HomeBrand Move !!ไอเดียปังๆมาได้ยังไง เทคนิคการเหลา “ความคิด” ให้ “สร้างสรรค์” สไตล์ ยายป๋อมแป๋ม

ไอเดียปังๆมาได้ยังไง เทคนิคการเหลา “ความคิด” ให้ “สร้างสรรค์” สไตล์ ยายป๋อมแป๋ม

แชร์ :

เป็นประจำทุกปี สำหรับ BRAND’S SUMMER CAMP กับการสวมบทบาทในฐานะพี่เลี้ยงช่วยเตรียมความพร้อม และปูทางให้กับน้องๆ เยาวชน​ ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งทำต่อเนื่องมากว่า 3 ทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะการเสริมความแข็งแรงด้านวิชาการ ผ่านการติวเข้มวิชาสำคัญ​ รวมไปถึงการเก็งข้อสอบ เป็นแนวทางในการเตรียมตัวให้น้องๆ จากบรรดาติวเตอร์ตัวท็อปชื่อดังระดับประเทศ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

และในปี 2019 กับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 31 ได้เพิ่มความพิเศษมากขึ้น ด้วยคอนเซ็ปต์ BRAND’S SUMMER CAMP PLUS+ ที่นอกจากจะได้ความรู้แบบอัดแน่น จัดเต็มเหมือนเดิมทุกปีแล้ว ยังได้เพิ่มพาร์ท TALK & WORKSHOP ​เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้น้องๆ ในการอัพเกรดมุมมอง “เพื่อรู้เรื่องอนาคต” และ “รู้จักตัวเอง” ว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่ อาชีพไหนที่เหมาะกับเรา ผ่านพี่ๆ คนดังที่มีประสบการณ์ในแต่ละสายอาชีพมาอย่างโชกโชน

โดยเฉพาะในส่วนของ WORKSHOP ที่เนื้อหาในแต่ละห้องลงลึกไปถึงการฝึกทักษะสำคัญ เพื่อให้น้องๆ เข้าใจทักษะจำเป็นที่ต้องมีในแต่ละสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นห้องครีเอทีฟ ห้องสิ่งแวดล้อม ห้อง VLOG และห้อง PORTFOLIO ซึ่งล้วนแต่เป็นสายงานที่ได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้

คิดอย่างไรถึงเรียก “ครีเอทีฟ”

สำหรับห้องครีเอทีฟนั้น มีตัวจริงอย่าง “ยาย” หรือ พี่ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร ซึ่งมีประสบการณ์เชี่ยวชาญในสายงานครีเอทีฟและความคิดสร้างสรรค์​ ทั้งในฐานะพิธีกร ครีเอทีฟ และโปรดิวเซอร์รายการ จากช่อง GMM TV  มารับหน้าที่เป็นโค้ชเพื่อช่วยฝึกฝนทักษะที่จำเป็นสำหรับสายงานด้านการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมถ่ายทอดวิธีคิด วิธีสร้างสรรค์งาน รวมทั้งสร้างความเข้าใจทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการทำงานสื่อสารและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้กับน้องๆ ได้อย่างถูกต้อง

ระหว่างการเวิร์กช็อปนั้น​ พี่ป๋อมแป๋ม พยายามทำความเข้าใจกับน้องๆ ให้สามารถแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่าง “ความคิด” และ “ความคิดสร้างสรรค์” ที่ความหมายไม่เหมือนกัน เพราะ ความคิดสร้างสรรค์ คือ วิธีคิดอย่างเป็นระบบ ระเบียบ คิดในมุมที่แตกต่างออกไป ต่างจากการคิดทั่วไป ที่จะเป็นการคิดไปเรื่อยๆ คิดโดยไม่มีกรอบใดๆ ให้ยึดถือ และไม่ใช่วิธีการคิดของคนที่จะมาอยู่ในสายงานเครีเอทีฟ เพื่อที่จะนำไปประกอบเป็นสัมมาอาชีพได้

“อันดับแรก​ ต้องห้ามคิดว่า “งานคิด” เป็นงานง่าย เพราะมองว่า​ ทุกคนใช้ความคิดกันทุกวันอยู่แล้ว แต่งานครีเอทีฟเป็นหนึ่งในงานวิชาชีพ ที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ไม่ต่างจากหมอ สถาปนิก หรือวิศวกร ที่ต้องฝึกฝนและต้องใช้ทักษะเช่นเดียวกัน ดังนั้น การคิดแบบครีเอทีฟ จึงเป็นการคิดในรูปแบบที่แตกต่างไปจากการคิดแบบธรรมดาสามัญทั่วไป แต่ต้องฝึกคิดอย่างมีระบบ คิดในมุมที่แตกต่าง คิดให้รอบด้าน และคิดอย่างมีบูรณาการ เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายสำคัญของการทำงานครีเอทีฟ ก็คือ​เรื่องของการสื่อสารนั่นเอง”

ในเวิร์กช็อปครั้งนี้ ​พี่ป๋อมแป๋ม ได้เตรียมเกมและกิจกรรมต่างๆ มาให้น้องทำ เพื่อให้เข้าใจ และฝึกให้มีความคุ้นเคยกับ Skill สำคัญ ที่คนอยากเป็นครีเอทีฟจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะ 4 เรื่อง ต่อไปนี้

1. การคิดนอกกรอบ : ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่า การคิดนอกกรอบต้องเป็นการคิดในสิ่งใหม่ หรือสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้อง แต่เป็นเพียงแค่การคิดในมุมใหม่ คิดในมุมที่แตกต่างไปจากวิธีเดิมๆ หรือการมองของบางสิ่งบางอย่างในบริบทใหม่ หน้าที่ใหม่ ผ่านเกมที่ฝึกให้น้องๆ หัดมองของที่คุ้นเคยใกล้ตัว ว่านอกจากเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้วอย่างขวดน้ำ กรวย หรืออุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ยังสามารถนำไปทำเป็นอะไรในรูปแบบใหม่ๆ ได้อีก

การคิดนอกรอบ ไม่มีผิด ไม่มีถูก เพราะเป็นการเรียนรู้ เป็นการลองของใหม่ แต่สิ่งสำคัญคือ ก่อนจะคิดนอกกรอบได้นั้น ต้องเข้าใจกรอบที่มีก่อนว่าคืออะไร เพื่อให้เป็นการทำนอกกรอบอย่างเข้าใจ มากกว่าการทำแบบหลุดกรอบไปเพราะความไม่รู้ ต้องมาจากความตั้งใจ หรือจงใจที่จะทำบางอย่างให้หลุดจากกรอบเดิมๆ แต่ยังอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องของจรรยาบรรณหรือจริยธรรมต่างๆ เช่น การพูดคำหยาบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ไม่ควรทำ แต่ในรายการเพื่อความสนุกสนาน หรือให้มีความเป็นธรรมชาติในกลุ่มเพื่อน แต่เมื่อเวลาออกอากาศก็ต้องหาวิธีการเซ็นเซอร์ ที่ทำให้ยังมีความสนุกสนาน​ในรายการ แต่ขณะเดียวกันก็ยังทำให้รายการยังเป็นรายการที่สามารถดูได้โดยไม่เป็นพิษภัยกับใคร

2. การสื่อสาร : ซึ่งเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์สำคัญของการทำงานครีเอทีฟ ซึ่งเป็นการส่งสาร หรือถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้ตอบโจทย์คน 3 กลุ่ม คือ ตอบโจทย์คนดู ตอบโจทย์ลูกค้า และตอบโจทย์เจ้านาย ดังนั้น การทำงานสร้างสรรค์จึงไม่ใช่การทำงานเพื่อตอบโจทย์หรือตามใจตัวเอง แต่ต้องเข้าใจและสามารถบาลานซ์โจทย์จากทั้ง 3 กลุ่มที่เราต้องการจะสื่อสารด้วย ซึ่งมักจะมีความคาดหวังที่แตกต่างและไม่เหมือนกัน ภายใต้สารชิ้นเดียวกัน

ที่สำคัญ แม้ครีเอทีฟ จะเป็นงานที่ต้องใช้ความคิด แต่ “งานคิด ไม่ใช่งานแบบ Passive” หรือเป็นงานแบบตั้งรับ ที่รู้คนเดียว เข้าใจคนเดียว แต่ต้องสามารถถ่ายทอดความรู้ หรือความคิดที่ตกผลึกได้นั้นๆ ออกไปให้กับผู้รับสารหรือคนโดยรอบ ไม่ว่าจะผ่านการพูด การเขียน หรือการแสดงออกต่างๆ และคนที่ “สื่อสารเก่ง” ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนพูดเก่ง แต่หมายถึงคนที่พูดรู้เรื่อง ซึ่งนอกจากจะพูดรู้เรื่องแล้ว ก็ต้องเป็นคนที่ฟังรู้เรื่องด้วยเช่นกัน

โดยกิจกรรม ที่ใช้เพื่อฝึกให้น้องๆ  มีทักษะที่ดีในการสื่อสาร จะเป็นการสรุปนิทานที่คุ้นเคยกันดี อย่างสโนไวท์  หรือ  ซินเดอเรลล่า  ภายใต้โจทย์ คือ เวลาที่ต่างกัน ตั้งแต่กลุ่มที่ได้เวลามาก เวลาพอประมาณ ไปจนถึงเวลาสั้นๆ แค่ไม่กี่วินาที ​โดยเรื่องที่เล่าออกมานั้น ต้องสามารถถ่ายทอดสาระสำคัญหรือแก่นของเรื่องเอาไว้ หรือรู้จักขมวดหรือสรุปปมต่างๆ ได้ แต่หากมีเวลามากก็ไม่ควรลืมใส่รายละเอียด เพื่อเพิ่มอรรถรสของเรื่องราวหรืองานสื่อสารให้มีความสมบูรณ์ได้มากขึ้นนั่นเอง

3. การฝึกคิดให้รอบ คิดให้ครบถ้วน : โดยให้น้องแต่ละกลุ่มจินตนาการถึงมนุษย์ขึ้นมาหนึ่งคน แล้วถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของคนนั้นออกมาว่ามีความน่าสนใจอย่างไร เป็นคนแบบไหน และอธิบายได้ว่าการที่ต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการเป็นคนแบบใดแบบหนึ่ง มีสาเหตุมาจากอะไร

ซึ่ง ทักษะของการฝึกคิดอย่างรอบด้านนี้ จะเป็นการสร้างทักษะพื้นฐานที่สำคัญของงานเขียนบท เพื่อนำไปวางเป็นคาแร็คเตอร์ของตัวละครต่างๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงเรื่องราวอย่างมีเหตุ มีผล สามารถอธิบายได้ว่า การมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้น จะนำไปสู่ผลบางอย่างตามมาเช่นกัน

4. การคิดอย่างมีบูรณาการ : เป็นการประยุกต์วิธีคิด เพื่อหารูปแบบหรือวิธีการในการสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่าง โดยไม่จำเป็นต้องหาสิ่งใหม่ เพียงแต่เป็นการปรับจากของที่มีอยู่แล้ว หรือการผสมผสานของที่มีอยู่ สิ่งเดิมๆ ที่คุ้นเคยอยู่แล้ว มาเรียงร้อย มาเล่าเรื่องแบบใหม่ โดยเฉพาะการจับวางของ 2 สิ่งที่ไม่คิดว่าจะอยู่ด้วยกันได้ หรือไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันมาไว้ด้วยกัน ภายใต้ New Element ทำให้เกิดเป็นแคมเปญที่แปลกใหม่ หรือสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่าง ออกมาได้

โดยมิชชั่นในเกมนี้จะเป็นการฝึกให้น้องๆ ได้มีโอกาสคิดและทำงานแบบครีเอทีฟจริงๆ โดยไอเดียที่ดีจากการเล่มเกมนี้ พี่ป๋อมแป๋ม จะนำไปต่อยอดเป็นการผลิตคอนเทนต์เพื่อออกอากาศจริง ในรายการทอล์ก กะ เทย วันไนท์ ช่วง Free Form พร้อมทั้งมอบรางวัลให้กับทีมชนะเลิศ ที่ทางรายการคัดเลือกไอเดียไปต่อยอดเป็นคอนเทนต์ในรายการอีกด้วย

ความเข้าใจผิดๆ ของงานครีเอทีฟ

ในฐานะที่ทำงานและมีประสบการณ์ในสายงานครีเอทีฟมายาวนาน พี่ป๋อมแป๋มมีมุมมองว่า วงการงานครีเอทีฟมีความน่าสนใจและความท้าทายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็มองเห็นความเข้าใจผิดของเด็กรุ่นใหม่ที่มองงานด้านความคิดสร้างสรรค์ผิดไปจากความเป็นจริงอยู่บ้าง โดยเฉพาะใน 3 เรื่องสำคัญ  ต่อไปนี้

1. หลายคนเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ หรือเรียนด้านการสื่อสาร เพราะมองว่าไม่รู้จะเรียนอะไร เพราะคิดว่าเรียนง่าย หรือไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะ หรือ Skill อะไรมากนัก ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะไม่มีอะไรง่าย งานสื่อสาร เป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญและทักษะไม่ต่างจากวิชาชีพอื่นๆ เช่นเดียวกัน

2. หลายคนเลือกเรียนนิเทศศาสตร์เพื่อเป็นประตูให้เข้ามาในวงการบันเทิง ซึ่งเป็นคนละเรื่องและคนละศาสตร์ งานนิเทศฯ เป็นงานเบื้องหลัง งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นงานด้านการสื่อสาร ขณะที่งานบันเทิงเป็นเรื่องของการแสดง ที่อยู่เบื้องหน้า ดังนั้น คนที่จะเข้ามาต้องมีเป้าหมายในการเข้ามาเพื่อทำงานสื่อสารไม่ใช่งานบันเทิง

3. ต้องเข้าใจทักษะของคำว่าการสื่อสาร ที่ไม่ใช่มีเพียงแค่การคิด หรือพูด แต่ยังหมายถึงการรับฟัง ความสามารถในการเข้าใจและตีความได้อย่างถูกต้องและรู้เรื่อง มีหลายคนที่พูดเก่ง แต่ไม่ได้แปลว่าสื่อสารเก่ง เพราะฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ไม่เก็ท ทำให้ไม่สามารถจับแก่นอะไรเพื่อสื่อสารออกมาได้ ซึ่งจำเป็นต้องไปฝึกทักษะในเรื่องเหล่านี้มาใหม่ด้วยเช่นกัน

แล้วคนแบบไหนที่พี่ป๋อมแป๋มมองว่า อาจจะยังไม่ใช่ ยังไม่แมตช์กับงานด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะงานด้านครีเอทีฟที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

“คนที่ไม่พยายามในการหา Input ใหม่ๆ ให้ตัวเอง โดยเฉพาะคน 2 ประเภทนี้ คือ คนที่ไม่สนใจความเป็นไปของสิ่งรอบข้าง หรือคนที่เลือกสนใจแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ อยากรู้แค่นี้ สนใจแบบนี้ ดูเฉพาะอย่างนี้ แต่ถ้าไม่ชอบก็เลือกที่จะไม่รู้ ไม่ดู ไม่ศึกษา ไม่อยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมให้ตัวเองเลย ทำให้เวลาที่ต้องการใช้ความคิดใหม่ หรือมองหาสิ่งใหม่ๆ จะมีลิ้นชักน้อย โฟลเดอร์ความคิดในเรื่องต่างๆ จะน้อย ทำให้ดึงออกมาใช้ไม่ได้เพราะไม่มีของใหม่ ซึ่งคนในกลุ่มนี้อาจจะดีกับงานบางอย่าง งานบางประเภท แต่สำหรับในสายงานครีเอทีฟ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อาจจะไม่ใช่ทางของคุณ”

นอกจากนี้  ในหลายๆ ครั้งที่เรามักได้ยินคำว่า “หมดมุข” “หมดไฟ” ในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ พี่ป๋อมแป๋ม มองว่า จริงๆ แล้ว ความสร้างสรรค์ไม่มีวันหมด ถ้าเรามีของมากพอ เพราะเราไม่จำเป็นต้องใช้ของใหม่ หรือคิดใหม่ตลอด เพียงแค่มองมุมใหม่ หรือการจับคู่ของบางสิ่งบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะเข้ากัน หรืออยู่ด้วยกันได้ มาจัด มาวาง มาเล่าเรื่องใหม่ ก็จะทำให้เกิดไดนามิคใหม่ ไม่ต่างกับหลักการทางพลังงานทั่วไป ที่เมื่อของ 2 สิ่ง มาปะทะกันในทิศทางใหม่ ก็จะเกิดแรงพุ่ง แรงปะทะ และสามารถเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ ที่แตกต่างออกไปจากทิศทางเดิมๆ ได้นั่นเอง

พี่ป๋อมแป๋ม ยังทิ้งท้ายไว้ว่า เด็กทุกวันนี้ต้องถือว่าโชคดี เพราะมีตัวช่วย และมีตัวเลือกมาก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า เราต้องการอะไร หรืออยากไปอยู่ตรงจุดไหนกันแน่ ซึ่งการมาเวิร์กช็อปในครั้งนี้อาจจะยังไม่สามารถให้คำตอบได้แบบฟันธง 100% แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถจุดประกายบางอย่าง หรือช่วยบอกเส้นทางที่น้องๆ ต้องการจะเลือกเดินได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้มากขึ้น ว่าทางที่เราจะเลือกเดินไปนั้นใช่ตัวเรา หรือทางที่เราต้องการหรือไม่ ซึ่งหากใครเดินเข้ามาแล้วมองว่าไม่ใช่ ไม่ชอบ ก็ต้องกลับมาถามตัวเองว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้

“สิ่งหนึ่งที่ป๋อมแป๋มเชื่อมั่นคือ ทุกอย่างฝึกได้  พี่เคยมีน้องในทีมซึ่งไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย ทำให้มีข้อจำกัดในการหา Reference เพราะจะดูได้แค่งานที่เป็นภาษาไทยหรือต้องมีซับไทเทิล ​และแน่นอนว่าไม่เพียงพอ น้องก็ต้องเลือกว่าจะยอมแพ้อยู่แค่นี้ จะทนฟังไปแบบไม่เข้าใจ หรือไปเรียนเพิ่มเติม ซึ่งน้องก็เลือกที่จะสู้ ไม่ยอมแพ้ และพยายามที่จะขวนขวายและพัฒนาตัวเองเพิ่มเติม จนตอนนี้กลายเป็นครีเอทีฟคู่ใจป๋อมแป๋มไปแล้ว”

 


แชร์ :

You may also like