หากเอ่ยชื่อ Sunday ออกไปเมื่อ 2 ปีก่อน เชื่อว่าหลายคนในแวดวงประกันภัยอาจยังไม่รู้จักกับแบรนด์นี้มากนัก โดยชื่อ Sunday เริ่มได้รับความสนใจในวงกว้างเมื่อครั้งที่บริษัทประกาศจับมือกับ Grab ประเทศไทย ในฐานะสตาร์ทอัพด้าน InsurTech ที่สามารถนำ AI และ Machine Learning เข้าในช่วยวิเคราะห์เบี้ยประกันได้ตามไลฟ์สไตล์การใช้งาน
วันนี้ Sunday กำลังก้าวไปอีกขั้น กับแผนขยายธุรกิจไปยังอีก 2 ประเทศที่อยู่ใกล้เคียง นั่นก็คือ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ในฐานะประเทศที่มีประชากรมากเป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งต้องถือเป็นเวลาที่รวดเร็วทีเดียวสำหรับการสเกลธุรกิจ
การเติบโตเหล่านั้นนำมาซึ่งคำถามที่ว่า อะไรทำให้สตาร์ทอัพด้าน InsurTech อายุ 2 ปีมองตัวเองว่ามีความพร้อม และมีศักยภาพที่จะขยายการแข่งขันออกไปในระดับภูมิภาค และหัวใจของ InsurTech อย่าง Sunday คืออะไร แตกต่างจากธุรกิจประกันภัยตามปกติอย่างไร โดยผู้ที่จะตอบได้ชัดเจนที่สุดก็คือ คุณซินดี้ กัว ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอของ Sunday นั่นเอง
เริ่มต้นจากชื่อ ทำไมต้อง Sunday
สำหรับธุรกิจประกันแล้ว การใช้ชื่อที่แสดงถึงความหนักแน่นมั่นคง เคยเป็นทางเลือกที่บริษัทต่าง ๆ เลือกใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในอดีต แต่สำหรับ Sunday คุณซินดี้เผยว่า การตั้งชื่อที่แตกต่างออกไป โดยไปอิงกับความหมาย “วันอาทิตย์” คือสิ่งที่ทางทีมงานต้องการสะท้อนภาพของการประกันในยุคใหม่ที่มาพร้อมความรู้สึก “สบาย” และสามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ไม่ต่างกัน
Core System จุดต่าง InsurTech
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพเบื้องหน้าคือการสร้างบรรยากาศแบบสบาย ๆ ให้กับแบรนด์ แต่เบื้องหลัง การสร้าง Sunday ให้เกิดขึ้นนั้นไม่ได้สบายเลย โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาระบบที่ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายเลยทีเดียว โดยคุณซินดี้ เผยว่า หัวใจหลักของ Sunday คือการที่บริษัทมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่งเป็น Core System
การพัฒนา Core System ขึ้นมานี้ช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอบริการได้อย่างยืดหยุ่น และสามารถดีไซน์ได้ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งเมื่อเทียบกับธุรกิจประกันภัยตามปกติแล้วอาจไม่สามารถยืดหยุ่นและทำได้รวดเร็วเท่า
ทุกวันนี้ ด้วยการใช้ AI ทำให้บริษัทสามารถขยายรูปแบบการให้บริการออกไปได้นับร้อยโปรดักท์ อีกทั้งยังเป็นโปรดักท์ที่ Personalised ให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยโฟกัสไปที่สองกลุ่มใหญ่ นั่นก็คือ ประกันภัยรถยนต์ กับประกันสุขภาพ รวมถึงสามารถจับมือกับผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ พัฒนาเซอร์วิสร่วมกันด้วย เช่น การจับมือกับดีแทคเพื่อให้บริการประกันภัยการเดินทางกับลูกค้าที่ซื้อซิม Go Inter เป็นต้น
สร้างทีมจาก Talents ไทย
เบื้องหลังของ Core System ดังกล่าวนั้นก็คือทีมนักพัฒนาซอฟต์แวร์กว่า 150 ชีวิตของบริษัทนั่นเอง
“การที่เราเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนทำให้เราสามารถเข้าถึงทาเล้นท์ในสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพอย่างที่หาไม่ได้ในประเทศอื่น และทำให้เรามีศักยภาพในการพัฒนา Core System ได้เร็วขึ้น ซึ่งในจุดนี้เราจึงแตกต่างจากบริษัทประกันทั่วไปที่ไม่ได้โฟกัสในการสร้างทีมซอฟต์แวร์เป็นอันดับแรกของการก่อตั้งบริษัท”
เริ่มจาก SME ตลาดที่มีศักยภาพของไทย
สำหรับรูปแบบการบุกตลาดประเทศไทยในช่วงแรกของ Sunday นั้นโฟกัสไปที่ตลาด SME ซึ่งมีทั้งธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน ไปจนถึงธุรกิจ SME ขนาดใหญ่ที่มีพนักงานนับพันชีวิต โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ Sunday โฟกัสไปที่กลุ่มนี้เนื่องจาก SME ถือเป็นตลาดใหญ่ของประเทศไทย และมีผู้ประกอบการมากถึง 3 ล้านราย คิดเป็นพนักงานมากกว่า 10 ล้านคน โดยสามารถสร้าง GDP ให้กับประเทศได้เกือบ 40%
โดยในปีแรกของการให้บริการนั้น Sunday มีลูกค้าราว 200,000 ราย และในปีที่ 2 พบว่าจำนวนลูกค้าเติบโตขึ้นเป็น 400,000 รายแล้ว
Vertex Venture เข้าลงทุน
จากการเติบโตดังกล่าว ส่งผลให้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา Vertex Venture Southeast Asia and India ตัดสินใจลงทุนใน Sunday เป็นจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับสตาร์ทอัพด้าน InsurTech เพราะโดยทั่วไปแล้ว การจะได้รับเงินลงทุนจาก Vertex Venture Southeast Asia and India อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสตาร์ทอัพ
คุณซินดี้เผยว่า การลงทุนครั้งนี้ก็เป็นฝ่ายของ Vertex ที่ติดต่อเข้ามา เนื่องจากทาง Vertex เองก็ต้องการลงทุนใน InsurTech อยู่แล้ว อีกทั้งยังเล็งเห็นว่า การที่ Sunday สามารถออกแบบแพกเกจประกันภัยได้แบบเฉพาะบุคคล (Personalized) นั้นจะนำไปสู่การปฏิวัติ Journey ด้านการประกันภัยได้ในอนาคต
เติบโตด้วยการต่อยอด Pain Point สู่ Solution
ซินดี้ กัว ยังมองว่า การเป็น InsurTech ทำให้ Sunday เติบโตอย่างแตกต่างจากธุรกิจประกันภัยทั่วไป หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาโซลูชันการอ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ทรวงอกอัตโนมัติ (Automated Chest X-Ray Interpretation) ซึ่งโซลูชันตัวนี้เกิดขึ้นจาก Pain Point ที่ว่า ปัจจุบัน 1 ใน 8 ของคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินหายใจ โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 55,000 คนในปี 2017 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปดูบริการด้านสาธารณสุขของไทย กลับพบว่าประเทศไทยมีหน่วยเอ็กซ์เรย์มากกว่า 10,000 แห่งแต่มีแพทย์รังสีวิทยาราว 1,500 คน หรือเท่ากับแพทย์ด้านรังสี 15 คนต่อจำนวนประชากร 1,000,000 คนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน การมีโซลูชันเข้ามาช่วยลด Workload การทำงานของแพทย์รังสีวิทยาจึงเป็นสิ่งจำเป็น
สำหรับรูปแบบการทำงาน ผู้ใช้ต้องอัปโหลดภาพถ่ายฟิล์มเอ็กซ์เรย์ทรวงอกเข้าไปในระบบ จากนั้นจะมีปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้ทำการวิเคราะห์ฟิล์มนั้น ๆ และแปลผลออกมาเป็นตัวเลขความเสี่ยงต่าง ๆ พร้อมคำเตือน หรือคำแนะนำเพื่อการรักษาที่ดีขึ้น (ปัจจุบันความแม่นยำในการแปลผลอยู่ที่ 79% และเป็นการวิเคราะห์โดยอิงจากฐานข้อมูลตัวอย่างราว 200,000 ชุด)
โดยโซลูชันนี้มีทั้งเวอร์ชันที่เปิดให้ใช้งานฟรี และเวอร์ชันที่ต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มประกันสุขภาพของ Sunday โดยใช้รายงานเอ็กซ์เรย์ทรวงอกและการตรวจสุขภาพมาคำนวณเบี้ยประกันตามสุขภาพจริงของลูกค้า ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวที Hackdays Thailand 2019 ของ AWS มาแล้ว และบริษัทยังเผยว่ามีโซลูชันอีกมากที่อยู่ระหว่างการพัฒนาด้วย
ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานและรูปแบบการขยายธุรกิจของสตาร์ทอัพด้าน InsurTech นั้น “แตกต่าง” จากธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิมแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่เขาเพิ่มไม่ใช่ตัวแทน หากแต่เป็น Ecosystem เพื่อให้ระบบทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพกว่าการมีตัวแทน แน่นอนว่า ระบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีค่าคอมมิชชั่น หรือผลตอบแทนใด ๆ ด้วย
การที่ Sunday บอกว่ายังมีอีกหลายโซลูชันที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจึงไม่ใช่คำขู่ให้กลัว แต่มันคือสัญญาณที่บอกว่า การ Disruption ในวงการประกันภัยนั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างแท้จริง