เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน เราก็จะเข้าสู่ปี 2020 ปีที่ว่ากันว่า โลกแห่ง Digital Disruption จะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบ นำทัพโดย AI และระบบ Automation ที่จะเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อชีวิต และการทำงานของมนุษย์ ทว่า จากการสำรวจของสถาบัน IMC ถึงการตอบรับกับยุคแห่ง AI ในองค์กรต่าง ๆ ของประเทศไทยจำนวน 113 แห่งนั้นพบว่า มีองค์กรที่เข้าใจ AI ในระดับดีแค่ 11.61% เท่านั้น ส่วนองค์กรที่มีความรู้ความเข้าใจ AI ระดับพอใช้อยู่ที่ 30.36% และระดับเริ่มต้นอีก 49.11%
การสำรวจครั้งนี้ยังพบด้วยว่า มีผู้บริหารระดับสูงอีกราว 14% ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ หรือยังไม่มีการกล่าวถึงโลกที่ AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเลยด้วย
แต่สำหรับบริษัทที่เห็นถึงความจำเป็นแล้วนั้น การสำรวจชิ้นนี้พบว่า แนวโน้มการดำเนินการด้าน AI ขององค์กรไทยส่วนใหญ่เป็นการจ้างบุคคลภายนอก (outsource) ราว 40.18% รองลงมาเป็นการดำเนินการเองในบริษัท (in house) 32.14% นอกจากนี้ 17.86% ของกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีจัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูป โดยมีการประยุกต์ใช้ AI กับโปรดักท์ในองค์กรมากที่สุดใน 6 อันดับ ต่อไปนี้
- AI Chatbot พบว่ามีการใช้งานมากที่สุด คิดเป็น 60.71%
- การใช้ AI ในการทำงานอัตโนมัติ (Robot Process Automation) เช่น การกรอกข้อมูล (49.11%)
- การใช้ AI ในการแบ่งเซกเมนต์ของผู้บริโภคในการทำ Marketing (48.21%)
- การใช้ AI ทำ Face Detection (43.75%)
- การใช้ AI ตรวจสอบความผิดปกติในการทำธุรกรรมทางการเงิน (40.18%)
- การใช้ AI ช่วยฝ่าย HR (เช่น ช่วยคัดเลือกใบสมัคร) 25%
แต่สำหรับใครที่อยากรอดพ้นจาก Disruption รอบนี้และยังไม่มีไอเดียว่าจะใช้ AI อย่างไรให้เหมาะสมกับธุรกิจ เรามีคำแนะนำ 4 ข้อมาฝากกันค่ะ
1. อย่าเพิ่งลงทุนในเทคโนโลยี แต่วิเคราะห์ให้ดีว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้น เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด
หลาย ๆ ครั้งของการ Transformation หน่วยงาน สิ่งที่คนเรามักคิดจะทำก็คือเรื่องของการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น จัดทำบิ๊กดาต้า ซื้อพื้นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ จ้าง Data Scientist ฯลฯ ซึ่งหากคิดในมุมนั้น อาจทำให้ธุรกิจ SME ที่มีงบประมาณไม่มากนักมองว่าการเอาตัวรอดจากยุค Disruption นี้เป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เนื่องจากตนเองไม่มีทุนรอนมากเท่าบริษัทขนาดใหญ่
ในมุมของธุรกิจ รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบัน IMC ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยดังกล่าว เผยว่า สิ่งที่ธุรกิจต้องทำเป็นอันดับแรกคือการวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมที่เราอยู่นั้น เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น หากอยู่ในธุรกิจอาหาร ในปีที่ผ่านมา จะพบว่าตลาดได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากการแข่งขันของบริการ Food Delivery ที่ดุเดือด
แต่การเข้ามาของบริการ Food Delivery อาจมีข้อดี เช่น ทำให้ร้านบางร้านโด่งดังและมีตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็มีข้อเสียด้วย เพราะการแข่งขันที่ดุเดือดนี้กำลังส่งสัญญาณแผ่วลงเรื่อย ๆ เห็นได้จากโปรโมชันที่ลดลง หรือเงื่อนไขของโปรโมชันที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การขอให้ทางร้านเข้าไปช่วยซัพพอร์ตแพลตฟอร์มในรูปของตัวเงินมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนร้านอาหารแบบดั้งเดิมนั้น ก็ได้รับผลกระทบจาก Food Delivery เช่นกัน โดยบางร้านที่มองว่ายุ่งยากและไม่ปรับตัว ก็อาจมีลูกค้าลดน้อยลงไป เนื่องจากคนไทยหันมานิยมสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มกันมากขึ้น ส่วนบางร้านที่ขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มก็อาจไม่สามารถบริหารจัดการยอดขายได้ จนนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า มีช่องว่างอยู่มากมายสำหรับธุรกิจ ขอเพียงรู้จักวิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขัน และมองหาช่องทางที่จะเลือกใช้ให้ถูกต้อง
2. ปรับ Business Model ให้เหมาะสมกับโลกในยุคต่อไป
รศ.ดร.ธนชาติเผยว่า สิ่งที่ธุรกิจในยุคต่อไปต้องคำนึงถึงให้มากก็คือ Value Preposition หรือคุณค่าที่บริษัทจะส่งมอบให้กับลูกค้า เหมือนอย่างกรณีธุรกิจประกันภัยที่เราพบว่า เริ่มมีการนำ AI เข้ามาคาดการณ์สุขภาพของผู้คนมากขึ้น และทำให้รูปแบบการซื้อประกันภัยอาจจะเปลี่ยนไป เช่น จากเดิมอาจต้องซื้อประกันภัยรวม ๆ หลายอย่างคิดเป็นเงินหลายหมื่นบาทต่อปี กลายเป็นแบบซื้อเมื่อต้องการใช้ หรือ Pay per use แทน เป็นต้น
ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ตามความคาดหวังของผู้บริโภคก็จะปลอดภัยได้ระดับหนึ่งเลยนั่นเอง
3. ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ AI จะเข้ามาทดแทนเป็นลักษณะของงาน
การสำรวจนี้ยังพบด้วยว่า สิ่งที่ AI จะเข้ามาทดแทนนั้นเป็นในรูปแบบของลักษณะงานที่ทำมากกว่าจะเข้ามา Disrupt อาชีพทั้งอาชีพ ยกตัวอย่างงานที่ AI จะเริ่มเข้ามาทดแทน เช่น งานประเภทผู้ช่วย, งานด้านการแพทย์, งานด้านการคำนวณ, งานด้านการจัดเตรียมเอกสาร และงานด้านการนัดหมาย ซึ่งทั้ง 5 ลักษณะงานนี้อาจแทรกตัวอยู่ในอาชีพต่าง ๆ เช่น ทนายความ, แพทย์, เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน ฯลฯ และแสดงให้เห็นว่า อาชีพอาจไม่ได้ถูก Disrupt เสียทีเดียว เพราะแพทย์ ทนายความ ฯลฯ จะยังมีตัวตนอยู่ เพียงแต่ว่าต้องรู้จักปรับตัวให้สามารถใช้งาน AI และทำงานร่วมกับ AI ให้ได้นั่นเอง
4. การ Disruption ในปี 2020 คือการประยุกต์ใช้จริง
ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เราอาจได้ยินเรื่องของการลงทุนในบิ๊กดาต้า, คลาวด์, การผลิตบุคลากรสาย Data Scientist หรือการสร้างหน่วยธุรกิจใหม่เพื่อรองรับ Digital Transformation กันมากมาย แต่สำหรับปี 2020 สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการประยุกต์ใช้จริง
“ปี 2020 จะเป็นปีแห่งการต่อยอดบนเทคโนโลยีชื่อเดิม ซึ่งมันพัฒนาจนเสถียรแล้ว แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างก็คือ การนำไปใช้งานมากกว่า ว่าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และ Digital Transformation รอบนี้จะไม่ได้มองเฉพาะการใช้เทคโนโลยีอีกต่อไป แต่จะมีเรื่องของทัศนคติของผู้นำองค์กร วัฒนธรรมองค์กร โครงสร้างขององค์กร และอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” รศ.ดร.ธนชาติกล่าวปิดท้าย