โฉมหน้าของสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อ ‘อัตราเกิดน้อยลง คนอายุยืนขึ้น’ หนึ่งครอบครัวจึงมีความหลากหลายของคนต่างรุ่น ทำอย่างไรให้คนในครอบครัวที่มีความต่างกันทั้งช่วงวัยและความคิดอยู่ร่วมกันได้แบบไร้ปัญหาและสร้างสุขให้กับและกันได้
หลายปีมานี้ ครอบครัวไทยมักต้องเจอกับปัญหาต่างๆ ให้ต้องรับมือ การแข่งขันของตลาดแรงงาน งานดี เงินเดือนสูง มักกระจุกตัวอยู่ในเมือง ทำให้หลายคนยอมแลกกับการเดินทางที่การจราจรแสนจะติดขัด ใช้เวลานาน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงลิบต่อเดือน
ปัญหาของแหล่งงานกับที่อยู่อาศัยในสังคมไทยเริ่มเด่นชัดมากขึ้น ตามมาด้วยแหล่งการศึกษาของลูกๆ การเดินทาง เวลา และค่าใช้จ่าย เพื่อเชื่อมต่อจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดทำได้ยากขึ้นทุกที ซึ่งเป็นเหตุผลลำดับต้นๆ ที่ให้หลายครอบครัวต้องตัดสินใจแยกออกจากครอบครัวใหญ่ของตัวเองมาอยู่ในจุดที่ใกล้กับแหล่งงาน และการศึกษา
ความห่างที่ว่านี้ ส่งผลให้สภาพของครอบครัวไทยเปลี่ยนไปจากครอบครัวไซส์ใหญ่ ครอบครัวขนาดใหญ่กลายเป็นครอบครัวที่ไซส์เล็กลง แถมยังมีความหลากหลายที่มากขึ้น เช่น คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยังต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัว ครอบครัวที่มีแค่สองรุ่น สูงวัย กับรุ่นเด็ก คนรุ่นตรงกลางจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานในที่ไกลๆ
รูปแบบครอบครัวไทยที่เปลี่ยนไปนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหลายๆ เรื่องตามมา ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนต่างรุ่น การผลักคนสูงวัยให้ออกไปอยู่นอกบ้าน เช่น ศูนย์ผู้สูงอายุ
การที่แต่ละครอบครัวรับมือและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถูกจุด อาจทำได้ดีแค่ในระยะสั้น แต่ระยะยาวอาจเกิดปัญหาตามมาอีกมาก อย่างเช่น การสื่อสารของคนต่างวัยที่ขาดความเข้าใจ รุ่นเด็กอาจสร้างปัญหากับเพื่อนรุ่นเดียวกัน คนสูงวัย เผชิญกับความเหงา และรู้สึกตัวเองขาดคุณค่าไปนำไปสู่กลุ่มโรคซึมเศร้าและอื่นๆ ได้
ปัญหาที่พบได้ในเด็กยุคนี้ยังมาจากปัจจัยแวดล้อมและการเลี้ยงดู ข้อมูลจากโครงการวิจัยการติดตามสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทย (IQ/EQ Watch) สะท้อนว่า พฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครองมีความสอดคล้องกับระดับไอคิวอีคิวและพฤติกรรมของเด็ก
เด็กที่เติบโตมาแวดล้อมด้วยความรักการเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ในบ้าน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรุ่นปู่ย่า, ผู้ปกครองสนับสนุนและเสริมปัจจัยด้านต่างๆ ให้กับเด็กอย่างเหมาะสม มีผลต่อการพัฒนา IQ/EQ ที่สูงขึ้น ในทางกลับกันหากขาดการเอาใจใส่จากครอบครัวที่ดีพออาจส่งผลให้เด็กสมัยนี้มี EQ ต่ำลงได้
ตัวเลขในปี 2001-2100 เป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกเตรียมก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยกันอย่างเต็มตัวตามการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เฉพาะปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน คิดเป็น 16.9% ของประชากรทั้งหมด
แล้วครอบครัวไทยควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย?
ผลสำรวจจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำกับกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ในช่วงอายุ 15-65 ปี รวม 400 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่า
กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 70.8% ต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่มีสมาชิกหลายรุ่นรวมกัน
กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องการอยู่อาศัยหลายรุ่นสูงสุด คือ 80.7% ของกลุ่มตัวอย่างอายุ 40 ปีขึ้นไป
รูปแบบการอยู่อาศัยแบบครอบครัวหลายรุ่นที่กลุ่มตัวอย่างต้องการมากที่สุดคือ 4 รุ่น ถึง 92% รองลงมาคือ 3 รุ่น 78.9%
Intergeneration Family Living ‘ต่างรุ่น ต่างวัย หัวใจเดียวกัน’
‘Intergeneration Family Living’ รูปแบบการอยู่อาศัยรวมกันแบบครอบครัวใหญ่ หลายเจเนอเรชั่น หลายช่วงวัย กำลังเป็นเทรนด์ที่กล่าวถึงในข้อดีที่มีมากกว่าเมื่อเทียบกับครอบครัวในรูปแบบอื่น โดยว่าด้วย การอยู่ร่วมกันของคนต่างวัย รุ่นคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย พ่อแม่ จนถึงรุ่นลูก บางครอบครัวขยายจนถึงรุ่นหลาน
‘รุ่นใหญ่’ เปรียบเป็นเสาหลัก ศูนย์กลางความรักของครอบครัว ที่เหนือกว่านั้นเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตและงานส่งต่อไปรุ่นลูกรุ่นหลาน
เจเนอเรชั่นตรงกลาง ยังคงใช้ชีวิตแบบอิสระตามยุคสมัยแต่ก็ยังไม่ละเลยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญๆของครอบครัว ส่วน เจเนอเรชั่นที่ 3 และ 4 แม้จะมีช่องว่างแต่การสร้างสรรค์กิจกรรมร่วมกัน เช่นรับประทานอาหาร เดินทางท่องเที่ยวในและต่างประเทศ ยังใช้ได้ดีเสมอในการเชื่อมจากคนในรุ่นสู่รุ่นได้
งานวิจัยยังบอกได้ถึงคุณภาพชีวิตที่เกิดขึ้นกับคนที่อาศัยอยู่ในครอบครัวใหญ่แวดล้อมด้วยคน 3 รุ่น กลับช่วยให้สมาชิกในครัวเรือนมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าครัวเรือนรูปแบบอื่น โดยสะท้อนจากกลุ่มตัวอย่าง 30.3% มองว่าการไม่ได้พักอาศัยในบ้านเดียวกันเป็นข้อจำกัดอันดับแรกของการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว
ความสุขที่มากขึ้นของคนต่างวัยในครอบครัวใหญ่มาจากที่สมาชิกในครอบครัวต่างก็ดูแลและส่งต่อความรักให้กัน โดยเฉพาะในยามมีปัญหาและเจ็บป่วย ทำให้รู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน
‘คนสูงวัยควรอยู่ในศูนย์ให้บริการที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและครบเครื่องเรื่องเซอร์วิส’ กับ ‘รวมกันอยู่เป็นครอบครัวใหญ่หลากหลายรุ่น’ แบบไหนที่เหมาะกับสังคมไทยมากกว่า
ในช่วงเวลาที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวนี้ก็มีหลายคำถามเกิดขึ้น การดูแลผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจและจับตามอง ประเทศญี่ปุ่นจัดให้มีการสร้างโครงการโดยเน้นไปที่โครงการที่พักอาศัยเพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นหลัก โดยคนสูงวัยมีมุมมองการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องการเป็นภาระของลูกหลานจึงต้องการแยกตัวออกมาดูแลตัวเอง ทำให้โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากความต้องการมีมากกว่าบริการที่จัดหาไว้ให้ มีผลโดยตรงต่อคุณภาพบริการที่ลดลง ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น จนนำมาสู่การคิดหากทางออกด้วยโมเดลใหม่ๆ
สังคมญี่ปุ่นในวันนี้เริ่มเห็นการรับผู้สูงอายุกลับมาอยู่ที่บ้านมากขึ้น จากเดิมที่มองว่าการอยู่ในศูนย์สำหรับผู้สูงวัยจะเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าการมีผู้ดูแลและกิจกรรมต่างๆให้เพลิดเพลินคลายเหงา แต่ที่สุดแล้วก็พบว่าการอยู่ร่วมกันแบบพร้อมหน้ารุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ และลูกๆ กลับส่งผลดีมากกว่า ทั้งการแสดงความรักความเอาใจใส่ การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชีวิตมีส่วนช่วยกันทำให้มวลความสุขโดยรวมของครอบครัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ครอบครัวของ มิสซาแมนธา อัลเลน (Samantha Allen) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สถาบัน INTERNATIONAL WELL BUILDING INSTITUTE หรือ IWBI ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์สภาพแวดล้อมและวิทยาศาสตร์จิตวิทยา เพื่อช่วยพัฒนาภาพรวมด้านการตลาด การศึกษา และที่สำคัญการนำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานสำหรับอาคาร Well Building Standard และ Well Community Standard มาใช้ในเอเชียแปซิฟิก ก็ได้ใช้ชีวิตครอบครัวที่แวดล้อมไปด้วยคนต่างวัย 3 รุ่น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีและทำให้ได้เห็นความเหมือนและความต่างในสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนที่แตกต่างกันไปในทุกช่วงวัย
‘คุณค่า’ ของครอบครัว
ธรรมชาติการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคนหลายวัยยังคงเป็นเอกลักษณ์เด่นของครอบครัวในฝั่งเอเชียและไทย แม้จะมีความซับซ้อนมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม แต่ความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพของการอยู่อาศัยและสร้างความสุขของการอยู่ร่วมกันในครอบครัวอย่างเป็นสุขยังเป็นปลายทางที่คนในทุกยุคสมัยต้องการ
ที่ผ่านมาครอบครัวเอเชีย/ไทยที่ได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากครอบครัวขยายที่มีคนอยู่ร่วมหลายเจนเนอเรชั่นมาเป็นครอบครัวเดี่ยวในสัดส่วนสูงจนเห็นได้ชัดตั้งแต่ยุครุ่นเบบี้บูมตอนปลายเป็นต้นมา ขณะเดียวกันกลุ่มเบบี้บูม (Babyboomer) เริ่มเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัยหรือสังคมผู้มีอายุยืน (อายุเกิน 55 ปีขึ้นไป) ส่วนใหญ่มักอยู่ในครอบครัวสมัยใหม่ที่มีขนาดเล็กลงจากการแยกตัวจากครอบครัวใหญ่เพื่อออกมาอยู่อาศัยเอง ต้องแข่งขันสูงในการทำงาน การอยู่อาศัยจึงเน้นทำเลที่ตั้งของสถานที่ทำงาน หรือความสะดวกสบายในการเดินทาง นั่นก็ยิ่งทำให้ระยะห่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมีมากขึ้น จนกลายเป็นความเหินห่าง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางครอบครัวต่างๆได้
ดังนั้นเพื่อให้คำว่า ‘ร่วมทุกข์ ร่วมสุข’ ยังคงความหมายลึกซึ้งสำหรับทุกครอบครัวคนไทย ความท้าทายจึงตกมาอยู่ที่ Developer ในการพัฒนาและออกแบบที่อยู่อาศัย เพื่อตอบโจทย์คนทุกรุ่นในการอยู่ร่วมกันแบบต่างวัยแต่หัวใจเดียวกัน