ช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยคุ้นเคยกับการที่เด็กรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาปั้นธุรกิจของตัวอง เพราะไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน และอยากประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างรวดเร็วกว่าการไต่เต้าตาม Career Path ที่ต้องใช้เวลาหลายปี กว่าจะได้เงินเดือนที่สูงขึ้น หรือโอกาสที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูง ขณะที่บางคนรอจนเกือบเกษียณแล้วก็ยังไม่มีโอกาสไปถึงจุดนั้นเลยก็เป็นไปได้
ทำให้ช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นเทรนด์ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จากการมีเถ้าแก่หรือเจ้าของธุรกิจในกลุ่ม “อายุน้อยร้อยล้าน” เติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ มีหนึ่งเทรนด์เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบคนไทย ที่เราจะเห็นคนอายุใกล้วัยเกษียณ ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจในวัย 50+ กันมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยลุกขึ้นมาทำธุรกิจอย่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. โดย คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. ให้ข้อมูลว่า มีกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป สนใจเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองกันมากขึ้น โดยมีธุรกิจของกลุ่มสูงวัยในเครือข่าย สสว. และเริ่มต้นทำธุรกิจจริงแล้วกว่า 200 ราย
“สาเหตุที่คนสูงวัยเริ่มเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น มีหลากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการได้แรงบันดาลใจจากการเห็นคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น ทำให้บางคนอยากรู้ อยากลอง ประกอบกับความพร้อมทั้งในเรื่องของเงิน และมีเวลาเพิ่มมากขึ้น หรือบางคนไม่อยากอยู่เหงาๆ อยากรู้สึกมีคุณค่า มีเพื่อน มีสังคม หรือแม้แต่เป็นหนึ่งในแพลนของการวางแผนชีวิตหลังจากเกษียณอายุแล้ว ซึ่งการผันตัวเองมาเป็นเจ้าของธุรกิจก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความพร้อมทางการเงิน แต่ยังไม่มีโมเดลธุรกิจของตัวเอง การทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ มีแนวทางต่างๆ ให้เดินตามได้เลย แบรนด์ส่วนใหญ่ก็เป็นที่รู้จักของตลาด และมีกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว จึงไม่เสียเวลาลองผิดลองถูก ส่วนกลุ่มสูงวัยที่สนใจทำธุรกิจแต่อาจจะยังไม่มีความพร้อม ทาง สสว. ก็มีโครงการบ่มเพาะความรู้และทักษะต่างๆ ให้เช่นเดียวกัน”
หนึ่งในลักษณะเด่นของผู้ประกอบการสูงวัยคือ จะมีความมั่นคงทางอารมณ์ เพราะมีประสบการณ์ในชีวิตมามาก และมีความรู้ต่างๆ สั่งสมมานาน แต่ต้องมาเสริมเรื่องทักษะทางเทคโนโลยีต่างๆ ตามสภาพแวดล้อมและการแข่งขันในตลาด รวมทั้ง หนึ่งในลักษณะเด่นของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ คือ ไม่กล้าเผชิญความเสี่ยงมากนักเหมือนกลุ่มที่ยังอายุน้อยอยู่ แต่เลือกทความมั่นคงหรือค่อยๆ เติบโตมากกว่าต้องแบกรับความเสี่ยงสูง
แนวโน้มเถ้าแก่น้อย ยิ่งเด็กลง
ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แนวโน้มเทรนด์ดังกล่าว ก็ยังคงเติบโตได้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ อายุของผู้เริ่มต้นทำธุรกิจที่เด็กลงเรื่อยๆ จากก่อนหน้านั้น คนรุ่นใหม่ที่จะเริ่มทำธุรกิจ จะอยู่ในช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัย อายุประมาณ 19-20 ปี แต่ปัจจุบัน เริ่มเห็นเด็กอายุเพียงแค่ 14-15 ปี ก็เริ่มต้นทำธุรกิจอย่างจริงจังแล้ว
“คนรุ่นใหม่จะมีแรงบันดาลใจจากกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นไอดอลหรือแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ๆ ไม่อยากเสียเวลาไปเป็นลูกจ้าง โดยเทรนด์การทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ จะเน้นที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะการปั้นโมเดลสตาร์ทอัพ นำเสนอไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ในการเข้ามาแก้ Pain Point ต่างๆ หรือออกแบบบริการที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างต่างๆ ในตลาด เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับธุรกิจตัวเอง”
นอกจากสองกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังมีเทรนด์ผู้ประกอบการใหม่ในสังคมไทยที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง ที่เริ่มมีจำนวนเติบโตเป็นเทรนด์ที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำงานประจำ หรือกลุ่มแม่บ้าน เพราะผู้หญิงไทยเก่ง และมีความสามารถมากอยู่แล้ว รวมทั้งมีความอดทน จริงจัง และไม่ยอมแพ้ แต่เมื่อธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงอาจจะถอยเร็วกว่าผู้ชาย
รวมทั้งเทรนด์จาก กลุ่ม Content Entrepreneur หรือผู้ประกอบการด้านคอนเทนต์ ตามการเติบโตของแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น จำนวนบล็อกเกอร์ Influencer หรือกลุ่ม e Writer ที่มีจำนวนเติบโตเพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้จนยึดเป็นอาชีพได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการกลุ่มใดก็ตาม การจะขับเคลื่อนให้ธุรกิจสำเร็จ ก็ยังมาจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ ธุรกิจต้องมีความแตกต่าง มีความโดดเด่น และโดนใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้วยราคา โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่ไม่ได้มีทุนหนาและไม่สามารถสู้กับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ถ้าเริ่มเกมแข่งราคาเมื่อไหร่ก็เตรียมเปิดประตูแพ้ได้เลย เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น
“เงิน” ไม่ใช่ปัญหาของคนอยากทำธุรกิจ
หนึ่งอินไซต์ที่น่าสนใจ สำหรับคนอยากทำธุรกิจคือ หลายคนมองว่า “เงิน” คือ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่จากการสำรวจความต้องการความช่วยเหลือของกลุ่มธุรกิจ SME ในช่วง 1-2 ปีล่าสุดนี้ เงิน ไม่ได้ติดอยู่ใน TOP 3 ที่ผู้ประกอบการต้องการด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ ความต้องการของ SME ในปีก่อนหน้า พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ยังรู้สึกว่าขาดและต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ คือ 1. เรื่องของการตลาด 2.เรื่องของการผลิต 3.เรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจ ขณะที่เงินเป็นปัจจัยที่ตามมา ส่วนในปีล่าสุดนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด คือ การผ่อนคลายกฏระเบียบหรือข้อบังคับที่เป็นข้อจำกัด ที่ทำให้การเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นไปได้ยาก เช่น การขอเอกสาร หรือขั้นตอนต่างๆ เพื่อขออนุญาตทำธุรกิจ ที่ซ้ำซ้อนหรือมากเกินไป ตามมาด้วยเรื่องของการตลาด การผลิต และการบริหารจัดการ ขณะที่เงินก็ขยับออกไปในอันดับน้อยลงไปอีกเช่นกัน
โดย ผอ. สสว. คุณสุวรรณชัย ขยายความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า “ไม่ได้หมายความว่าเงินไม่สำคัญ แต่คนที่เตรียมจะทำธุรกิจจะต้องมีความพร้อม หรือเตรียมทุนสักก้อนหนึ่งไว้อยู่แล้ว เพราะหากยังไม่มีเงินเลยแต่อยากจะทำธุรกิจ ก็เป็นวิธีคิดตั้งต้นที่ผิดแล้ว เหมือนเราอยากจับปลาแต่ไม่ลงน้ำ มันไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น คนจะเข้ามาทำธุรกิจต้องเตรียมเงินไว้ลงทุนส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ทำให้เงินไม่ใช่ปัญหาของคนที่จะเริ่มทำธุรกิจ แต่ต้องการเครื่องมือที่ทำให้สามารถรักษาและต่อยอดจากทุนก้อนที่มีอยู่นี้ให้ได้มากที่สุดมากกว่า จนเมื่อทำธุรกิจไปได้สักระยะแล้วอยากต่อยอด อยากขยายธุรกิจ หรืออยากได้เงินลงทุนเพิ่ม จึงค่อยมองหาความช่วยเหลือทางการเงินให้กับธุรกิจ”
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจในช่วงตั้งต้นธุรกิจ (SME Start up) หรือ SME Early State จึงเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง สะท้อนการเติบโตของความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของคนไทย แต่ก็เป็นกลุ่มที่เผชิญกับความท้าทายสูงมากที่สุดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ที่พัฒนาขึ้นไม่ตอบโจทย์ตลาด โมเดลธุรกิจไม่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ขาดความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ หรือการบริหารจัดการทางด้านการเงินหรือบัญชี
ขณะที่ กลุ่มผู้ประกอบการที่สามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้สำเร็จ ส่วนใหญ่มาจากการมี Mindset ของความเป็นผู้ประกอบการ ดังต่อไปนี้
1. ชอบสังเกตสิ่งรอบตัว รวมทั้งชอบเรียนรู้ ติดตามเทรนด์ธุรกิจอยู่เสมอ และนำมาต่อยอดเป็นความคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์
2. มีความอดทน อดทนที่จะทำในสิ่งที่มีความเชื่อ เมื่อล้มเหลวก็พร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ต่อ เพื่อทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงให้ได้
3. ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต มี Passion ที่เป็นแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย และสร้างธุรกิจขึ้นมาจากใจ
4. มีนิสัยชอบเสี่ยง เพราะ “ธุรกิจ” กับ “ความเสี่ยง” เป็นของที่ควบคู่กัน และมาพร้อมปัญหาและความท้าทายรอบด้าน หากยอมแพ้หรือไม่กล้าเสี่ยงก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ
5. มีแผนงานเป็นระบบ หรือมี Business Plan เพราะแนวคิดในการทำธุรกิจต้องมาพร้อมแผนงานที่เป็นระบบ ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการสร้างแผนธุรกิจ หรือมี Map ที่จะพาไปสู่จุดหมาย ทั้งจะทำอะไร ทำที่ไหน ทำอย่างไร ทำกับใคร โดยใคร เมื่อใด ใช้เงินทุนเท่าไหร่ จะได้ผลอย่างไร เพื่อจะทำให้ไม่หลงทาง