HomeDigitalส่องไอเดีย “สิงคโปร์” ประเทศที่ต้องทำให้ “เงินสด” หายไป ก่อนแปลงกายเป็น Smart Nation

ส่องไอเดีย “สิงคโปร์” ประเทศที่ต้องทำให้ “เงินสด” หายไป ก่อนแปลงกายเป็น Smart Nation

แชร์ :

ต้องยอมรับว่าประเทศสิงคโปร์ เพื่อนบ้านของไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการเติบโตที่น่าสนใจอย่างมาก โดยหากย้อนอดีตประเทศสิงคโปร์ไปเมื่อ 50 ปีก่อนหน้า (ราว ค.ศ. 1969) ข้อมูลของ World Bank ระบุว่า สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับปัญหาคนไร้บ้าน ว่างงาน และสำคัญมากไปกว่านั้นก็คือขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับรองรับการเติบโตของประเทศ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี จากการจัดอันดับของ IMD World Competitiveness ประจำปี 2019 เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล พบว่าสิงคโปร์สร้างชาติจนกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูงเป็นอันดับสองของโลก* ไปแล้วเรียบร้อย

หลายคนอาจมีคำถามว่า สิงคโปร์ทำได้อย่างไร ในจุดนี้อาจต้องย้อนกลับไปที่เป้าหมายของสิงคโปร์อย่างการเป็น Smart Nation ที่ไม่เพียงแต่มีรัฐบาลลงมา “ฟัง” ความต้องการจากทุกภาคส่วน และนำสิ่งที่คนในชาติต้องการไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง แต่รัฐบาลสิงคโปร์ยังใส่ “วิสัยทัศน์” ลงไปในความต้องการเหล่านั้นได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

การเติบโตของสิงคโปร์ในวันนี้

Megacities ที่ไร้เงินสด

หนึ่งในนั้นคือมุมมองเรื่อง Megacities หรือเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป เมื่อผลวิจัยหลายฉบับชี้ตรงกันว่า ในอีกราว ๆ 10 ปีข้างหน้า (ประมาณปี 2030) จำนวนของเมืองทั่วโลกที่จะกลาย Megacities จะเพิ่มขึ้น จาก 33 แห่ง (2019) เป็น 43 แห่ง เนื่องจากคนจะเข้ามาอยู่รวมกันในเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยมากขึ้น

แต่ถ้าลองนึกภาพคนหลายล้านคนต่อคิวจ่ายเงินซื้ออาหาร รอเงินทอน เก็บเงินใส่กระเป๋า ฯลฯ Megacities นั้น ๆ คงเป็นฝันร้ายเสียมากกว่า การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหานี้จึงเป็นเรื่องวัดกึ๋นของรัฐบาลสิงคโปร์พอสมควร และดูเหมือนว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะผ่านพ้นมาได้ด้วยดี โดยสิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำก็คือการลดการใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน

ยกตัวอย่างเคสที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การเปลี่ยนระบบคิดค่าโดยสารรถบัส และรถไฟฟ้า MRT มาสู่เทคโนโลยีการชำระเงินแบบเปิด (Open-Loop) ผ่านเครื่องอ่านแบบ Contactless ที่เริ่มใช้งานเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยผู้ใช้บริการเพียงนำบัตร หรืออุปกรณ์ที่รองรับ (เช่น สมาร์ทวอทช์) มาแตะกับตัวเครื่องอ่าน แล้วก็สามารถเข้าใช้บริการรถไฟฟ้า MRT หรือรถบัสโดยสารได้เลย

ผลก็คือ ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเวลาแลกเหรียญ – ทอนเงินจนต้องต่อแถวยาวเป็นหางว่าว ด้านผู้ให้บริการ MRT เองก็ไม่ต้องจ้างพนักงานมาคอยดูแลในส่วนนี้อีกต่อไป ส่วนในด้านตัวเงินและการบริหารจัดการนั้น สิงคโปร์มีสถานี MRT ทั่วประเทศมากกว่า 100 แห่ง การลดตำแหน่งงานดังกล่าวลง ทำให้องค์กรสามารถประหยัดเงิน รวมถึงนำคนที่มีไปทำงานอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่าได้อีกมากมาย

นักท่องเที่ยวในอดีตอาจคุ้นเคยกับการแลกบัตร EZ-Link เพื่อขึ้น MRT ของสิงคโปร์ แต่ตอนนี้ไม่เฉพาะบัตรของ SCB แต่บัตรของทุกธนาคารที่รองรับเทคโนโลยี Open-Loop สามารถมาใช้งานในรถไฟฟ้า MRT ของสิงคโปร์ได้ทั้งหมด รวมถึงไปใช้งานตามหัวเมืองใหญ่ของโลกเช่น ลอนดอน ซิดนีย์ นิวยอร์ก ฯลฯ ก็ได้ด้วย

ปัจจุบัน หัวเมืองใหญ่ทั่วโลกราว 120 แห่ง อยู่ระหว่างการผนวกเทคโนโลยี Open-Loop Payment เข้าไปกับบริการขนส่งสาธารณะของตัวเอง และมีบางเมืองที่ทำสำเร็จแล้ว เช่น ลอนดอน ซิดนีย์ นิวยอร์ก รวมถึงสิงคโปร์ ซึ่งทำให้คนของเมืองนั้น ๆ สะดวกในการเดินทางมากขึ้น แถมยังทำให้นักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็สามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิทที่ตนเองมีอยู่แล้วมาใช้จ่ายค่าบริการขนส่งสาธารณะได้เลยเช่นกัน

เอกชนก็ต้อง Cashless

นอกจากภาครัฐแล้ว ลองมาดูตัวอย่างจากภาคเอกชนกันบ้าง โดยมีเคสของปั๊ม Caltex ที่ตัดสินใจพัฒนาแอปพลิเคชันชื่อ Caltex Go ขึ้นมาใช้งาน เนื่องจากพบ Pain Point ของลูกค้าชาวสิงคโปร์ว่า รู้สึกเสียเวลาที่หลังจากเติมน้ำมันแล้ว ต้องเดินไปต่อคิวเพื่อจ่ายเงินที่เคาท์เตอร์ ทางบริษัทเลยพัฒนาแอปพลิเคชันให้ผู้ใช้กรอกหมายเลขสถานีปั๊มน้ำมันลงไป ระบบก็จะแสดงผลราคาน้ำมันที่ต้องชำระ และเราสามารถกดปุ่มจ่ายเงินได้จากแอปพลิเคชันโดยตรง ซึ่งถือเป็นการลดการใช้เงินสดได้อีกทางหนึ่ง และ Caltex ยังพบว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวช่วยลดเวลาการรอของลูกค้าลงเหลือเพียงรายละ 20 วินาทีเท่านั้น

(ในกรณีของไทยก็มี Pain Point ในปั๊มน้ำมันเช่นกัน เนื่องจากคนไทยส่วนหนึ่งรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะต้องยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานปั๊มไปรูด แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไข Pain Point นี้อย่างเป็นรูปธรรม)

นอกจากนั้น หากใครมีโอกาสลองทดสอบการใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อทั้ง 7-11, ร้านกาแฟ Starbucks ตลอดจนร้านอาหารต่าง ๆ ในสิงคโปร์ก็พบว่าหันมารับชำระค่าสินค้าผ่านรูปแบบดิจิทัลกันเรียบร้อยหมดแล้วทั้งสิ้น และจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีข้อมูลจาก Visa พบว่า ในทุก ๆ การทำธุรกรรม 100 ครั้ง ชาวสิงคโปร์จะเลือกทำธุรกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลถึง 75 ครั้ง ซึ่งทำให้ Roubini ThoughtLab บริษัทวิจัยผู้ทำการศึกษา 100 เมืองใหญ่ทั่วโลก จัดอันดับให้สิงคโปร์อยู่ในขั้นของเมืองที่ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับ Advance ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน 

หันมาดูประเทศไทย Roubini ThoughtLab พบว่าในธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ การจ่ายเงินเดือนผ่านระบบดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นเกิน 50% ของการทำธุรกรรมทั้งหมดแล้ว มีเพียงธุรกิจขนาดเล็ก (มีพนักงานไม่ถึง 20 คน) เท่านั้นที่ยังคงใช้เงินสด เช่น ธุรกิจที่ต้องจ่ายค่าแรงคนงานแบบรายวัน และนั่นมีส่วนทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมบางอย่างในประเทศตามมา เช่น การขโมยเงินนายจ้าง ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจนั้น ๆ เองในที่สุด ว่าจะดูแลเงินสดที่มีอย่างไร

ด้านคุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นว่า จากแนวทางที่รัฐบาลสิงคโปร์ปรับใช้อยู่นั้น เราพบว่าประเทศไทยเองก็กำลังเติบโตไปในทิศทางดังกล่าว โดยจากผลการสำรวจ Consumer Payment Attitudes 2018 ของวีซ่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ผู้บริโภคในไทยสามารถใช้ชีวิตได้แบบไม่ต้องหยิบจับเงินสดเลยใน 1 วันมากขึ้นเป็น 40% ซึ่งรายงานฉบับนี้ ยังพบด้วยว่า ผู้บริโภคไทย 68% อยากให้ประเทศกลายเป็น Cashless Society ได้ภายใน 7 ปีข้างหน้า เนื่องจากมองว่าปลอดภัยมากกว่าการพกเงินสด อีกทั้งยังสะดวกไม่ต้องต่อคิวรอจ่ายค่าบริการ ฯลฯ และสุดท้ายคือเรื่องของข้อมูล เพราะผู้ใช้งานสามารถ Track การใช้จ่ายได้จากแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน

คุณสุริพงษ์ยังได้กล่าวต่อไปอีกด้วยว่า การชำระเงินแบบ Open-Loop นั้น อาจทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ของโลก เช่น Apple Pay หันมาสนใจตลาดไทยมากขึ้นด้วย เนื่องจากการจะเปิดตัวบริการใด ๆ ก็ตาม บริษัทต้องพิจารณาจาก Ecosystem ของประเทศนั้นก่อนว่าสามารถรองรับการชำระเงินตามมาตรฐานที่ตนเองกำหนดได้หรือไม่

แต่ไม่ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จหรือไม่ ภาพที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ก็กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นั้น ต้องมีบางอย่างหายไป เพื่อแลกกับอะไรบางอย่างที่จะได้เพิ่มขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์คงเลือกแล้วว่า พวกเขาจะทำให้เงินสดค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ และส่วนที่ได้เพิ่มขึ้นมาก็คือข้อมูลการจับจ่ายปริมาณมหาศาลที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้ต่อไปนั่นเอง

————————-

หมายเหตุ* การจัดอันดับของ IMD World Competitiveness ประจำปี 2019 เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ทั้ง 10 อันดับประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, สวีเดน, เดนมาร์ก, สวิสเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, ฟินแลนด์, ฮ่องกง, นอร์เวย์ และเกาหลีใต้

Source

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like