หากเราย้อนไปดูคำประกาศของ Mark Zuckerberg ถึงภารกิจที่เขาอยากจะพิชิตให้ได้ในแต่ละปี หลายคนอาจนึกไปถึงเรื่องของการซ่อมแซมโลกที่แบ่งแยกคนออกเป็นฝักฝ่ายให้กลับมาดีดังเดิม ฯลฯ แต่หากย้อนไปอ่านภารกิจที่เขาเคยได้ประกาศไว้เมื่อปี 2018 และอ่านลงมาเรื่อย ๆ ถึงด้านล่าง จะพบว่า เขายังมีอีกหนึ่งภารกิจที่ได้ประกาศไว้ นั่นก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับเงินดิจิทัลให้ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่ได้ประกาศไปเมื่อ 18 เดือนก่อน เขาได้สร้างมันจนสำเร็จแล้ว กับโปรเจ็คเงินดิจิทัล Libra อันลือลั่น
โดยคำประกาศของ Mark Zuckerberg เมื่อต้นปี 2018 มีใจความส่วนหนึ่งว่า “There are important counter-trends to this –like encryption and cryptocurrency — that take power from centralized systems and put it back into people’s hands. But they come with the risk of being harder to control. I’m interested to go deeper and study the positive and negative aspects of these technologies, and how best to use them in our services.” (จากเพจของ Mark Zuckerberg)
อย่างไรก็ดี เมื่อจะเล่นกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ สิ่งที่ผู้เล่นจะต้องมีก็คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งน่าเสียดายว่าเส้นทางก่อนหน้านี้ของ Facebook อาจไม่สามารถซัพพอร์ตในด้านความน่าเชื่อถือได้มากนัก
หนึ่งในปัญหาหลักด้านความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มคือกรณี Cambridge Analytica ที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลออกสู่ภายนอกจนกระทบกับผู้ใช้งานหลายสิบล้านคน
ปัญหาเหล่านี้ทำให้การเริ่มต้นของ Libra ดูจะไม่สวยหรูสักเท่าไร เพราะหลังจากที่ Facebook ได้ประกาศว่าจะเริ่มใช้งานเงิน Libra ในปีหน้าไปไม่กี่ชั่วโมง ทางสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมาเบรกกันตัวโก่ง และเตรียมส่งนักกฎหมายเข้าตรวจสอบความน่าเชื่อถือในการใช้สกุลเงินดังกล่าวทันที
โดยทัพหน้าของทีมกฎหมายคือ คณะกรรมาธิการวุฒิสภา ด้านการธนาคาร การเคหะ และชุมชนเมือง แห่งสหรัฐอเมริกา (The U.S. Senate Committee on Banking, Housing, and Urban Affairs) พร้อมเผยว่าจะมีการจัดประชุมเพื่อพิจารณาเงิน Libra ของ Facebook ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2019 นี้เวลา 10.00 น.ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา และจะมีการถ่ายทอดสดด้วย
ส่วนประเทศต่าง ๆ นอกสหรัฐอเมริกานั้นก็มีรายงานว่า หลายประเทศ เช่นประเทศในกลุ่ม G-7 หรือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ฯลฯ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการใช้งานเงิน Libra ด้วยเช่นกันว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ Libra จะถูกนำไปใช้ฟอกเงินผิดกฎหมาย
มากไปกว่านั้นคือเรื่องของตัวบุคคล โดยสื่ออย่าง Financial Times มีการรายงานว่า ที่ผ่านมา โปรแกรมเมอร์ของ Facebook มีความเชี่ยวชาญในด้านอัลกอริธึมด้าน Social Media หาใช่เรื่องของบล็อกเชน และเงินดิจิทัลแต่อย่างใด ดังนั้น การรับมือกับภารกิจใหม่นี้จึงอาจเป็นเรื่องยากของ Facebook ในการทรานสฟอร์มโปรแกรมเมอร์เหล่านั้นก็เป็นได้
ไขข้อสงสัย เงินดิจิทัลช่วยคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินจริงหรือ?
อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ การที่ Libra Association ออกมาบอกว่า ปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เนื่องจากไม่มีบัญชีธนาคาร แต่คนเหล่านี้มีโทรศัพท์มือถือ จึงมองว่า การเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟนอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานด้านการรับประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (the Federal Deposit Insurance Corporation) ทำการศึกษาพบว่า แท้จริงแล้ว 34% ของคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารนั้น เป็นเพราะพวกเขาไม่มีเงินพอที่จะฝากเข้าไปในบัญชี
การแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การย้ายเงินขึ้นไปอยู่บนอินเทอร์เน็ต แต่เป็นการให้ความรู้ทางการเงิน การเสนองานให้ทำ และการสนับสนุนสวัสดิการในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมมากกว่า ซึ่ง Facebook และพันธมิตรทั้งหลายสามารถทำได้เลย แม้ไม่ต้องมีเงิน Libra ก็ตาม ดังนั้น เป็นไปได้ว่าสิ่งที่ Facebook โฟกัสจริง ๆ แล้ว จึงอาจไม่ใช่เรื่องของการช่วยคนยากจน หรือคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารให้เข้าถึงบริการทางการเงินแต่อย่างใด แต่เป็นการลงมาทำลายผู้เล่นในอุตสาหกรรมการเงินเดิม และก้าวขึ้นเป็นผู้ควบคุมคนใหม่แทนเสียมากกว่า
ส่วนจะทำได้สำเร็จหรือไม่ อาจต้องพิจารณาจากแต้มบุญด้าน “ความน่าเชื่อถือ” ของ Facebook กันอีกที