Vision 2020 ของกลุ่มไทยเบฟ ตามแผนธุรกิจ 6 ปี ที่วางไว้ตั้งแต่ปลายปี 2014 เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายของแผนที่วางไว้ โดยเหลืออีกเพียงแค่ 4 ไตรมาส พร้อมกับเป้าหมายที่สามารถพิชิตได้แล้ว ในฐานะ “ผู้นำ” ธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และติด Top 5 ของภูมิภาคเอเชีย เมื่อดูจาก Market Cap ที่มีกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 6 ในแง่ยอดขาย ที่ทำได้กว่า 5,851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
พร้อมทั้งใช้โอกาสแถลงผลการดำเนินงานและทิศทางธุรกิจหลังจบไตรมาส 3 แต่เป็นการก้าวเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพื่อประกาศความพร้อมในการเริ่มขับเคลื่อน Business plan ครั้งใหม่ หรือ Vision 2025 ที่จะเริ่มต้นนับจากปีงบประมาณ 2020 (1 ต.ค.2019 – 30 ก.ย.2020) ไปพร้อมๆ กับการส่งท้ายวิสัยทัศน์ 2020 ที่สามารถประสบความสำเร็จได้ตามแผน
โดยเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่จะใช้ขับเคลื่อน “วิสัยทัศน์ ปี 2025” ของไทยเบฟ ถูกกำหนดไว้ 3 ด้าน คือ 1. การปลดล็อกคุณค่าทางธุรกิจ (Unlock Value) กำหนดไว้ 3 เรื่องหลัก คือ การจัดตั้ง “โฮลดิงส์” กลุ่มสินค้า, การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับผู้นำธุรกิจระดับโลก และการสร้างจุดแข็งทางการเงินที่จะนำไปสู่การสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจ
2.ยุทธศาสตร์การสร้าง (Build) ด้วยการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มการเติบโตให้กับธุรกิจที่สอดคล้องไปกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่าน 4 แกนหลัก ประกอบด้วย การพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กลุ่มพรีเมี่ยม, พัฒนาแพลทฟอร์มดิจิทัล, โฟกัสสินค้าในกลุ่มเพื่อการดูแลสุขภาพ รวมทั้งสร้าง Category จากโปรดักท์ที่เป็น “สารสกัดของพืชในตระกูลกัญชา” (Cannabis) ถึงแม้ว่า คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์ จะไม่ได้กล่าวถึงบนเวที เนื่องจากเวลาอันจำกัด แต่ข้อความดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในสไลด์พรีเซนเทชั่นที่เขานำเสนอกับสื่อมวลชน
หากพิจารณาถึงเหตุผลแวดล้อมต่างๆ ก็จะพบว่า แนวคิดเรื่อง “กัญชา” ที่ไทยเบฟ ใส่เข้ามาในแผน มีแนวโน้มเป็นไปได้อย่างมาก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
– เมื่อในระดับ Global Trend ที่บริษัทเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลกให้ความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สตาร์บัคส์, โคคา-โคลาหรือแม้แต่กลุ่มไฮเนเก้นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจเบียร์ระดับโลก(อ่านเรื่อง Heineken ออกน้ำหมักใหม่ที่ไม่ใช่ “เบียร์” และมีส่วนผสมของ “กัญชา” คลิกที่นี่) ที่มีกระแสข่าวว่ากำลังศึกษาหรือทดลองทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในแคททิกอรี่นี้อยู่เช่นกัน
– เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มไทยเบฟฯ กับคุณเนวิน ชิดชอบ แน่นแฟ้นอย่างมาก เห็นได้จากการเข้าสนับสนุนทีมกีฬา หรือโปรเจ็กท์ต่างๆ ในบุรีรัมย์ ดังนั้นแนวคิดในเรื่องการลงทุนในเรื่องนี้ ที่น่าจะมีแนวทางตรงกันจึงไม่น่าแปลกใจ
“กัญชา” จึงกลายเป็นตลาดใหม่ที่กลุ่มไทยเบฟให้ความสนใจและวางไว้ในยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต
3.จุดแข็ง (Strengthen) ข้อได้เปรียบที่ช่วยให้ไทยเบฟแข็งแกร่งและเป็นหนึ่งใน Key Strategy ต่อเนื่องมาจาก Vision 2020 คือ ความแข็งแรงในเรื่องของ Brands และ Reach จากการมีเครือข่ายสินค้าและช่องทางการจำหน่ายครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม วางกลยุทธ์ไว้ 4 เรื่อง คือ การเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรต่างๆ , การขยายแบรนด์และช่องทางการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ, การสร้างแบรนด์ที่ทำกำไร, การขยายธุรกิจสุราในเวียดนาม และขยายธุรกิจสุราและเบียร์ในเมียนมาร์
สำหรับการขับเคลื่อน Vision 2025 กลุ่มไทยเบฟ จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเริ่มต้นที่นับจากปีงบประมาณ 2020-2022 เป็นเฟสแรก ตามมาด้วยเฟสที่สอง ที่จะสตาร์ทตั้งแต่ปีงบประมาณ 2023-2025 และจะใช้ฐานจากปี 2025 ซึ่งแต่ละช่วงใช้เวลา 3 ปี โดยคุณหนุ่ม-ฐาปน บอกว่า 3 ปีแรกจะเป็นช่วงที่เรียนรู้ ลงหลักปักฐาน และถ้าใช่ตามที่คิด 3 ปีต่อมาก็จะพุ่งทะยานไปในแนวทางนั้น แล้วหลังจากนั้นก็จะจุดสตาร์ทการขับเคลื่อนธุรกิจสำหรับ Vision 2030 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันของยุทธศาสตร์และทิศทางในการขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตต่อไป
Vision 2025 ขยายตลาดสู่ ASEAN+6
ภายในงานแถลงข่าวประจำปีของกลุ่มไทยเบฟ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์ ได้ตอกย้ำวิชั่น 2020 ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปลายปี 2014 ซึ่งปัจจุบันเข้าโค้งสุดท้ายของแผนดังกล่าว และกำลังจะสตาร์ทยุทธศาสตร์ใหม่ผ่านวิสัยทัศน์ 2025 ซึ่งต้องถือได้ว่าบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในกลุ่มอาเซียนตามที่ได้ประกาศไว้ พร้อมเป้าหมายใหม่ที่ต้องการขยายตลาดให้กว้างขึ้นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในตลาด ASEAN+6
แผนธุรกิจปีนี้ยังคงโฟกัสการทำตลาดในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี สูงสุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ยืนยันได้ด้วยตัวเลขของ IMF และธนาคารโลก ที่คาดการณ์ว่าจากปี 2019 ไปถึงปี 2025 จีดีพีอาเซียน จะเติบโต 54% จำนวนประชากรจาก 660 ล้านคน ปี 2019 จะขยับไปเป็น 704 ล้านคน ในปี 2025 และนักท่องเที่ยวอีก 120 ล้านคน ที่เดินทางในภูมิภาคนี้ และหากรวมอาเซียน บวกอินเดียและจีน นั่นคือโอกาส ของธุรกิจในอาเซียนที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะที่ ในภูมิภาคเอเชีย “ไทยเบฟ” มียอดขายอยู่อันดับ 6 ด้วยตัวเลขยอดขาย 5,851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ย.2019) พร้อมทั้งตำแหน่ง “ผู้นำเครื่องดื่มครบวงจร” ในกลุ่มอาเซียน โดยในแผนปี 2020 จะมีการลงทุนอีกราว 7,000 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศไทย หลังจากปีนี้ “เบียร์ช้าง” ก้าวสู่ปีที่ 25 งบประมาณอีกส่วนจะใช้พัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่
และเมื่อจบวิชั่น 2020 ในปีนี้ ก็จะเป็นการเริ่มต้น วิชั่น 2025 โดยตลาดที่มีศักยภาพเติบโต ยังคงเป็นประเทศที่อยู่โดยรอบไทย และนั่นหมายถึงโอกาสในการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนราว 35%
“ในปี 2025 ผมมองไปถึงอาเซียน+6 ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่าครึ่งโลก มีประเทศที่จีดีพีโตสูง กลุ่มประเทศที่ต้องจับตามอง เรียกว่า MTV คือ เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม ที่มีประชากรกว่า 220 ล้านคน เท่ากับ 2 มณฑลใหญ่ๆ ของจีน และเรามองเห็นโอกาสจากการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของโลกผ่านโครงการสำคัญ Belt Road Initiative ของประเทศจีนอีกด้วย”
ปัจจุบันไทยเบฟ เข้าไปลงทุนโรงงานสุราและเบียร์ในเวียดนามและเมียนมาร์แล้ว ส่วนตลาดที่กำลังเติบโตอย่าง “กัมพูชา” ก็มองหาโอกาสเข้าไปลงทุนเช่นกัน แต่หลังจากปี 2018 ลงทุนครั้งใหญ่ ซื้อหุ้น 53.59% ในบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก้ (Sabeco) มูลค่า 156,000 ล้านบาท ในวิชั่น 2025 ก็ต้องกลับมาดูเรื่องการลดภาระหนี้สินเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน แต่การลงทุนระดับบิ๊ก M&A ก็มีอยู่ในแผนเช่นกัน
กลุ่มธุรกิจของไทยเบฟที่มีแนวโน้มเติบโตสูง คือกลุ่ม “นอน แอลกอฮอล์” ซึ่งก็เป็นไปตามเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนานวัตกรรมเครื่องดื่มหลังจากนี้ มองเรื่องกลุ่มเครื่องดื่ม “ทางเลือก” สุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสจากสังคมสูงวัยในไทยและสิงคโปร์ เพราะหากดูการเติบโต ปริมาณ และโอกาสด้านบริโภค แน่นอนว่าโอกาสของการดื่มเครื่องดื่ม นอน แอลกอฮอล์ ใน 1 วัน ย่อมมีมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงถือเป็นโอกาสของการขยายธุรกิจกลุ่มนอน แอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่ทิ้งโอกาสของกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีกำไรสูง
นอกจากยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจ “ไทยเบฟ” วางแผนด้านไอทีในโลกยุคดิจิทัลไปถึง ปี 2030 และกำหนดแผนพัฒนาคนไปถึงปี 2050 เพราะคนที่จะเป็นผู้บริหารในปี 2050 นับไปจากปีนี้ 30 ปี นอกจากนี้ได้เตรียมแผนพัฒนาบุคลากร 60,000 คน เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีในอนาคต โดยต้องส่งเสริมเรื่องทักษะ และศักยภาพ Upskill บางส่วนต้อง Reskill ทำให้ต้องวางแผนเรื่องบุคลากรยาวถึง 30 ปี