ปฏิบัติการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อช่วงไตรมาส 4 ของรัฐบาลผ่านโครงการ “ชิมช้อปใช้” เดินทางมาถึงเฟสที่ 3 ฐานข้อมูลจากเฟสแรกมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ 10 ล้านคน พฤติกรรมการจับจ่ายกลายเป็น “ดาต้า” ที่นักการตลาดและแบรนด์สามารถนำมา “ต่อยอด” แคมเปญให้โดนใจผู้บริโภค จากอินไซต์ที่ได้มหาศาลของโครงการนี้
โปรเจกต์ “ชิมช้อปใช้” แจกเงินคนละ 1,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ธนาคารกรุงไทย หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ G-Wallet ของรัฐบาล เพื่อใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่ร่วมโครงการ เฟสแรกมีคนลงทะเบียน 10 ล้านคน ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 15 ตุลาคม 2562 มีระยะเวลาใช้เงิน 14 วัน สรุปมีผู้ใช้สิทธิราว 8.51 ล้านคน เม็ดเงินจับจ่ายในระบบ 8,282 ล้านบาท
จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ “ชิมช้อปใช้” เฟสแรก 10 ล้านคน ทำให้ได้ “ดาต้า” พฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มวัยทำงานจากการใช้จ่ายผ่าน G-Wallet เพื่อสานต่อเป้าหมาย Cashless Society นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” (“ชิมช้อปใช้” แค่นโยบายแจกเงินแบบเดิม ๆ หรือกลยุทธ์เสริมแกร่ง BigData ของรัฐบาล 4.0)
ในมุมของนักการตลาดและแบรนด์ สามารถนำข้อมูล “อินไซต์” เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการทำแคมเปญเจาะแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำความเข้าใจกับ “ดาต้า” ที่เกิดจากโครงการ “ชิมช้อปใช้” อิปซอสส์ (ประเทศไทย) ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 500 คน อายุตั้งแต่ 18-60 ปีขึ้นไป สำรวจเดือนกันยายน 2562 ช่วงเดียวกับที่เปิดลงทะเบียน เพื่อเจาะลึกพฤติกรรมการใช้จ่าย ความพึงพอใจและความคิดเห็นต่อโครงการ “ชิมช้อปใช้” ที่สรุปข้อมูลอินไซต์จากผลสำรวจมาได้ 10 เรื่องหลักๆ
1. เฟสแรกไม่ลงทะเบียน 41% ที่จริงสนใจแต่ขั้นตอนยาก
แม้ช่วงเริ่มต้นโครงการชิมช้อปใช้ มีกระแสว่าเป็นอีกโครงการ “แจกเงิน” ของรัฐบาลที่ไม่ชัวร์ว่าจะได้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ อีกทั้งการลงทะเบียนช่วงแรกก็ยังมีปัญหาเรื่อง Infrastructure จากการสำรวจผู้บริโภคพบว่ามีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ 59% และไม่ร่วมโครงการ 41%
กลุ่มคนที่ไม่ลงทะเบียนร่วมโครงการเฟสแรก บอกเหตุผลว่า มาจากขั้นตอนเยอะและเป็นเรื่องยาก 44% กดรับสิทธิไม่ทัน 42% ระบบไม่เสถียร 22% อื่นๆ 20% ไม่เข้าใจการใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง 13% ไม่สามารถยืนยันตนเองได้ 7% ไม่มีสมาร์ทโฟน 2% และไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 1%
หากดูข้อมูลกลุ่มที่บอกสาเหตุไม่ร่วมโครงการจะเห็นว่ามีความพยายามที่จะลงทะเบียนแล้ว แต่เจอปัญหาจึงไม่เข้าร่วมในเฟสแรก แต่คาดว่าน่าจะเข้ามาในเฟสต่อไป
2. ผู้บริโภคมีมุมมอง Positive 95% ทำหน้าที่บอกต่อ
ต้องบอกว่าผู้บริโภคที่ใช้สิทธิ ชิมช้อปใช้ 97% เข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและมีมุมมอง Positive กับโครงการนี้ อีก 95% บอกว่าจะแนะนำให้ ครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูงร่วมโครงการรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล
เหตุผลของกลุ่มคนที่เข้าร่วมนโยบายและลงทะเบียนรับสิทธิ “ชิมช้อปใช้” 62% คิดว่าเป็นนโยบายที่ดีในการกระตุ้นการใช้จ่าย ขณะที่อีก 44% คิดว่าเงินจำนวนนี้มาจากภาษีของพวกเขา และอีก 41% มองว่าเป็นสิทธิที่ควรจะได้รับจากรัฐบาล
3. สูงวัย-คนรุ่นใหม่ “มองต่างมุม” ใช้สิทธิรับเงิน
หากแบ่งตามกลุ่มอายุจะเห็นว่า กลุ่มผู้สูงวัยและวัยทำงาน มีความคิดเห็นในการรับเงินจากรัฐบาล “แตกต่างกัน” กลุ่มสูงวันอายุ 50 – 59 ปี สัดส่วน 73% มองว่า “ชิมช้อปใช้” เป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย กลุ่มนี้จะมองเป็นภาพรวมว่าเป็นนโยบายที่ช่วยชาติฟื้นเศรษฐกิจได้
แต่วัยทำงานหรือคนรุ่นใหม่อายุ 18 – 29 ปี มองว่าเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับ เพราะเงินสนับสนุนจำนวนนี้เป็นเงินส่วนหนึ่งที่มาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายให้กับประเทศ เป็นกลุ่มที่ “คิดถึงตัวเอง” เป็นหลัก
4. เฟสแรก “ช้อป” นำโด่ง 61%
การลงทะเบียนเฟสแรกกำหนดให้จับจ่ายเงิน 1,000 บาท ภายใน 14 วัน และต้องใช้จ่ายข้ามจังหวัด เพื่อต้องการกระตุ้นการจับจ่ายให้เกิดขึ้นโดยเร็ว หมวดที่มีการใช้จ่ายสูงสุด คือ “ช้อป” 61% ตามด้วย ชิม 35% และ ใช้ 4%
ปัจจัยที่ทำให้ “ช้อป” มากที่สุด เพราะต้องการซื้อสินค้าจำเป็นเก็บไว้ใช้และมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการให้เลือกซื้อทั้งร้านค้าย่อยและโมเดิร์นเทรด สาเหตุที่ “ใช้” หรือภาคบริการ (Service) โรงแรม มีสัดส่วยน้อย เนื่องจากเป็นเฟสแรก ประชาชนยังไม่ได้วางแผนท่องเที่ยว อีกทั้งกลัวว่าจะเลยกำหนดใช้เงิน 14 วัน ที่สำคัญ คือเงินที่ได้รับ 1,000 บาท หากไปท่องเที่ยวจะต้องใช้จ่ายเกินจากเงินที่ได้รับอีกจำนวนมาก
5. ช้อป “ร้านธงฟ้า” อันดับหนึ่ง
สำหรับร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ เฟสแรก ประชาชนสัดส่วน 50% เห็นว่ามีจำนวนมากพอและรู้สึกสะดวกสบายในการเลือกใช้บริการหรือซื้อสินค้าแล้ว แต่อีก 50% บอกว่ายังไม่มากพอและรู้สึกว่าการหาร้านที่ลงทะเบียนเป็นเรื่องยาก
ร้านค้าที่ผู้ลงทะเบียนไปใช้สิทธิมากที่สุด คือ ร้านธงฟ้า 47% รงอลงมาเป็น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ท็อป ส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้ โลตัส 39% ร้านค้าโอท็อป ท้องถิ่น 36% ร้านค้าสะดวกซื้อ 23% ร้านค้าขนาดกลาง เช่น บลูช็อป 14% ห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัล สยามพารากอน 11% ผู้ค้ารายใหญ่ เช่น แม็คโคร 10%
6. จ่ายหมด 1,000 บาท ในครั้งเดียว 75%
วงเงินที่ได้มาจำนวน 1,000 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการ 70% เห็นว่าเหมาะสมแล้ว มีเพียง 30% เท่านั้นที่เห็นว่า รัฐบาลควรเพิ่มวงเงิน
พฤติกรรมการจับจ่าย 75% ใช้เงิน 1,000 บาทในครั้งเดียว อีก 25% ทยอยจ่ายหลายครั้ง และมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลังจากจบโครงการแล้ว ใช้จ่ายน้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้รับมา ในกลุ่มนี้พบว่า 21% มาจากการที่ผู้ใช้พบปัญหาระหว่างการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านทางตัวแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดย 16% ต้องสำรองเงินจ่ายค่าสินค้าและบริการเอง ส่วนอีก 5% ตัดสินใจยกเลิกการซื้อ
7. คนไทยใช้ E-Wallet เป็นครั้งแรก 43%
แม้รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 มาแล้วตั้งแต่ปี 2558 หนึ่งในเรื่องสำคัญคือการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) แต่จากผลสำรวจกลุ่มที่ร่วมโครงการชิมช้อปใช้ ผ่านแอป “เป๋าตัง” กลับว่าผู้ใช้เกือบครึ่งยังไม่คุ้นชินกับการใช้เงินอิเล็กโทรนิกส์ หรือ E-Wallet โดยผู้รับสิทธิ 43% ใช้จ่ายผ่าน E-Wallet เป็นครั้งแรก และไม่คุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชั่น
แต่ก็ยังมีตัวเลขดีๆ ให้เห็นเพราะ 78% ไม่มีปัญหาระหว่างการชำระเงิน และอีก 57% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความคุ้นเคยในการใช้ E-Wallet อยู่แล้ว โดยเฉพาะวัยทำงาน
8. กว่าครึ่งช้อปเพลินเกิน 1,000 บาท
จุดประสงค์สำคัญของนโยบาย “ชิมช้อปใช้” คือคาดหวังว่าประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นกว่าปกติ จากผลสำรวจ 56% ของผู้เข้าร่วมโครงการรู้สึกว่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าปกติ ขณะที่ 17% ไม่รู้สึกว่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม และอีก 18% “ไม่แน่ใจ” ว่าตัวเองมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
9. อยากให้รัฐบาลทำโครงการต่อ
โครงการ “ชิมช้อปใช้” ถือเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์ในหลายด้านในช่วงเริ่มต้น แต่บทสรุปของการสำรวจ 74% ของประชาชนอยากให้รัฐบาลทำโครงการนี้ต่อเนื่อง ส่วนอีก 14% บอกไม่แน่ใจ และ 12% อยากให้ยกเลิกโครงการนี้
จำนวนผู้ลงทะเบียนเฟสแรก 10 ล้านคน ใช้จ่ายไปกว่า 8,000 ล้านบาท ทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจขนาดเล็กได้จริงถึง 72% ที่คิดแบบนั้นเพราะ 71% ของคนที่เชื่อพวกเขาวางแผนและตั้งใจไปใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านค้ารายย่อยเท่านั้น
10. นักการตลาดเรียนรู้อะไรจาก “ชิมช้อปใข้”
ข้อมูลและพฤติกรรมการจับจ่ายจากโครงการ “ชิมช้อปใช้” คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ใช้บริการด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค เห็นว่าเป็น Insights ที่รัฐบาล สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาโครงการในจุดที่เป็นปัญหาเรื่อง Infrastructure การลงทะเบียน การใช้ G-Wallet ที่ยังมีผู้ใช้ E-Wallet ครั้งแรกจากโครงการนี้จำนวนมากถึง 43% สามารถพัฒนาระบบ G-Wallet ต่อเนื่องเพื่อดึงประชาชนมาใช้บริการ ตอบโจทย์นโยบาย “สังคมไร้เงินสด” ของรัฐบาล
เช่นเดียวกับฝั่ง แบรนด์และนักการตลาด ที่ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น เห็นได้ว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการ ทั้งร้านอาหาร ร้านค้า และโรงแรม ควรเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อสร้างโอกาสส่วนแบ่งเม็ดเงินที่ผู้บริโภคจับจ่าย
ด้านความเห็นของประชาชนกับโครงการนี้ กลุ่มสูงวัย มองเป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนวัยทำงานและคนรุ่นใหม่ มองเป็นเรื่องการใช้สิทธิจากภาษีของตนเอง ตรงจุดนี้จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 กลุ่มคิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นเวลาทำแคมเปญสินค้า นักการตลาดต้องแยกเซ็กเมนต์ผู้บริโภค เพื่อสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มสูงวัย หยิบเรื่องภาพรวมมาพูดว่าได้ประโยชน์อย่างไร ส่วนคนทำงาน ก็สื่อสารเรื่องที่แต่ละกลุ่มจะได้ประโยชน์
การพัฒนาแพลตฟอร์ม E-Commerce และ C-Commerce ที่ยังมีแนวโน้มเติบโต ให้ง่ายและสะดวกเพื่อดึงผู้บริโภคเข้ามาใช้งาน
โดยรวมแล้วประชาชน “มองบวก” กับโครงการชิมช้อปใช้ และต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนต่อเนื่อง ในเฟสต่อไปจึงมีผู้ลงทะเบียนร่วมโครงการใช้สิทธิแน่นอน ฐานข้อมูลที่ได้ ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำไปพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการประชาชนและผู้บริโภคได้มากขึ้น