HomeAD“เป็น-อยู่-คือ” 3 เทคนิคพลิกแพลงกระบวนท่า ให้คิดกี่ครั้งก็ยัง “ครีเอทีฟ” 

“เป็น-อยู่-คือ” 3 เทคนิคพลิกแพลงกระบวนท่า ให้คิดกี่ครั้งก็ยัง “ครีเอทีฟ” 

แชร์ :

หลังจากที่คราวก่อนเราได้นำเสนอถึง 20 วิธีช่วยชีวิตคนคิดงานไม่ออก กันไปแล้ว แต่ “การคิดงานให้ออก” เป็นเพียงการปลดล็อก “ไอเดีย” ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของผลิตชิ้นงานเท่านั้น แต่สิ่งที่คนทำงานครีเอทีฟต้องฝ่าฟันในขั้นต่อไป คือ “การสร้างสรรค์ชิ้นงานนั้นให้ออกมาปังให้ได้” และระดับความยากจะเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อคุณตั้งใจปั้นงานชิ้นที่ 2 ให้ดังตามไป แต่ผลสุดท้ายมันกลับ แป้ก !!!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ที่เป็นเช่นนี้เพราะคุณกำลังติดกับดัก “กระบวนท่า” ในการทำงาน พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ คุณตั้งสูตรสำเร็จของตัวเองขึ้นมา เพราะคิดว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้งานชิ้นต่อไปประสบความสำเร็จเหมือนเดิม ก็ต้องบอกว่าเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องนัก

ในงาน วันความคิดสร้างสรรค์แห่งชาติ 2019” จัดโดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย คุณสุบรรณ โค้วChief Creative Officer, Dentsu One (Bangkok) ครีเอทีฟผู้มากด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีในวงการโฆษณา ได้มาร่วมแชร์ถึงแนวคิด เป็น อยู่ คือให้คนทำงานสร้างสรรค์นำไปต่อยอดเป็นกระบวนท่าของตัวเองได้อย่างไม่รู้จบ จนกลายเป็น ไร้กระบวนท่า ซึ่งเหนือกว่าทุกกระบวนท่า!!!

“เป็น” ตัวของตัวเอง

บางครั้งเราพยายามจะเป็นแบบคนอื่น แต่ลืมไปว่าเป็นตัวเองเป็นได้นานกว่า 

เมื่อทำงานไปสักพัก สิ่งที่คิด สิ่งที่แสดงออก รวมถึงสิ่งที่เป็น จะถูกหล่อหลอมจนกลายเป็นตัวตนของคุณ ฉะนั้นการเป็นครีเอทีฟจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก อย่างการแต่งตัวตามเทรนด์ หรือการไม่แต่งตัวตามเทรนด์ เพราะกลัวจะซ้ำ คุณอาจจะไม่สนใจแฟชั่น แต่งตัวบ้านๆ ก็ยังได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญไปกว่าสิ่งที่อยู่ภายในเลย

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น คุณสุบรรณ ได้กล่าวถึง นักร้องหญิงรางวัลแกรมมี่ (Grammy Award) ที่ต้อง สร้างความโดดเด่นตั้งแต่วันเปิดตัว” โดยใส่ความเป็นตัวเองบวกกับความคิดสร้างสรรค์ลงไปในโชว์เปิดตัว และส่วนใหญ่ก็ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อใดคุณทำสิ่งใหม่ ยิ่งมีโอกาสที่คนจะมองมากขึ้น 

“Lady Gaga” ที่ไม่ว่าจะเปิดตัวเพลงใหม่อีกกี่เพลง หรือกี่อัลบั้มก็ยังขายได้ เพราะเธอไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์เดิมๆ ใส่ความเป็นครีเอทีฟที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา และที่สำคัญคือ ทุกครั้งเธอแสดงความเป็นตัวของตัวเองให้ทุกคนได้เห็น

แต่ถ้าหากอยากดังให้นานกว่านั้น นอกจากการที่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เก่งด้านไหนแล้ว ยังต้องพร้อมปรับเปลี่ยน หรือทำสิ่งใหม่ๆด้วย นอกจากนี้อย่าลืมใส่ใจจุดอ่อนของตัวเอง คุณจะต้องบาลานซ์ระหว่างจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองให้ดี เพื่อไม่ให้หลงไหลไปกับความเก่ง หรือความสำเร็จของตัวเอง

“อยู่” ให้ครีเอทีฟ 

เป็นธรรมดาของคนทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ มักจะออกไปหาแรงบันดาลในการทำงานจากการเสพงานอาร์ต เดินชิคๆ อยู่ตามหอศิลป์ หรือหลายคนยอมจ่ายเงินซื้องานดีไซน์ เพราะรู้สึกว่าเป็นการจ่ายเงินที่คุ้มค่า เราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า อยู่อย่างครีเอทีฟ

แน่นอนว่าการเสพงานศิลปะช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ๆได้ส่วนหนึ่ง แต่จะดีกว่าถ้าลองใช้ชีวิต “อยู่ให้ครีเอทีฟ” โดยปรับมุมมองใหม่ให้ทุกอย่างรอบตัวกลายเป็นไอเดีย เช่น ปกติขับรถตลอด ไม่เคยนั่งรถเมล์เลย ก็ลองไปนั่งดูจะได้เข้าใจชีวิตคนนั่งรถเมล์มากขึ้น ลองไปกินข้าวตามศูนย์อาหารช่วงพักกลางวัน ไปจนถึงการอ่านหนังสือประเภทที่คุณไม่ชอบ วิธีการเหล่านี้ ช่วยให้ก้าวข้ามเส้นความคิดของตัวเองได้

“เวลาเราอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่บางครั้งไม่เอื้อต่อความครีเอทีฟเท่าไหร่ เราจะหาข้ออ้างว่าเป็นเพราะสิ่งต่างๆรอบตัวเรา ทั้งที่เราสามารถเปลี่ยนมันให้ครีเอทีฟเองได้” คุณสุบรรณ กล่าว 

ที่ออฟฟิศของ Dentsu One (Bangkok) เริ่มนำแนวคิดนี้มาใช้กับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อให้พนักงานทุกคนได้อยู่กับความครีเอทีฟ

เริ่มจากเปิดคาเฟ่เป็นของตัวเอง เพราะเห็นว่าพนักงานส่วนใหญ่ชอบชงกาแฟกิน โดยร่วมกับ INK & LION Café คัดเลือกเมล็ดกาแฟจากสามแหล่งปลูกของโลกมาเบลนด์รวมกันในแบบฉบับของ Dentsu One Blend

นอกจากนี้ยังใส่ความเป็นครีเอทีฟไปกับข้าวของเครื่องใช้อีกหลายอย่าง เช่น สนีกเกอร์ ที่สกรีนเบอร์ตามจำนวนพนักงาน เพื่อให้ทุกคนร่วมจับสลากเป็นของขวัญปีใหม่ ที่แฝงไปถึงการก้าวไปด้วยกันของทุกคนในองค์กร รวมถึงแจ็กเก็ต และกระเป๋าผ้า ที่นอกจากจะทำขึ้นเพื่อเป็นของขวัญต้อนรับพนักงานใหม่แล้ว ยังให้ต่อยอดไปเป็นโปรเจ็กต์ทำบุญของบริษัทอีกด้วย

คุณ “คือ” งานของคุณ

ท้ายที่สุดแล้ว หากคุณสามารถสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยมให้โลกใบนี้ได้ แม้ผู้คนจะยังจดจำชื่อคุณไม่ได้ แต่มันก็มากพอที่จะทำให้คุณพิเศษกว่าคนอื่นๆแล้ว

เมื่อเราพยายามใส่ความครีเอทีฟลงไปในชีวิตประจำวัน แต่หลายครั้งชีวิตของคนทำงานครีเอทีฟขึ้นอยู่กับโจทย์ของลูกค้า การใส่ความเป็นครีเอทีฟโดยการพยายามลากเส้นออกจากจุดตั้งต้นไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าจะช่วยสร้างความแปลกใหม่ หรือเป็นการใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้กับงานได้ แต่อย่าลืมว่าต้องกลับไปยังโจทย์ของลูกค้าให้ได้ด้วย

เพราะต่อให้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปแค่ไหน แต่ถ้างานไม่ตอบโจทย์ลูกค้า หรือไม่ให้ประโยช์กับผู้บริโภค สุดท้ายงานชิ้นนั้นแทบไม่มีประโยชน์อยู่ดี

ยกตัวอย่างบรีฟงาน “โคอะลามาร์ช” ที่หลุดจากกรอบของการขายสินค้าตรงๆ มาสร้างชาเลนจ์ให้ผู้บริโภคร่วมสนุกกับ #เอียงให้โลกรู้ แคมเปญนี้นอกจากช่วยยอดขายโคอะลามาร์ชเพิ่มขึ้นแล้ว แบรนด์ยังถูกพูดถึงบนโซเชียลจำนวนมาก โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่กลายเป็นกระแสจนขึ้นสู่เทรนด์อันดับ 1

อย่างไรก็ตาม คุณสุบรรณ มองว่า ความเป็นครีเอทีฟ ถือเป็นสมบัติที่ใครมีมากกว่าย่อมได้เปรียบ ดังนั้นขอให้ “Stay Creative” สนุกกับการคิดและเรียนรู้เข้าไว้ และสุดท้ายไม่ต้องเชื่อคำแนะนำเหล่านี้ก็ได้ แต่ให้หากระบวนท่าของตัวเองให้เจอ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด


แชร์ :

You may also like