“สุทธิชัย หยุ่น” คนข่าวที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ปรมาจารย์” ในวงการสื่อสารมวลชน แต่ตัวเขาเองนั้นกลับโดนกระแส Disruption ที่หลายคนเปรียบว่ารุนแรงดั่งสึนามิ ถาโถมเข้ามาไม่น้อยกว่าใคร (หรืออาจจะเรียกได้ว่าหนักหนาเลยทีเดียว) นั่น ทำให้ในมุมมองของเขา ภาพของการเกิด Technology Disruption ครั้งนี้รุนแรงแซงหน้าสึนามิหลายขุม พร้อมคาดการณ์สื่อทีวีเตรียมโบกมือลาใน 5 ปีไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ เหตุเพราะคนรุ่นใหม่ไม่คุ้นเคยที่จะรับข่าวสารจากทีวีอีกต่อไปแล้ว
“ตอนนี้เห็นชัดเจนเลยคือ วงการสื่อจะล้มกันไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันหยุด เพราะว่าคนเสพสื่อเปลี่ยนพฤติกรรมไป ดังนั้นคนทำสื่อถ้าไม่ปรับตัวจะไม่สามารถอยู่ได้ เป็นสัจธรรมของโลกดิจิทัลเลย ผมมองว่า Disruption รอบนี้ของจริง และมันจะทำลายไปเรื่อย ๆ ต่างจากสึนามิที่มันแรง แต่มันจบ มันทำลายตึกแล้วก็ไป เราสามารถสร้างตึกใหม่ได้ แต่ว่า สึนามิเทคโนโลยีมันมาไม่หยุด”
“สึนามิรอบนี้แฟร์ตรงที่มันพัดทุกคน เล็กใหญ่เจ๊งหมดไม่มีเหลือ และคุณไม่มีเวลาสร้างใหม่นะ เพราะแค่ยืนให้อยู่รอด ยังยืนไม่ได้เลย”
“ต้องบอกว่าวงการสื่อเมื่อสิบปีก่อนไม่มีใครตระหนักเรื่องนี้ หลายคนมองว่าอย่างไรเสีย สื่อหนังสือพิมพ์จะต้องยังอยู่ เพราะคนยังชอบที่จะได้สัมผัส ได้จับหนังสือพิมพ์ มันให้ความรู้สึกดี ทีวีก็เหมือนกัน มันมีรายการต่าง ๆ แต่ผมพูดไว้ตอนนั้น ว่ามันมาแล้วมันจะมาเปลี่ยนแปลง และจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม เราทุกคนต้องปรับ”
โดยคุณสุทธิชัยเปิดใจบนเวทีสัมมนา Sea Insight ว่าเหตุผลข้อเดียวที่ทำให้ตัดสินใจหันมาทำสื่อใหม่คือความกลัว
“กลัวเชย กลัวฟังคนอื่นไม่รู้เรื่อง กลัวคนอื่นมาถามว่าชีวิตที่เหลือจะทำอะไรแล้วตอบไม่ได้”
เตือน 5 ธุรกิจเร่งปรับตัว
นอกจากวงการสื่อแล้ว อีก 4 อุตสาหกรรมที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างหนักก็คือ สถาบันการเงิน ค้าปลีก การศึกษา และวงการบันเทิง โดยปัจจัยใหญ่ ๆ มาจากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ “โซเชียลมีเดีย”
“ทุกวันนี้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ต้องแบกต้นทุนมหาศาล แล้วมาเจอคู่แข่งเช่น บังฮาซันขายกุ้งแห้งผ่าน Facebook Live ที่เขาไม่ต้องมีต้นทุน ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องมีพนักงาน จัดส่งก็เอาท์ซอร์สใช้บริการของบริษัทโลจิสติกส์ แถมอยู่ที่แหล่งผลิตด้วย ขณะที่คุณเป็นห้าง ขายอาหารทะเลแห้ง ต้นทุนสูงกว่าเขาเยอะ มาร์จินของคุณจึงเหลือนิดเดียว”
“การศึกษาก็หนัก ทีแคสมีคนสมัครน้อยลง เพราะทุกวันนี้เด็กเกิดใหม่น้อยลง ความจำเป็นที่จะต้องเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ปริญญาก็น้อยลงมาก”
เปิดใจรับ AI เป็นทางออกจริงหรือ?
ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนและภาคธุรกิจ ทางออกของเรื่องนี้ในมุมของคุณสุทธิชัยจึงอาจเป็นการปรับตัวเพื่อ AI
“ในอนาคต AI จะสามารถเขียนข่าวได้ รวบรวมข้อมูลได้ วิเคราะห์ข้อมูลได้ และนำเสนอได้ เหมือนที่เราเห็นในเมืองจีน ที่มีพิธีกรเป็นหุ่นยนต์ สื่อเองถ้าไม่สามารถปรับตัวให้สร้างสรรค์คอนเทนต์ได้เหนือกว่า AI ก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน หรือในมุมของเจ้าของธุรกิจที่ผมสัมภาษณ์ก็ยอมรับและกำลังปรับตัวอยู่ แต่คำถามคือจะทันไหม และเรากว้างพอไหมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สองสามปีข้างหน้าก็คงจะพอเห็นคำตอบ”
“แต่ถึงตอนนั้นก็คงจะช้าไปแล้วสำหรับคนที่ยังไม่ได้เปลี่ยน”
หนังสือพิมพ์จะตายใน 5 ปี ทีวีก็ไม่ต่างกัน
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า บรรณาธิการบริหารของ New York Times อย่าง Dean Baquet ได้เคยกล่าวถึงสื่อหนังสือพิมพ์ว่าจะมีอายุขัยอีกเพียง 5 ปีเท่านั้น และเมื่อถามถึงมุมมองของคุณสุทธิชัย หยุ่น ต่อสื่อทีวี คุณสุทธิชัยก็เห็นว่าไม่ต่างกัน
“เหมือนรถไฟที่ทุกวันนี้รถไฟยังอยู่ แต่คุณไม่เคยนั่งรถไฟหรอก มันจะขาดทุนไปเรื่อย ๆ บทบาทของมันก็จะหายไปเรื่อย ๆ การสื่อสารอ่านข่าวก็เหมือนกัน ทุกวันนี้คนไม่ได้นึกถึงหนังสือพิมพ์-ทีวีในฐานะสื่อแรก ๆ ที่ใช้ในการติดตามอ่านข่าวแล้ว เพราะคนรุ่นลูก ทุกอย่างเขาได้มาจากมือถือ ทั้ง Netflix – YouTube”
ในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า ทีวีและหนังสือพิมพ์จะกลายเป็นทางเลือกหลังสุดสำหรับคนที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร
แค่เปลี่ยนแปลงไม่พอ ต้องขี่ยอดคลื่นให้ได้
ท่ามกลางทุกวิกฤติยังมีโอกาส แต่การจะเข้าไปคว้าโอกาสนั้น อาจต้องเอาชนะความกลัวให้ได้ และต้องพร้อมที่จะยอมเหนื่อย ซึ่งคุณสุทธิชัยยอมรับว่าเขานั้นได้ก้าวข้ามความกลัวมาแล้ว
“ไม่กลัวแล้ว เพราะเราขี่ยอดคลื่นแล้ว มันอาจจะเหนื่อยหน่อย ต้องบาลานซ์ตัวเองตลอดเวลา แต่มันสนุก คนส่วนใหญ่ไม่ขี่ยอดคลื่นเพราะมันเหนื่อยไง มันน่ากลัว ส่วนใหญ่เลยอยู่ข้างล่างกัน ซึ่งพออยู่ข้างล่างเวลาคลื่นมาก็โดนพัดไปหมด เพราะฉะนั้นพวกเราถ้าอยากอยู่รอดจะต้องปีนขึ้นไปขี่ยอดคลื่นให้ได้” คุณสุทธิชัยกล่าวทิ้งท้าย