เตรียมปรึกษานักกฎหมายกันได้เลยสำหรับ Content Creator บน YouTube เพราะเป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่กระทบกับสิทธิในการเข้าถึงฟีเจอร์ต่าง ๆ และการทำรายได้จากโฆษณา หากบรรดา Content Creator ยังไม่สามารถสร้างคอนเทนต์ที่ดี (สำหรับเด็ก?) ได้ตามที่บริษัทคาดหวัง
โดยสิ่งที่ Susan Wojcicki ซีอีโอของ YouTube ได้ออกมายืนยันก็คือ ตอนนี้บริษัทกำลังปรับนโยบายด้านการล่วงละเมิด (Harassment Policy) เพื่อให้แพลตฟอร์มมีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับ “เด็ก” โดยเฉพาะคอนเทนต์จากเกมที่ขึ้นชื่อเรื่องความรุนแรง
ผลจากการปรับนโยบายอาจเป็นการกำหนดให้ครีเอเตอร์ต้องระบุให้ชัดเจนมากขึ้นว่าคอนเทนต์ประเภทไหนผลิตขึ้นมาสำหรับเด็ก (หรืออาจจะระบุว่าทั้ง Channel เลยก็ได้) ซึ่งการระบุให้ชัดเจนนี้ เป็นไปได้ว่าจะมีผลต่อการเก็บข้อมูลผู้เข้าชม, การเลือกโฆษณามาลง, การห้ามไม่ให้มีช่องคอมเม้นท์ ฯลฯ ตามไปด้วย ผลก็คือบรรดาครีเอเตอร์จำนวนไม่น้อยออกมาโวยวาย เพราะกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบกับยอดรายได้ของตนเอง
ส่วนเหตุผลที่บรรดาครีเอเตอร์ใช้โต้แย้ง YouTube ก็คือ พวกเขาจะแยกแยะได้อย่างไรว่า นี่คือคอนเทนต์สำหรับเด็ก หรือจริง ๆ แล้วไม่ได้ทำมาเพื่อเด็ก แต่ตัวคอนเทนต์กลับดึงดูดเด็ก ๆ เข้ามาเอง
แต่งานนี้ดูเหมือนว่าถ้าครีเอเตอร์ไร้ความสามารถในการแยกแยะประเภทของคอนเทนต์ ก็อาจจะมี “บางอย่าง” เข้ามาแยกแยะให้แทน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “ค่าปรับ” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุที่ YouTube ต้องมีการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพราะเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Google และ YouTube ถูก FTC ตัดสินให้จ่ายค่าปรับเป็นเงิน 170 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,134 ล้านบาท) เนื่องจากพบว่ามีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็กโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว
ส่วนใครที่บอกว่ามี YouTube Kids อยู่แล้วนี่นา รายงานจาก TechCrunch ระบุความเป็นจริงอีกด้านก็คือ YouTube Kids เป็นแหล่งรวมของตัวอันตรายไม่แพ้กัน และมีผลให้ YouTube ต้องปิดช่องแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มดังกล่าวไป ไม่เช่นนั้นอาจมีเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศผิดปกติก็เป็นได้
เรื่องน่าหนักใจของ YouTube ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะแพลตฟอร์มดังยังถูกต่อต้านจากอีกหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการใช้แรงงานเด็กเป็น Influencer โฆษณาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่กฎหมายแรงงานยังก้าวเข้าไปจัดการไม่ได้ เห็นได้จากการที่ YouTube มีคอนเทนต์ประเภทแกะกล่องของเล่นใหม่ที่อาจทำรายได้ให้ช่องบางช่องหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แถมบางช่องดำเนินการโดยผู้ปกครองของเด็กเสียเอง ซึ่งผลกระทบนั้นมีทั้งต่อเด็กที่เปิดเข้ามาชมคอนเทนต์ที่ยังเล็กมากเกินกว่าจะเข้าใจว่าทำไมถึงมีโฆษณาตามมา ส่วนเด็กที่แสดงบทบาทอยู่ในคอนเทนต์ก็ยากจะเข้าใจได้ว่า การมีภาพของตัวเองอยู่บนอินเทอร์เน็ตหมายถึงความเสี่ยงอะไรบ้าง
การปรับนโยบายของ YouTube จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ และนั่นหมายถึงการสร้างครีเอเตอร์ที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น แทนการมองแต่ตัวเลขรายได้เพียงอย่างเดียวด้วย