เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนที่มีภาระจับจ่ายเยอะ ต้องเคยเจอกับสถานการณ์เงินช็อตก่อนสิ้นเดือน หากจำเป็นต้องใช้ ทางออกจึงไปจบที่ “เงินกู้นอกระบบ” ดอกเบี้ยโหด ที่สร้างปัญหาภาระหนี้สินตามมาไม่จบ ธนาคารไทยพาณิชย์ จับปัญหานี้มาออกบริการใหม่ “เบิกเงินล่วงหน้า” เพิ่มทางรอดก่อนวันเงินเดือนออก
ปัจจุบันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ 78.6% สาเหตุการก่อหนี้มีหลายรูปแบบ จากสำรวจของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในกลุ่มตัวอย่างพนักงานบริษัท “ที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท” พบว่า 70% ของมนุษย์เงินเดือนกลุ่มนี้ ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ขณะที่ 80% เคยผ่านการกู้เงินนอกระบบมาแล้ว
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า มนุษย์เงินเดือน 88% มียอดเงินกู้น้อยกว่า 15,000 บาท ขณะเดียวกัน 59% ระบุว่า ปัญหาหนี้สินทำให้พวกเขามีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับผลวิจัยของสหรัฐฯ ที่สำรวจผลจากการมอบสวัสดิการนี้ให้กับพนักงาน พบว่า สวัสดิการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน สร้างความผูกพันกับองค์กร ช่วยให้อัตราการลาออกของพนักงานลดลง 28% และลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาบุคลากร ซึ่งในต่างประเทศมีการมอบสวัสดิการเช่นนี้อย่างแพร่หลาย
เปิดบริการ “มีตังค์” เบิกเงินล่วงหน้า
จากอินไซต์ของมนุษย์เงินเดือน ที่ใช้เงินไม่ชนเดือน ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงนำมาพัฒนาบริการใหม่เป็นธนาคารแรกกับบริการ “เบิกเงินล่วงหน้า” (On-Demand Access Wages) ก่อนวันเงินเดือนออก ผ่านฟังก์ชั่น “มีตังค์” บนแอปพลิเคชั่น SCB Easy ให้กับมนุษย์เงินเดือนที่บริษัทจ่ายเงินเดือนผ่านระบบ SCB Payroll Solution ของธนาคารไทยพาณิชย์
สำหรับคนที่กำลังสนใจอยากใช้บริการ “มีตังค์” ต้องบอกว่าขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงของการทดลองใช้งาน เบื้องต้นได้ร่วมกับ “วิลล่ามาร์เก็ท” และ “อำพลฟู้ดส์” ให้พนักงานของทั้งสองบริษัท ที่อยู่ในความดูแลมากกว่า 1,000 คนได้ทดลองเบิกเงินล่วงหน้ากันก่อน ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
- บริษัทนายจ้างจะคัดเลือกพนักงานกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ได้รับสิทธิ์นี้ โดยสามารถเบิกเงินเดือนได้เท่ากับจำนวนวันที่ได้ทำงานจริงมาแล้วในเดือนนั้นๆ สูงสุดไม่เกิน 50% ของเงินเดือน หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน (หรือตามที่นายจ้างกำหนด)
- สามารถเบิกเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน มีตังค์ ในแอปพลิเคชั่น SCB Easy โดยธนาคารจะหักเงินคืนในการจ่ายเงินเดือนครั้งถัดไป และคิดค่าธรรมเนียมการเบิกเงินล่วงหน้า 1,000 ละ 20 บาท ไม่มีดอกเบี้ย เพราะไม่ใช่การกู้เงิน
ข้อดีของบริการดังกล่าว นอกจาก “ช่วยต่อชีวิตมนุษย์เงินเดือน” แล้ว ยัง “ลดภาระของนายจ้าง” โดยไม่ต้องใช้เงินสำรองในบริษัทเพื่อจัดทำสวัสดิการเบิกเงินล่วงหน้า นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงในการเป็น “หนี้นอกระบบ” ของพนักงานด้วย โดยทาง SCB จะต้องรายงานความคืบหน้ากับธนาคารแห่งประเทศไทยในลำดับถัดไป
บริการใหม่เสริมรายได้ SCB
จากการทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ ร่วมกับบริการอื่นๆ ปีนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า จะสามารถขยายบัญชีเงินเดือนเพิ่มได้กว่า 20% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าบัญชีเงินเดือนอยู่ที่ 2 ล้านบัญชี
การที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารขนาดใหญ่ ที่ให้บริการผู้บริโภคในระดับแมส จึงทำให้มีฐานลูกค้า “บัญชีเงินเดือน” (Payroll) จำนวนไม่น้อย แต่ก็ต้องขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไป เพราะบัญชีเหล่านี้ มีความมั่นคงตรงที่ บริษัทโอนเงินเดือนเข้าบัญชีทุกเดือน แถมยังเป็น “บัญชีหลัก” ที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ทำธุรกรรมสารพัดอย่างผ่านบัญชีนี้ การกระตุ้นให้ลูกค้า Payroll เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งในยุค Data-Driven เช่นในปัจจุบันนี้ แถมเงื่อนไขที่ราวกับเบิกเงินล่วงหน้า ทำให้การันตีได้ว่า ลูกค้ารายนี้ ถึงแม้จะยืมไป แต่ก็ใช้คืนในเดือนหน้าแน่ๆ
ปกติแล้วการ “เป็นหนี้” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น เพราะเกิดความกระอักกระอ่วน มีเพียงช่วงเวลาหลังจากได้เงินไม่กี่นาทีเท่านั้นที่ลูกหนี้รู้สึกดี บริการให้อย่าง “มีตังค์” ที่เข้ามาตอบสนองอินไซต์นี้ เพื่อทำให้การเป็นหนี้ลดขั้นตอน ลดความยุ่งยาก ที่ต้องมีคนอื่นๆ ในออฟฟิศรู้เรื่อง กลายเป็น Win-Win-Win Situation ที่ลูกค้าเองก็วินเพราะมีเงินไปหมุน ง่ายขึ้น ส่วนธนาคารเองก็ได้ลูกค้าที่อาจเรียกอย่างง่ายๆ แต่ไม่ถูกต้องตรงตามหลักการนักว่า Personal Loan ที่ผู้กู้ก็จ่ายเงินคืนในเดือนถัดไปเป๊ะ ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของชาติเองไม่อยากให้เกิด “หนี้นอกระบบ” ที่นำมาซึ่งดอกบี้ยมหาโหด, การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม การกู้ที่เกิดในระบบผ่านธนาคาร ถึงอย่างไรก็มีขั้นตอนการทวงหนี้ที่เป็นขั้นเป็นตอนกว่า
น่าสนใจว่า ในอนาคตหากมีการเปิดให้บริการ “มีตังค์” กับผู้มีบัญชีเงินเดือนกับ SCB เป็นการทั่วไปแล้ว สิ่งสำคัญของมนุษย์เงินเดือนคือ “วินัยทางการเงิน” ในการเบิกเงินมาใช้ล่วงหน้ายามฉุกเฉินกรณีที่จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่การจับจ่ายเงินเกินตัวที่จะสร้างปัญหาหนี้สินตามมา