นี่อาจเป็นสัญญาณที่น่าจับตาทีเดียวว่าวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่กำลังเริ่มต้นแล้วหรือไม่ เหตุ Uber และยักษ์ใหญ่ในวงการการเงินโลกอย่าง Citigroup ออกมาประกาศหั่นพนักงานหลายร้อยตำแหน่ง แถมนักวิเคราะห์มองว่า ในฟากของอุตสาหกรรมการเงิน Citigroup จะไม่ใช่รายสุดท้าย เพราะบริษัททั่วโลกต่างมีมุมมองต่อเรื่องดังกล่าว “ไม่ต่างกัน”
โดยการเลย์ออฟพนักงานของ Citigroup เกิดขึ้นกับฝ่ายเทรดดิ้งที่คาดว่าจะมีพนักงานถูกปลดออกหลายร้อยตำแหน่ง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นภาพสะท้อนของความยากลำบากของสถาบันการเงินที่ต้องหาทางสร้างการเติบโตขององค์กร ขณะที่รายได้ไม่ได้เติบโตอย่างที่เคยเป็น ด้าน Jeff Harte นักวิเคราะห์จาก Sandler O’Neillคาดการณ์ว่า หลังจากนี้ จะมีการปลดพนักงานในสถาบันการเงินอีกหลายแห่งตามมาด้วย
ทั้งนี้พบว่า รายได้จากการเทรดดิ้งของ 5 ธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีการปรับลดลงถึง 8% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขณะที่ในไตรมาส 1 นั้นปรับลดลงถึง 14% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็น 6 เดือนแรกของปีที่ธนาคารดังมีผลประกอบการแย่ที่สุดในรอบ 10 ปีเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ยังพบว่า ธนาคารยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอื่น ๆ ก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น HSBC Holding และ Societe Generale SA ในสหภาพยุโรปต่างก็มีแผนจะเลย์ออฟพนักงานหลายร้อยตำแหน่งเช่นกัน
Uber ลดพนักงาน อ้างขอเติบโตช้าลง
ขณะที่การเลย์ออฟพนักงานของ Uber นั้นได้รับการบอกกล่าวโดย Dara Khosrowshahi ซีอีโอของบริษัทผ่านทางอีเมลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และมีพนักงานที่ถูกเลย์ออฟทั้งสิ้น 400 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 1.6% ของพนักงาน Uber ทั่วโลก นอกจากนั้นยังถือเป็นการปรับโครงสร้างฝ่ายการตลาดและฝ่ายสื่อสารองค์กรครั้งแรกของบริษัทด้วย
Khosrowshahi อธิบายถึงการเลย์ออฟครั้งนี้ว่า เกิดจากการที่บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Uber มองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำให้การเติบโตนี้ช้าลง
แม้จะเป็นคำอธิบายที่แปลกไปหน่อยสำหรับบริษัทที่เข้าเทรดในตลาดหุ้น แต่ก็เชื่อว่าหากถอดรหัสจริง ๆ เราคงมองเห็นสัญญาณที่ซีอีโอ Uber อยากสื่อความหมายจริง ๆ ออกเช่นกัน เพราะปัจจุบัน Uber และ Lyft ต่างอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักของนักลงทุน เนื่องจากมูลค่าหุ้นไม่เติบโตตามที่คาด
Khosrowshahi กล่าวอีกด้วยว่า ปัญหาที่เจอก็คือ ทีมของ Uber หลายทีมมีขนาดใหญ่เกินไป ทำให้การทำงานเกิดการทับซ้อนกัน หรือในบางงานก็เกิดความไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อบริษัทถ้าอยากจะเป็นผู้ชนะในเกมนี้
แต่ไม่ว่าคำอธิบายจากซีอีโอจะเป็นเช่นไร สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้น่าจะเป็นสัญญาณที่บอกว่า การรัดเข็มขัด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอาจเป็นทางออกที่หลายบริษัทเริ่มหยิบมาใช้กันแล้วนั่นเอง