ปัจจุบัน Sport กับ Marketing แยกกันได้ยากมากขึ้น ทำให้ความสำคัญของการบริหารธุรกิจกีฬามีบทบาทและถูกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกีฬายอดนิยมของมวลมนุษยชาติอย่าง “กีฬาฟุตบอล” ที่มีช่องทางในการต่อยอดสร้างรายได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้อขายนักเตะ รายได้จากการนำลิขสิทธิ์ของทีมหรือนักเตะไปใช้ในด้านต่างๆ หรือการมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนทีม
โดยเฉพาะทีมฟุตบอลหรือนักเตะดังๆ ระดับโลก ที่กลายเป็นไอคอน หรือตำนานเป็นที่รู้จักของคนไปทั่วโลก สามารถสร้างฐานแฟนคลับได้ทั่วโลกและสร้างรายได้มหาศาลในแต่ละปี ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจาการบริหารจัดการด้านการกีฬาอย่างเป็นระบบ
ขณะที่ในประเทศไทย ความนิยมของฟุตบอลลีกไทยอย่าง ไทยพรีเมียร์ ลีก ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงระบบการแข่งขัน ตอนปี 2549 เคยบูมขั้นสุดอยู่หลายปี จากหลากหลายเหตุผล โดยเฉพาะจากการที่ผู้มีชื่อเสียง กลุ่มนักธุรกิจ หรือผู้มีอิทธิพลทางสังคม หันมาสนับสนุนวงการฟุตบอลไทยมากขึ้น และเริ่มเห็นพัฒนาการจากยุคก่อนหน้าในหลายๆ ด้าน ช่วยจุดความหวังสูงสุดของวงการฟุตบอลไทย ที่รอคอยวันที่ฟุตบอลไทยจะสามารถเข้าไปผงาดได้ในรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลกกลับมาลุกโชนได้อีกครั้ง
แต่สภาพการแข่งขันกลับเปลี่ยนไป ในวันนี้กระแสความนิยม “ไทยพรีเมียร์ ลีก” ไม่เปรี้ยง!!! เหมือนที่เคย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี จึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจฟุตบอลของไทยลีก เพื่อเข้าใจถึงสถานการณ์ต่างๆ ของวงการฟุตบอลไทย เพื่อทราบถึงศักยภาพ หรือหาอินไซต์ต่างๆ ที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมฟุตบลอไทย พร้อมสรุปข้อมูลจากการศึกษาคร้ังนี้ไว้ ดังต่อไปนี้
ทีมฟุตบอลไทยลีกยิ่งเก่ง รายได้ยิ่งดี แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมฟุตบอลยังไม่มีกำไร
อีไอซีทำการวิเคราะห์ข้อมูลรายบริษัท ของทีมฟุตบอลที่อยู่ในไทยลีก จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและข้อมูลสถิติเกี่ยวกับฟุตบอลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ พบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมฟุตบอลไทยมีการเติบโตต่อเนื่องในแง่ของรายได้
โดยในปี 2560 รายได้รวมของทีมฟุตบอลที่อยู่ในไทยลีก ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของไทย (ที่มีข้อมูลงบการเงิน) อยู่ที่ราว 3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่อยู่ที่ราว 1.9 พันล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.5% ต่อปี
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของรายได้ของทีมฟุตบอลกับอันดับผลงานในไทยลีกของแต่ละฤดูกาล พบว่า ทีมฟุตบอลที่ทำอันดับได้ดีมีแนวโน้มที่จะมีรายได้สูง โดยรายได้ของทีมที่อยู่ใน 3 อันดับแรก ในปี 2560 คิดเป็น 55% ของรายได้รวมในปีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทีมฟุตบอลในไทยลีกยังคงมีผลประกอบการขาดทุน โดยมีทีมฟุตบอลไทยในไทยลีกมากกว่าครึ่งที่ยังมีผลประกอบการขาดทุนในปี 2560
มูลค่านักฟุตบอลไทยลีกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมักจะอยู่ในทีมที่มีอันดับในลีกดี
อีไอซียังพบว่า มูลค่านักฟุตบอลที่เล่นในไทยลีกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมูลค่านักฟุตบอลชาวไทยในปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.16 แสนยูโร (ประมาณ 4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 9.97 หมื่นยูโร (ประมาณ 3.4 ล้านบาท) คิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.3% ต่อปี
ขณะที่มูลค่านักฟุตบอลชาวต่างชาติ (ไม่รวมชาติอาเซียน) ในปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.52 แสนยูโร (ประมาณ 15.6 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 3.61 แสนยูโร (ประมาณ 12.5 ล้านบาท) คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 25.1% ด้วยเหตุนี้ ความแตกต่างของมูลค่านักฟุตบอลไทยกับต่างชาติจึงเพิ่มขึ้นจาก 3.6 เท่า ในปี 2558 เป็น 3.9 เท่าในปี 2562
ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่านักฟุตบอลกับอันดับของทีม พบว่า โดยเฉลี่ยนักฟุตบอลที่มีราคาสูงมักอยู่ในทีมที่มีอันดับในลีกดี ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้อาจมาจากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น
– ทีมที่มีอันดับดีมีความสามารถทางการเงินสูงกว่าในการซื้อนักฟุตบอล
– นักฟุตบอลที่มีราคาสูงมีความต้องการเล่นให้ทีมอันดับดี
– ทีมอันดับดีนักฟุตบอลจึงมีผลงานส่วนตัวดีไปด้วยซึ่งส่งผลให้มูลค่าของนักฟุตบอลเพิ่มสูงขึ้น
– นักฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสามารถช่วยให้ทีมมีอันดับที่ดีได้
นอกจากนี้ อีไอซียังพบว่า ค่าเฉลี่ยของการเลือกใช้นักฟุตบอลของทีมในไทยลีกมีลักษณะที่เปลี่ยนไป จากที่ทีมมักจะมีนักฟุตบอลที่แพงเกินคนอื่นๆ ในทีม กลายมาเป็นลักษณะที่ทีมจะมีนักฟุตบอลที่มีมูลค่าใกล้เคียงกันมากขึ้นโดยเฉลี่ย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจสะท้อนผลของการเปลี่ยนกฎการเพิ่มโควตานักฟุตบอลชาติอาเซียนในปี 2561 โดยนักฟุตบอลชาติอาเซียนมีมูลค่าต่ำกว่านักฟุตบอลต่างชาติที่ไม่ใช่อาเซียนและใกล้เคียงกับมูลค่านักฟุตบอลชาวไทย
ทั้งทีมและนักฟุตบอลในไทยลีกยังอยู่ห่างจากระดับโลก
เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ “ที่สุดของโลก” ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับฟุตบอลแล้วจะพบว่าไทยยังมีความแตกต่างอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกำลังการรองรับจำนวนผู้ชมในสนาม จำนวนแฟนคลับของแต่ละทีม ที่ไทยยังตามหลังที่สุดของโลกอยู่ที่ 4 และ 47 เท่า ตามลำดับ และโดยเฉพาะเมื่อพิจารณามูลค่าทีมและมูลค่านักฟุตบอลรายบุคคล ความแตกต่างจะเพิ่มเป็นหลายเท่าตัว โดยมูลค่าทีมที่สูงที่สุดในไทยลีกห่างจากมูลค่าทีมที่สูงที่สุดในโลก 157 เท่า ขณะที่ในด้านมูลค่านักฟุตบอล พบว่า มูลค่านักฟุตบอลที่แพงที่สุดในไทยห่างจากมูลค่านักฟุตบอลที่แพงที่สุดของโลกถึง 200 เท่า ดาวรุ่งอย่าง Mbappe มีมูลค่าถึง 200 ล้านยูโร ขณะที่ Fernandes จากทีมเมืองทองมีมูลค่า 1 ล้านยูโรเท่านั้น
จากข้อมูลด้านธุรกิจของ EIC เป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสของ “ไทยแลนด์หรีเมียร์ลีก” ที่ตอนนี้ต้องบอกว่ากำลังอยู่ในขาลง? ในตอนนี้สนามของทีมฟุตบอลต่างๆ ในประเทศไทย เกิดอาการโล่งลงไปถนัดตา นอกเหนือจากบิ๊กแมตช์ที่ทีมใหญ่ปะทะกันเองแล้ว ในแมตช์การแข่งขันอื่นๆ มีผู้ชมไม่ถึงพันคน สาเหตุของความตกต่ำลงของฟุตบอลในประเทศไทย อาจจะมาจากสาเหตุเหล่านี้
มีแต่ทีมเดิมๆ ครองแชมป์
นับตั้งแต่ปี 2552-2561 มีเพียงแค่ 2 ทีมเท่านั้นที่ครองความยิ่งใหญ่ในสนามการแข่งขัน และใน 6 ปีหลัง ปราสาทสายฟ้า ก็ครองถ้วยไปถึง 5 สมัย บางฤดูกาล บุรีรัมย์ฯ คว้าแชมป์ไปตั้งแต่เหลือเกมการแข่งขันอีกหลายนัด นั้นทำให้สภาพการแข่งขันเกิดอาการผูกขาด แฟนๆ ไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อยอีกต่อไป และกลายเป็นความเบื่อหน่ายที่จะดูหรือลุ้นทีมรักอีกต่อไป
อย่างไรก็ตามการแข่งขันเช่นนั้นดูเหมือนว่าจะมีความตื่นเต้นมากขึ้นในฤดูกาลล่าสุดนี้ เมื่อทีมใหม่ๆ สอดแทรกเข้ามาอยู่อันดับบนของตาราง ไม่ว่าจะเป็น “ท่าเรือ” ของมาดามแป้งที่ช่วงต้นก็ครองบัลลังก์จ่าฝูงได้ระยะหนึ่ง หรือในตอนนี้ที่ เชียงรายฯ กับ บุรีรัมย์ฯ เบียดแย่งอันดับ 1 ชนิดหายใจรดต้นคอ ทีมระดับกลางๆ ตารางที่กำลังสะสมความแข็งแกร่งและเติบโตขึ้นในฤดูกาลนี้ ทำให้เกมการแข่งขันมีสีสัน “เกมล้มยักษ์” ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นกระแสที่ทำให้คอบอลกลับมาตื่นเต้นอีกครั้ง
หมดยุคซุป’ตาร์
การที่ทีมต่างๆ ไม่สวามารถปั้นซูเปอร์สตาร์ ระดับแมสได้ อาจจะเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้กระแสฟุตบอลในประเทศไทยไม่เปี้ยงเหมือนที่เคย ตัวหลักของทีมชาติหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ ชนาธิป ค้าแข้งยู่ในต่างประเทศ ทำให้แฟนๆ ไมได้ติดตามผลงานระดับลีกของเขาเหมือนเช่นเคย ก็ทำให้แฟนๆ ที่ไม่ถึงขนาดเป็นแฟนพันธุ์แท้หรือรับชมเป็นประจำ ไม่มีไอด้อลให้ติดตามในรูปแบบของบุคคล ขณะเดียวกันทั้งตัวผู้เล่นชาวไทยและชาวต่างชาติ ก็ยังไม่มีใครโดดเด่นขนาดสร้างชื่อให้คนทั้งประเทศได้รักเหมือนที่กองหน้าแบบ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน หรือ ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมืองเคยทำได้
ถึงแม้ว่าในระยะหลังทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่พยายามทำกิจกรรม และสื่อสารกับแฟนคลับ เพื่อสร้างความใกล้ชิดผูกพัน มีส่วนร่วมของนักเตะกับผู้ชม แต่ก็ทำในกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
จากประเด็นทั้งในแง่มุมของกระแส เชื่อมโยงถึงมิติของธุรกิจ ความเฟื่องฟูของความบันเทิงในรูปแบบฟุตบอลลีกของเมืองไทยที่ดูจะซบเซาไปในตอนนี้ คงต้องรอให้ทีมฟุตบอลใดทีมหนึ่งประสบความสำเร็จระดับภูมิภาคสักที หรือว่ามีการพลิกโฉมหน้าของแชมป์ เพื่อสร้างกระแส “ท้องถิ่นนิยม” ให้เกิดขึ้นมา สมกับเจตนารมย์การปรับตัวของ ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก จากรูปแบบขององค์กรเอกชน, รัฐวิสาหกิจ, รัฐ ให้กลายเป็นทีมของแต่ละจังหวัด
เครดิตภาพเปิด : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand