ถือโอกาสแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับ CEO คนใหม่ หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเมื่อ 12 มิถุนายน แต่งตั้งให้ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โดยเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา
ปัจจุบัน คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ อายุ 50 ปี นับเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของซีพีเอฟ ซึ่งก่อนที่จะมารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของซีพีเอฟ มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจในเครือมาหลากหลายด้าน อาทิ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด, ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจไก่เนื้อ, ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาการทำ M&A ธุรกิจที่น่าสนใจในต่างประเทศให้กับซีพีเอฟอีกหลากหลายดีลอีกด้วย
ปรับบาลานซ์พอร์ตธุรกิจ
หลังรับตำแหน่งมาหมาดๆ ก็เปิดตัวต่อสื่อมวลชนทันที พร้อมวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการผลักดันอาณาจักร CPF ให้เติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งใจสร้าง Growth ให้ CPF ตลอด 5 ปีจากนี้ ไม่ต่ำกว่าปีละ 10% หรือจะมีรายได้รวมในสิ้นปีงบประมาณ 2566 อย่างน้อย 8 แสนล้านบาท พร้อมทั้งการขยับฐานะ CPF บนเวทีโลก ให้เติบโตไปสู่บริษัทอาหารชั้นนำอันดับต้นๆ ของโลก เพราะแม้ปัจจุบัน CPF อาจจะเป็นบริษัทในกลุ่ม Food Industry ที่ใหญ่ที่สุดของไทยหรือใน Southeast Asia แต่หากเทียบในระดับโลกแล้ว ไซส์ธุรกิจของ CPF ยังอยู่ในอันดับที่พันกว่าๆ เท่านั้น
ขณะที่เป้าหมายภาพใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจ CPF จากนี้ จะให้ความสำคัญกับการปรับพอร์ตธุรกิจในภาพรวมให้มีความบาลานซ์ของทั้ง 3 ธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการเติมพอร์ตธุรกิจในขาของ Food ให้มากขึ้น จากปัจจุบันใน 17 ประเทศ ที่ CPF ขยายการลงทุนเข้าไปนั้น น้ำหนักธุรกิจจะอยู่ในฟากของ Feed และ Farm เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงประเทศไทย ที่พอร์ตของ Food มีการขยายตัวได้อย่างหลากหลาย ทั้งในกลุ่มอาหารแปรรูป อาหารพร้อมทาน รวมทั้งในกลุ่มธุรกิจ Food Chain หรือแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ
ทั้งนี้ CPF จะใช้โมเดลธุรกิจในประเทศไทยเป็นต้นแบบ เพื่อเป็นโรลโมเดลไปยังอีก 16 ประเทศที่เหลือ เพื่อขยายพอร์ตในกลุ่มอาหารให้มากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายเนื่องจาก ฟากของ Food จะต้องคำนึงถึง Culture ของแต่ละพื้นที่ ทำให้ธุรกิจอาหารต้อง Localize ไปตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทำให้ธุรกิจภาพใหญ่ของ CPF ในปัจจุบันยังเป็น Meat Base เป็นหลัก โดยวางเม็ดเงินในการลงทุนภาพรวมแต่ละปีไว้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ไม่รวมโอกาสจากการ M&A ที่อาจจะมีเพิ่มเติมเข้ามาในอนาคต
“รายได้รวม CPF ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 17,000 ล้านเหรียญ USD หรือกว่า 5 หมื่นล้านบาท รายได้จากประเทศไทย รวมทั้งการส่งออกจะอยู่ที่ 30% กว่าๆ ที่เหลือจะเป็นรายได้จากการลงทุนธุรกิจในอีก 16 ประเทศ ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนจากธุรกิจในต่างประเทศจะเพิ่มมากเป็น 75% ขณะที่ประเทศไทยเองแม้จะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องแต่ฐานในภาพรวมจะเหลือสัดส่วนอยู่ราว 25% เท่านั้น และ หากดูจากพอร์ตธุรกิจรายได้ 83% มาจากขาของ Farm และ Feed ขณะที่ขาจาก Food ยังอยู่ที่ 17% เท่านั้น ซึ่งภาพที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอนาคตคือ การบาลานซ์รายได้จากทุกขาให้ใกล้เคียงกันที่ 1: 1: 1 ซึ่งหากประเมินโอกาสของประเทศที่ภาพของธุรกิจเริ่มขยับเข้ามาใกล้เคียงกับประเทศไทยได้มากที่สุด น่าจะเป็นจีน ที่กำลังลงทุนสร้างโรงงาน Ready Meal เพิ่มเติม รวมทั้งในเวียดนามที่กำลังขยายธุรกิจไก่เนื้อ เพื่อรองรับธุรกิจที่กำลังขยายตัว นอกเหนือจากเสิร์ฟ Local Consumption เพราะทางรัฐบาลสนับสนุนให้ CPF เป็นตัวแทนกลุ่มธุรกิจของเวียดนาม เพื่อขยายธุรกิจการส่งออกเนื้อไก่สดไปในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยจะเริ่มส่งออกไก่ได้ราวปีหน้า”
นอกจากการเติมขาในฟากของ Food ให้แข็งแรงและหลากหลายมากขึ้นแล้ว CPF ยังอยู่ระหว่างการขยายการลงทุนไปยังประเทศใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเลือกที่จะลงทุนเพิ่มเติมในแคนาดาเป็นประเทศที่ 18 ตามมา จากปัจจุบันมีไปตั้งสาขาเพื่อเป็นฐานในการทำตลาดอยู่แล้ว และเป็นการเสริมศักยภาพฐานธุรกิจในฟากฝั่งทวีปอเมริกาให้แข็งแรงมากขึ้น จากปัจจุบัน การลงทุนเพื่อสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศของ CPF ยังกระจายอยู่ในทวีปเอเชีย และยุโรปเป็นหลัก
เพิ่ม Value จาก 9 Food + 8 IT Megatrends
ทั้งนี้ ซีอีโอคนใหม่ได้วางกลยุทธ์หลักเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ CPF ให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต ภายใต้ 3 Key Strategic moves ต่อไปนี้ คือ 1. Value Creation ด้วยการต่อยอดและสร้างคุณค่าเพิ่ม เพื่อให้สามารถพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาดให้ได้ 2. Digital Transformation การพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับระบบต่างๆ ในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งการสร้างความพึงพอใจที่มากขึ้นให้กับลูกค้า และ 3. Driving Sustainability ภายใต้การขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ทั้งการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งลดปริมาณการใช้พลาสติกลงตลอดทั้งซัพพลายเชน
“ทั้ง 3 เรื่องจะเป็นแกนหลักและหัวใจสำคัญในการเติบโตของ CPF โดยแต่ละเรื่องจะมีความยากที่แตกต่างกันไป แต่โจทย์หลักในการทำธุรกิจคือการเพิ่มสปีด เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคท้ังการเข้าใจลูกค้าให้เร็วขึ้น พัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ ให้เร็วขึ้น เพราะวงจรชีวิตสินค้าจะอยู่บนเช้ลฟ์ได้สั้นลง รวมทั้งสปีดในการติดตามเทคโนโลยีหรือดิจิทัลเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละระบบในธุรกิจ และการเป็นผู้นำในการทำธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานที่นำพลังงานธรรมชาติเข้ามาใช้ หรือลดปริมาณการใช้พลาสติกภายในธุรกิจ และหันมาใช้แพกเกจจิ้งที่ Friendly กับธรรมชาติมากขึ้น เป็นต้น”
การติดตามเทรนด์ต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดในธุรกิจจึงเป็นจุดตั้งต้นสำคัญของ ที่ CPF จะสร้าง Value ที่เหนือกว่าให้กับโปรดักต์ หรือเพิ่มศักภาพทางการแข่งขันในมิติต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาในการตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะ Food Trend และ Technology Trend ที่เป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการต่อยอดธุรกิจของ CPF ประกอบด้วย
9 Global Market Trend โดยเฉพาะเทรนด์ที่เกิดชึ้นในธุรกิจอาหาร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนำมาปรับให้เข้ากับธุรกิจที่มีอยู่เดิม ประกอบด้วย
1. Food Safety : ลดการใช้เคมี และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มชีวภาพ (Biological) เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น
2. Food Delivery and Transportation : บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่
3. Specialty Foods : การที่คนในครอบครัวไม่จำเป็นต้องรับประทานแบบเดียวแม้จะทานอาหารร่วมกันในแต่ละมื้อ เพราะต่างคนก็จะมีเมนูที่ชื่นชอบแตกต่างกันไป หรือเริ่มมีความ Tailors Made ในแต่ละมื้อเพิ่มมากขึ้น
4. Sustainable of Food Material : การเลือกใช้วัตถุดิบที่สอดคล้องกับการสร้างความยั่งยืน
5. Healthy & Tasty Food : อาหารที่ดีต่อสุขภาพต้องมาพร้อมรสชาติที่ดีด้วย
6. Natural Ingredients : การเลือกใช้ส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ
7. Circular Economy & Bioeconomy : การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ เศรษฐกิจชีวภาพแบบหมุนเวียน
8. Automation & Internet of Food : การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้และเชื่อมโยงระบบต่างๆ ในธุรกิจอาหารเข้าไว้ด้วยกัน
9. Premium Food & Gastronomy : เทรนด์ความนิยมอาหารระดับพรีเมี่ยม
ขณะที่การติดตามการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรับมือจากการถูกดิสรัปและนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้กับธุรกิจเป็นอีกความสำคัญ โดยมี 8 Technology Trend ที่ CPF นำมาปรับใช้ในระบบ ประกอบด้วย
1. Robotics เพื่อนำมาทดแทนการใช้แรงงานคนในบางจุด
2. Cloud Infrastructure เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ
3. Mobile เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะรองรับเกือบทุกธุรกรรมของลูกค้าในอนาคต
4. AI เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
5. Social Media การเติบโตของโซเชียลมีเดีย
6. Internet of Things การเชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกันผ่านอินเตอร์เน็ต
7. 5G Network การมีเครือข่ายที่แข็งแรงมากขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาด้านต่างๆ
8. Big Data การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บสะสมไว้
“เทรนด์สำคัญๆ ในตลาดจะเป็นตัวตั้งต้นและถูกนำมาต่อยอดเพิ่ม Value ให้กับธุรกิจ จากทางทีม R&D ก่อนจะนำไอเดียนั้นๆ พัฒนาจนกลายมาเป็นโปรดักต์ที่เข้าใจอินไซต์และตอบโจทย์ตลาด รวมทั้งทำให้ CPF สร้างความแตกต่างด้วย Innovative Product ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ จะช่วยเสริมศักยภาพในทุกระบบตั้งแต่ในโรงงาน ในฟาร์ม ระบบการขนส่ง การสั่งสินค้าที่มาจากทั่วโลก การวิเคราะห์ตลาด เข้าใจผู้บริโภค รวมทั้งการวางแผนและคาดการณ์วิเคราะห์ดีมานด์ ซัพพลายของตลาดในอนาคตได้อย่างแม่นยำและทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากย่ิงขึ้น”