HomeCreativityเบื้องหลังงานสุดปัง #ไม่ไปไหนไปNETFLIX และ “ช้อนปรุงลด” CJ WORX คว้ารางวัล Adman Awards 2019 

เบื้องหลังงานสุดปัง #ไม่ไปไหนไปNETFLIX และ “ช้อนปรุงลด” CJ WORX คว้ารางวัล Adman Awards 2019 

แชร์ :

ในงานประกาศรางวัล Adman Awards 2019 จัดโดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย “CJ WORX” และบริษัทในเครือคว้ารางวัล 2 Gold, 10 Silver, 9 Bronze และเข้าสู่ 5 Finalists รวมถึงติดเป็น Top 5 Of Award By Companies ในงานนี้ด้วย โดย 2 ผลงานที่โดดเด่นจนไม่พูดถึงไม่ได้ “ไม่ไปไหนไป NETFLIX” และ “ช้อนปรุงลด” แคมเปญที่สร้างความชื่นชอบให้ใครหลายๆคน 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จุดเริ่มต้นความปัง #ไม่ไปไหนไป NETFLIX

CJ WORX เผยถึงการเริ่มทำแคมเปญไม่ไปไหนไป NETFLIX ที่เริ่มตั้งแต่ ป้ายบิลบอร์ด” ที่ปรากฏอยู่บนท้องถนน ซึ่งข้อความบนป้ายได้บอกระยะทางของจุดกลับรถ เพื่อสื่อความหมายว่าความสุขของการนอนดู NETFLIX ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการออกไปเที่ยว และให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจเองว่า จะเดินทางต่อไปยังจุดหมายหรือจะกลับรถแล้วไปนอนดู NETFLIX ซึ่ง Insight นี้โดนในใจใครหลายๆคน จนเกิดการแชร์ต่อในเวลาต่อมา

จากแคมเปญบนออฟไลน์ก็ถูกส่งต่อมายังช่องทางออนไลน์ ผ่านคลิปวิดีโอที่ได้ “คุณเอ็ด 7 วิ” หนึ่งในสมาชิกของเสือร้องไห้ มาสื่อสารถึงการเดินทางไปเที่ยวช่วงปีใหม่ ว่าต้องเจอ ต้องผ่านอุปสรรคอะไรมากมายกว่าจะเจอความสุขที่ทุกคนรอคอย เป็นการขยี้ซ้ำว่า การอยู่บ้านนอนดู NETFLIX ในวันหยุดยาวก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี

ต่อจากนั้นไม่นาน แคมเปญก็ไปปรากฏบนแฟนเพจ จส.100 ซึ่งก็ได้สร้างความฮือฮาให้กับแฟนคลับจส.100 ไม่น้อย และเป็นการขยายความอย่างต่อเนื่องไปสู่กลุ่มผู้บริโภคอีกครั้ง 

ยิ่งไปกว่านั้นข้อความที่ NETFLIX อยากจะสื่อในเรื่องความชิว ความฟิน เมื่อได้นอนดู NETFLIX ถูกแพร่ไปยังเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ บน Instagram อีกด้วย

จะเห็นว่าทั้งหมดถูกตอกย้ำด้วย Key Message ที่คมในเวลาที่ต่อเนื่องกัน จนทำให้แคมเปญนี้กระตุ้นการรับรู้ของผู้บริโภคและได้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคไปโดยปริยาย แถมยังถูกแบรนด์และเอ็นฟลูเอ็นเซอร์หยิบไปพูดต่อจนกลายเป็น Meme ทำให้ #ไม่ไปไหนไป NETFLIX เกิด Free Media จำนวนมหาศาล การเปิดตัวของ NETFLIX จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนจดจำคาแรกเตอร์ หรือตัวตนของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

แคมเปญที่ดีเริ่มมาจากเชื้อที่ดี

คุณระเบิด ธนสรณ์ เจนการกิจ Executive Creative Director บริษัท CJ WORX บอกว่า ความสำเร็จของแคมเปญนี้มาจาก เชื้อที่ดี และฟืนที่ดี ซึ่งมาจากการเตรียมตัวที่ดี การทำการบ้านอย่างหนัก และกล้าที่จะปล่อยแคมเปญในช่วงที่ไม่มีใครกล้าเสี่ยง หรือที่เรียกว่า การช่วงชิงช่วงเวลาสำคัญ (Hijack) 

เชื้อที่ดี ในที่นี้ก็คือ Insight ของแคมเปญ “ไม่ไปไหนไป NETFLIX” ที่พบว่าคนส่วนใหญ่อาจอยากออกไปท่องเที่ยวเฮฮาตามประสาวันหยุดช่วงเทศกาล แต่ก็ต้องยอมรับว่า เทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้การเคาท์ดาวน์อาจไม่ใช่กิจกรรมเดียวที่ผู้คนยุคนี้เลือกทำในคืนข้ามปี เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากพักผ่อนอยู่บ้าน ดูหนัง ใช้ชีวิตชิลๆ ในช่วงวันหยุดของปี ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาพูด

ฟืนที่ดี คือ Media ช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่หยิบมาใช้ เช่น แฟนเพจของ NETFLIX, แฟนเพจ จส.100, อินฟลูเอนเซอร์บน Instagram หรือแม้แต่ Free Media ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ที่ถูกนำมา Spin ต่อ จนแคมเปญถูกขยายวงกว้างไปอย่างต่อเนื่องจากช่องทางออฟไลน์ไปยังออนไลน์

เมื่อช้อนปรุงลดมีรู

ส่วนอีกแคมเปญที่กวาดรางวัลไปไม่น้อยเช่นกัน คือ ช้อนปรุงลด หรือที่เห็นกันมากมายว่า ช้อนมีรู แคมเปญจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ที่ต้องการสื่อสารกับคนไทยในการลดการบริโภคโซเดียมลง เนื่องจากพบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมมากกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้เกือบ 2 เท่า จึงเกิดเป็นไอเดีย ช้อนมีรู ช้อนปรุงลด (โซเดียม)”   

โดยช้อนปรุงลดสำหรับตักเกลือได้แค่ 1/3 ช้อนชา ส่วนช้อนมีรูสำหรับตักน้ำปลา 2/3 ช้อนชา เหลือแต่เพียงปริมาณที่คงอยู่บนช้อนคือ 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ หรือประมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ตามที่องค์การอนามัยโลกระบุ

คลิปโฆษณาชุดนี้ ถูกบอกเล่าผ่านแคมเปญในออนไลน์ และสร้าง Conversation ในโลกออนไลน์ได้อย่างล้นหลามทั้งอยากได้ช้อนเพื่อนำมาใช้กับตัวเอง หรือมีทั้งคิดว่าไม่ได้ผล เพราะสุดท้ายก็ตักหลายครั้งอยู่ดี ไปจนถึงการคอมเมนต์ว่า เพิ่งทราบว่าปริมาณที่เหมาะต่อมื้อคือเท่าไหร่ หรือแม้แต่ฝั่งคนรักสุขภาพเอง ก็ยังช่วยกันคอมเมนต์สร้างความเข้าใจให้กับคนที่เข้าใจผิดที่แม้ช้อนจะมีรู แต่ก็ยืนยันจะปรุงหลายครั้งอยู่ดี ให้เกิดความตระหนักในการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณ

เรียกว่าได้ผลทั้งในแง่ของ อุปกรณ์สำหรับการลดการบริโภคโซเดียม และในแง่ของกระแส Conversation ทำให้คนจำภาพปริมาณน้ำปลาและเกลือในช้อนปรุงได้

นอกจากนี้ทางสสส. ได้นำอุปกรณ์ชิ้นนี้ไปต่อยอดในการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์จ้าหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะด้านโภชนาการ รวมถึงผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากการทานโซเดียมสูง ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด โรคไต ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ

รวมถึงได้รับการเชิญจาก เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ในการร่วมสนับสนุนโครงการดีๆ เพื่อสังคมที่โปรโมทผ่านช่องทางเฟซบุ๊กด้วยเช่นเดียวกับโครงการของพี่ตูน ที่หาเงินบริจาคเพื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยนำไปต่อยอดเป็นคลิปสั้น 15 วินาที เพื่อให้เกิดภาพจำปริมาณเกลือที่ควรบริโภคต่อมื้อ รวมถึงการทำโพลสำรวจบนเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม เพื่อกระตุ้นเตือนคนไทยถึงผลการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณอีกด้วย

 


แชร์ :

You may also like