HomeBrand Move !!เมื่อ “Made in Japan” โดนแบนที่เกาหลีใต้ สงครามการค้าจากความแค้นยุค World War II

เมื่อ “Made in Japan” โดนแบนที่เกาหลีใต้ สงครามการค้าจากความแค้นยุค World War II

แชร์ :

ถือเป็นความท้าทายอย่างมากเลยทีเดียวสำหรับแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น Uniqlo, Toyota หรือแม้แต่โดราเอมอน กับการมีตัวตนอยู่ในเกาหลีใต้ทุกวันนี้ เนื่องจากแบรนด์ดังที่กล่าวมานั้น ต้องเผชิญหน้ากับ “การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเกาหลีใต้อย่างหนัก เห็นได้จากบรรยากาศของร้าน Uniqlo ในห้าง Hyundai ทางตอนเหนือของโซลที่มักจะเต็มไปด้วยผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยต้องร้างเป็นป่าช้า หรือรถยนต์ Toyota ที่ถูกทุบทำลายเพราะความโกรธแค้นของผู้ชุมนุม

นอกจากสินค้าที่กล่าวมาแล้ว คำว่า “Made in Japan” ยังกลายเป็นคำต้องห้าม ไม่เว้นแม้แต่การเดินทางท่องเที่ยวที่ชาวเกาหลีใต้บางคนถึงกับยกเลิกการไปพักร้อนที่ญี่ปุ่นเลยทีเดียว 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี ปกติแล้วการประท้วงในลักษณะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในแดนกิมจิ และโดยทั่วไปก็มักใช้เวลาไม่นาน แต่สำหรับการประท้วงครั้งนี้มันต่างออกไป เพราะคนเกาหลีใต้รู้สึกว่ามันเป็นความขัดแย้งที่ปลุกเลือดรักชาติให้เดือดขึ้นมาอีกครั้ง ทุกฝ่ายจึงพร้อมใจกันลุกขึ้นมาทวงถามถึงศักดิ์ศรีความภูมิใจของประเทศที่เคยสูญเสียไปในช่วงสงครามโลก 

โดยทั้งสองประเทศตระหนักดีว่าความบาดหมางจนนำไปสู่สงครามการค้าครั้งนี้มีประวัติยาวนาน แต่หากเล่าในมุมของสื่อญี่ปุ่นอย่าง Nikkei Asian Review ภาพความขัดแย้งเริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ที่ศาลของเกาหลีใต้ตัดสินให้แรงงานชาวเกาหลีจำนวน 4 คนที่ถูกบริษัท Nippon Steel ใช้แรงงานในช่วงสงครามโลก ได้รับการชดใช้เป็นเงินคนละ 100 ล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทยคนละ 2.5 ล้านบาท ซึ่งทางญี่ปุ่นมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะประเทศญี่ปุ่นได้มีการขอโทษ และชดใช้ค่าเสียหายอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลเกาหลีใต้ไปแล้วเมื่อปี 1965 (พ.ศ.2508) คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 15,415 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่มีมูลค่าสูงมากในเวลานั้น)

อีกทั้งคำตัดสินของศาลยังเป็นการเปิดโอกาสให้เหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนั้นที่มีมากกว่า 220,000 คนอาจยื่นฟ้องต่อบริษัทญี่ปุ่นเพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้ค่าเสียหายที่บริษัทญี่ปุ่นต้องจ่ายชดเชยมีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ พบว่ามีบางอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงประเทศญี่ปุ่นอยู่สูงมาก นั่นคืออุตสาหกรรมสินค้าไฮเทค ดังนั้น ทันทีที่ นายชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมตรีประเทศญี่ปุ่น ประกาศเพิ่มมาตรการควบคุมการส่งออกสารเคมี 3 ชนิด (ได้แก่ fluorinated polyamides, photoresists, และ hydrogen fluoride) ในวันที่ 4 กรกฎาคม ที่บังเอิญว่ามันเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับผลิต Semiconductor และหน้าจอสำหรับโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือ จึงกลายเป็นมาตรการที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Samsung Electronics และ SK Hynix นั่งไม่ติดกันเลยทีเดียว เนื่องจากเกรงว่าสารเคมีที่สต็อกไว้จะไม่เพียงพอสำหรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อีกต่อไป (มาตรการใหม่นี้ใช้เวลา 90 วันในการพิจารณาอนุมัติให้ส่งออกสารเคมีได้)

โดย Samsung ได้สะท้อนถึงความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นไว้ในรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ด้วยการระบุเอาไว้ว่า นี่คือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งที่เราเคยประสบมา และรัฐบาลไม่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยจัดการใด ๆ ได้เลย แม้ว่าความยุ่งยากครั้งนี้จะทำให้บริษัทต้องล่มสลายก็ตาม

การตอบโต้จากญี่ปุ่นผ่านบัญชี “Whitelist” 

สงครามการค้าระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะสมบูรณ์ไปไม่ได้ หากไม่ได้กล่าวถึง Whitelist บัญชีที่เปรียบเสมือนสิทธิพิเศษทางการค้า โดยบัญชี Whitelist ของญี่ปุ่นเคยระบุไว้ว่า เกาหลีใต้คือหนึ่งใน 27 ประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจสอบสำหรับการส่งออกอย่างละเอียด ซึ่งเครื่องจักรและวัตถุดิบสารเคมีสำหรับการผลิตเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการยกเว้นนี้ด้วย

ดังนั้น หากเกาหลีใต้ถูกคัดชื่อออกจาก Whitelist นี้แล้ว จะทำให้กระบวนการในการตรวจสอบละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาให้ถอดชื่อของเกาหลีใต้ออกจาก Whitelist แล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยจะมีผลในวันที่ 28 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ 

เกาหลีใต้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้า

ฝ่ายรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ไม่น้อยหน้า ออกมาประกาศการลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่นเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น นาย Moon Jae-In ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านโทรทัศน์ว่า พวกเราจะตอบโต้การกระทำที่ไม่ยุติธรรมของรัฐบาลญี่ปุ่น และจะไม่ยอมแพ้ญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว”  

การปะทะคารมของทั้งสองประเทศยังคงนำเนินต่อไป แม้กระทั่งในการประชุมอาเซียนบวก 3 ที่กรุงเทพฯ โดยรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมโจมตีรัฐบาลญี่ปุ่นว่า พวกเรามีความกังวลอย่างยิ่งโดยการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่อาจนำไปสู่การค้าที่ไม่เป็นธรรม”

ขณะที่นายทาโร่ โคโน่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นซึ่งกล่าวสุนทรพจน์ต่อจากเกาหลีใต้ระบุว่า ผมไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ท่านรัฐมนตรีกล่าวแบบนั้น เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้นไม่อยู่ในรายชื่อ Whitelist เสียด้วยซ้ำ ยังไม่ประสบปัญหาการกีดกันทางการค้าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเลย”  

สงครามที่ไร้คนห้ามทัพ

สิ่งหนึ่งที่เคยยึดโยงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เอาไว้บนโลกการค้าก็คือรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทว่า สงครามการค้ารอบนี้ มีการวิเคราะห์ว่า สหรัฐอเมริกาไม่สามารถเข้ามาช่วยประสานเป็นกาวใจได้เหมือนเคย หรืออาจกล่าวได้ว่าแทบไม่มีบทบาทใด ๆ ให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กลับมาสงบศึกได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตอนนี้ รัฐบาลอเมริกาก็มีสงครามของตัวเองจากความขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่จนยากจะรับมืออยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้ จึงไม่แปลกหากสงครามการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะไม่สามารถหาจุดจบได้ และยังคงดำเนินต่อไป เป็นคู่ขนานกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลกระทบเชื่อว่าสามารถดึงให้เศรษฐกิจตกต่ำกันทั้งโลกได้เลยทีเดียว

Source

Source

Source

Source

  


แชร์ :

You may also like