี หรือ Tech Cold War อาจเริ่มขึ้นตั้งแต่การมีอินเทอร์เน็ต โดยเราจะเห็นว่า รูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตของ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกานั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากฝั่งโลกตะวันตกจะเน้นการเติบโต การขยายตลาดอย่างรวดเร็ว การเปิดให้ใช้งานฟรีแลกกับการนำข้อมูลของผู้บริโภคไปใช้ในการวางแผนโฆษณา ฯลฯ ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่นั้น แม้จะเติบโตไม่แพ้กัน แต่ก็เป็นการเติบโตที่โลกตะวันตกเยาะเย้ยว่ามีการเซ็นเซอร์เนื้อหาข้อมูล รวมถึงปิดกั้นผู้ประกอบการอย่าง Facebook, Google ฯลฯ ไม่ให้เข้าไปทำธุรกิจด้วย

สถานการณ์ความขัดแย้งผ่านไปนับสิบปี จน Facebook ท้อแท้แล้วท้อแท้อีก จีนก็ยังไม่เปิดให้ Facebook เข้าไปทำธุรกิจอยู่ดี แต่การปิดกั้นเหล่านั้นก็ไม่เคยมีปัญหา

แล้วทำไมวันนี้เพิ่งมาเป็นปัญหา?

หลายคนอาจมองว่ายิ่งจีนเติบโต สหรัฐอเมริกาก็ยิ่งได้ประโยชน์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น กรณีของ Apple เองที่ว่าจ้างโรงงานผลิต iPhone ในจีนจนทำให้ได้สินค้าราคาดี และขายต่อทำกำไรได้งาม ๆ หรือในส่วนของตลาดอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก ก็มีของถูกให้เลือกช้อปกันมากมาย

แต่ในอีกด้าน ก็ต้องยอมรับว่า จีนในวันนี้ยิ่งใหญ่เกินไปแล้ว โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Huawei ที่วางแผนก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดสมาร์ทโฟน – เทคโนโลยี 5G โลก และมียอดขายไต่อันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนหายใจรดต้นคอ Samsung ไปแล้วเรียบร้อย นอกจากนั้น จีนยังมีบริษัทอีกเพียบที่พร้อมจะก้าวข้ามโลกไร้พรมแดนอย่างอินเทอร์เน็ตเข้ามาแย่งชิงบัลลังก์ของสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาทำจึงเปรียบได้กับการยกฉากกั้นประตูขึ้นมาแล้วบอกว่า “ถึงเวลาต้องสะกัดไม่ให้เธอ (จีน) โตไปมากกว่านี้แล้ว”

เมื่อต่างฝ่ายต่างปิดประตูใส่กัน ลูกค้าจะหันไปทางไหน

แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า Tech Cold War จะเริ่มขึ้นหรือไม่ในวันที่ 19 สิงหาคม แต่ถึงวันนี้ก็ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของผู้คนบนโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่ผ่านมา เราไม่เคยต้องกังวลว่าแพลตฟอร์มที่ต่างกันจะนำมาซึ่งปัญหา ดังนั้น การปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ Google ทำจึงถือเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นของผู้ผลิต และผู้บริโภคบนฝั่ง Android

โดยสิ่งที่จะเกิดตามมาหลังจากนี้มีได้หลายทาง หนึ่งในนั้นคือการได้เห็นภาพของธุรกิจยักษ์ใหญ่ในจีนที่ลุกขึ้นมาแลกหมัดกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัว ด้วยการพัฒนาระบบปฏิบัติการ สร้างเทคโนโลยี และมาตรฐานด้านการออกแบบชิปของตัวเอง เพื่อให้ตลาดสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนยังเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมๆ กับตั้งกำแพงของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น (อาจมี Maps, Search, Mail ของตนเองเพื่อให้ Ecosystem สมบูรณ์) ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นสองโลกที่ผู้บริโภคต้องเลือกข้าง

หรือในอีกด้าน อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของจีนแผ่นดินใหญ่เอง เพราะรูปแบบการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีที่ผ่านมาก็ไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่าย

โดยฝ่ายที่ไม่ได้ประโยชน์มองว่า รัฐบาลจีนเทงบสนับสนุนเฉพาะบริษัทที่ยอมเป็นมือเป็นเท้าให้รัฐบาลเท่านั้น ส่วนบริษัทอื่นๆ ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐในครั้งนี้ จึงมีนักธุรกิจจีนบางส่วนกลับใจหันมาเป็นกองเชียร์โดนัลด์ ทรัมป์ และคาดหวังว่าแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา จะทำให้รัฐบาลสี จิ้นผิง เปลี่ยนแปลงตัวเอง และทำตลาดให้น่าแข่งขันมากขึ้น

งานนี้ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า Tech Cold War รอบนี้จะเกิดขึ้นจริง หรือเป็นแค่ซีซั่นใหม่ของ The Apprentice ที่มีโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตรายการ

Source

Source


แชร์ :

You may also like