บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยประจำไตรมาส 2 ของปี 2562 โดยมีรายได้รวม 143,326 ล้านบาท เติบโต 10.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 129,548 ล้านบาท ซึ่งรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ทำรายได้ในไตรมาสที่ผ่านมา 84,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,828 ล้านบาท หรือกว่า 10% จาก 77,073 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ที่เหลือจะเป็นรายได้จากธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตัวเอง ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ที่ทำรายได้ในไตรมาสนี้ได้กว่า 5.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งรายได้จากธุรกิจอื่นๆ อีกราว1.1 หมื่นล้านบาท
และหากรวมรายได้ตลอดการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซีพีออล์ จะมีรายได้รวมถึง 282,134 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จาก 257,409 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เกือบ 1.8 แสนล้านบาท เติบโต 8.8% รวมทั้งรายได้จากสยามแม็คโครราว 1 แสนล้านบาท และจากธุรกิจอื่นๆ กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทสามารถทำกําไรสุทธิในไตรมาส 2 ได้จํานวน 4,795 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 0.3% และมีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกรวมถึง 10,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากครึ่งปีแรกของปีก่อนที่ทำกำไรได้ 10,196 ล้านบาท
เติบโตจากยอดขายและสาขาที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยหลักที่ทําให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น มาจากการขายสินค้าและบริการได้เพิ่มสูงขึ้นของเซเว่น อีเลฟเว่น และ สยามแม็คโคร จากการให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและการทำตลาด โดยเฉพาะความสามารถในการนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม รวมถึงการขยายสาขาใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับกับการพัฒนาวิถีการดําเนินชีวิตของลูกค้า และทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวก โดยจำนวนสาขาในปัจจุบันของธุรกิจหลักอย่างร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีจำนวนรวม 11,528 สาขา เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมาที่มีจำนวนสาขา 10,988 สาขา โดยมีเป้าหมายจะขยายให้ครบ 13,000 สาขา ภายในปี 2564
ขณะที่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิม (Same Store) มีอัตราการเติบโต 3.7% ด้วยยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 83,725 บาท ยอดซื้อเฉลี่ยต่อบิลของไตรมาสนี้อยู่ที่ 69 บาท และมีจำนวนลูกค้าเฉลี่ยต่อสาขาอยู่ที่ 1,223 คน
ทั้งนี้ ซีพี ออล์ คาดว่าจะมีรายได้เติบโตต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะเป็นการเติบโตจากสาขาใหม่ (New Store) โดยตั้งเป้าขยายสาขาใหม่ทั้งปีนี้จำนวน 700 สาขา ซึ่งในไตรมาส 2 ได้เปิดร้านใหม่รวมทั้งสิ้น 229 สาขา และการเติบโตของ Same Store ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับการเติบโตของ GDP ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ระดับของอัตราเงินเฟ้อ หรือการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น
ในส่วนเม็ดเงินลงทุนวางไว้ราว 11,500 -12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การใช้เพื่อเปิดสาขาใหม่ประมาณ 4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 -2,500 ล้านบาท การลงทุนโครงการใหม่ การลงทุนในบริษัทย่อย รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้าราว 4,000 ล้านบาท รวมทั้งระบบสารสนเทศและการลงทุนอื่นๆ อีกกว่า 1,300 -1,400 ล้านบาท