HomeBrand Move !!Ride-Hailing ถนนสายนี้โหดจริงหรือ และถ้าไม่โหด ทำไม GET ต้องขอเติบโตแบบยั่งยืน

Ride-Hailing ถนนสายนี้โหดจริงหรือ และถ้าไม่โหด ทำไม GET ต้องขอเติบโตแบบยั่งยืน

แชร์ :

(ซ้ายไปขวา) คุณภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์, คุณวงศ์ทิพพา วิเศษเกษม และคุณก่อลาภ สุวัชรังกูร สามผู้บริหารจาก GET

อาจกล่าวได้ว่า ปี 2019 นี้เป็นปีที่สตาร์ทอัพกลุ่ม Ride-Hailing เข้ามาสร้างสีสันให้กับหลายภูมิภาคทั่วโลกจาก Transaction ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนหลายคนตื่นตาตื่นใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า Ride-Hailing เป็นธุรกิจที่สร้างความหวั่นไหวให้กับนักลงทุนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน กับปรากฏการณ์ของงบการเงินที่ “ไม่ทำกำไร” ที่หลายคนอาจเห็นตัวอย่างกันมาแล้วจากกรณีการเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กของ Uber ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ มูลค่าหุ้นของ Uber ก็ยังไม่สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ (ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น) และไม่ใช่สถานการณ์ที่นักลงทุนจะแฮปปี้กับสิ่งที่เป็นอยู่

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ของงบการเงินที่ไม่ทำกำไรในธุรกิจ Ride-Hailing ก็เกิดขึ้นเช่นกัน และหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาก็คือ GET บริษัทลูกของ GOJEK จากประเทศอินโดนีเซีย แต่ในอีกมุมหนึ่ง GET ก็ยอมรับว่ายังมีแต้มต่อในด้านดีที่เป็นสิ่งที่ยึดโยงใจนักลงทุนให้ยังมีความหวังอยู่บ้าง

โดยแต้มต่อที่ว่านั้นมาจากสถานะที่เปลี่ยนไปของ Ride-Hailing ที่มีต่อสังคม ซึ่งคุณภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET อธิบายว่า ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม Ride-Hailing นั้นอยู่ในจุดที่ Too-Big-To-Fail หรือใหญ่เกินกว่าจะล้มได้อีกแล้ว เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะธุรกิจ Ride-Hailing ในปัจจุบันมีผลต่ออาชีพและรายได้ของคนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงพลาดไม่ได้

อย่างไรก็ดี สถานะ Too-Big-To-Fail อาจเป็นเพียงใบรับประกันชั่วคราว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า Stakeholder คนสำคัญอย่างนักลงทุนก็เริ่มไม่อยู่เฉยแล้วเช่นกัน หลังเห็นผลประกอบการของธุรกิจ Ride-Hailing ที่หลายคนเรียกว่าเป็น “การเผาเงิน” เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างดุเดือดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ถ้าล้มไม่ได้ ก็ต้องทำให้มีกำไร

หนึ่งในสัญญาณที่สังเกตได้ก็คือ ในอดีต เรามักได้ยินข่าวการระดมทุนรอบใหม่ของธุรกิจ Ride-Hailing อย่างต่อเนื่อง ทว่า หลังจากกรณีงบการเงินที่ไม่ทำกำไรของ Uber ได้รับการเปิดเผยออกมา การระดมทุนรอบใหม่ก็หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ในจุดนี้คุณภิญญาเองก็ยอมรับว่า เงินเข้ามาได้ก็หมดไปได้เช่นกัน และนั่นทำให้การเติบโตในปี 2020 ของ GET จะต้องเป็น “การเติบโตอย่างยั่งยืน” (Sustainable Growth) แล้วนั่นเอง

ส่วน Sustainable Growth ในมุมของ GET เป็นอย่างไรนั้น คุณภิญญาได้ขยายความว่า หมายถึงการเติบโตที่ผู้ใช้งานยังอยู่กับแพลตฟอร์มโดยที่ GET ไม่ต้องใช้โปรโมชันเป็นตัวดึงดูด ซึ่งการจะไปสู่จุดนั้นได้ คุณภิญญาชี้ว่าต้องพัฒนาควบคู่กันไปทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือ (Trust) ของแพลตฟอร์ม บริการของคนขับรถที่ดี ร้านอาหารที่ต้องครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ อาหารมีคุณภาพ คนขับเมื่อมาอยู่บนแพลตฟอร์ม GET ก็ต้องสามารถรับประกันรายได้ของตัวเองว่ามากเพียงพอที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุข ร้านอาหารที่จะเข้ามาบนแพลตฟอร์มก็ต้องเติบโตได้จริง ฯลฯ เป็นต้น

คุณภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์ ซีอีโอของ GET

จับมือไทยพาณิชย์ขยายสู่การให้สินเชื่อ

โดยปัจจุบัน รายได้ของ GET มาจากสองส่วน นั่นคือ การพาร์ทเนอร์กับร้านอาหาร และส่วนแบ่งรายได้จากการส่งคน – ส่งของ – อาหารบนแพลตฟอร์ม แต่ในอนาคตอันใกล้ คุณภิญญาเผยว่าจะมีการต่อยอดไปสู่ธุรกิจสินเชื่อ โดยแน่นอนว่าจะเป็นการจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะ Strategic Partner คนสำคัญของ GOJEK (ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศลงทุนซีรีส์ F ใน GOJEK อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา) อีกทั้งด้วย BigData ที่มี ยังทำให้ GET มองว่าสามารถต่อยอดได้กับอีกหลายธุรกิจ

“การที่เรามีดาต้าเยอะมาก ๆ ทำให้เราสามารถต่อยอดได้กับหลายธุรกิจ เช่น แวดวงโฆษณา เพราะเรามีข้อมูลว่า ลูกค้าบนแพลตฟอร์มมีความสนใจ (Interest) ในเรื่องอะไร ซึ่งข้อมูลนี้สามารถช่วยนักการตลาดได้อย่างมาก เช่น แทนที่จะซื้อป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เงินจำนวนมาก ก็สามารถเลือกซื้อป้ายโฆษณาเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนให้ความสนใจสูงได้ เป็นต้น หรือการจะเปิดสาขาใหม่ ด้วย Data ที่เรามีก็สามารถแนะนำร้านอาหารในการเลือกทำเลได้ดียิ่งขึ้น”

BigData ก้อนนี้ยังทำให้คุณภิญญามองสถานการณ์ในปี 2020 ในแง่บวกด้วยว่า “ปัจจุบันเราขาดทุน แต่ในอนาคต Data ที่เรามีคือช่องทางที่ทำให้เรากำไรได้อย่างแน่นอน”

ฟีเจอร์ใหม่ เครื่องมือสร้างรายได้ให้ GET ในปี 2020

พูดถึงวิสัยทัศน์กันมามากแล้ว หากไม่พูดถึงฟีเจอร์ใหม่ซึ่งเปรียบได้กับเครื่องจักรทำเงินก็คงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยฟีเจอร์ที่ GET เตรียมไว้เปิดตัวในปี 2020 นั้น ประกอบด้วย GET Runner หรือการใช้พนักงานเดินเท้าในการส่งอาหารในรัศมี 1 กิโลเมตร ที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดสอบเป็นบางพื้นที่ โดยข้อดีของ GET Runner คือความเร็วเฉลี่ยในการส่งอาหารอยู่ที่ครั้งละ 19 นาทีเท่านั้น (การส่งด้วยมอเตอร์ไซค์ใช้เวลาเฉลี่ย 28 นาที) อีกทั้งยังไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ไม่ต้องหาที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ ไม่ต้องเสียค่าที่จอดรถ ไม่มีค่าเสื่อมราคาจากการใช้รถมอเตอร์ไซค์ด้วย

ขณะที่อีกหนึ่งเครื่องมือที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้ก็คือ e-Wallet อย่าง GET Pay ที่มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2020 เช่นกัน โดยคุณภิญญาชี้ว่า ผู้ใช้งานทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ Cash is King มาถึงวันนี้ Cashless is Better ไปแล้ว ดังนั้นจึงถือเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับ GET Pay ที่จะออกมาวาดลวดลาย

เปิดตัวแอปใหม่ ให้ Driver –  ร้านอาหาร

ในส่วนของพาร์ทเนอร์คนขับและร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม GET เผยว่าจะมีแอปพลิเคชันเพิ่มเติมออกมาให้ใช้งานกันด้วย นั่นคือแอปในส่วนของพาร์ทเนอร์ร่วมขับ (Driver App) และแอปของร้านอาหาร (Merchant App) ซึ่งคุณภิญญาชี้ว่า ข้อดีของการพัฒนาแอปใหม่คือ เมื่อมีคำสั่งซื้อ (Food Delivery) เกิดขึ้น ข้อมูลจะส่งตรงไปยังร้านอาหารทันที ทำให้สามารถปรุงอาหารเตรียมไว้รอได้เลยซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการจัดส่งลงได้อีก และเมื่อคนขับไปรับอาหารที่ร้าน ก็จะมีการกรอก Pin เพื่อยืนยันตัวตนด้วยว่าเป็นคนส่งอาหารของออเดอร์นี้ตัวจริงเสียงจริง

นอกจากนั้นใน Merchant App ตัวใหม่จะเปิดโอกาสให้ร้านอาหารสามารถปรับแก้ราคา ตั้งเวลาเปิดปิดร้าน ตลอดจนทำโปรโมชันได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง GET มองว่าจะสะดวกต่อร้านค้าบนแพลตฟอร์มมากกว่า

ขณะที่ Driver App นั้น ก็จะมีการลดปุ่มต่าง ๆ ลงเพื่อให้ตอบโจทย์คนขับรถที่อาจไม่สะดวกกดปุ่มระหว่างขับรถ รวมถึงจะมีฟีเจอร์ให้พาร์ทเนอร์ร่วมขับสามารถหยุดพักได้ตามที่ต้องการ เช่น พักรับประทานอาหารกลางวัน เป็นต้น หรือในส่วนของสรุปยอดรวมรายได้ แอป Driver ตัวใหม่จะมีข้อมูลสรุปรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน รวมถึงคาดการณ์รายได้ในแต่ละเดือนว่าจะอยู่ที่เท่าไรออกมาให้ด้วยเช่นกัน

แต่การแข่งขันของ Ride-Hailing ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เนื่องจาก GOJEK บริษัทแม่ของ GET มี Passion อีกข้อ นั่นคือการทำอย่างไรให้ผู้ใช้งานสามารถใช้แอปพลิเคชันได้ในทุกประเทศที่เปิดให้บริการ เช่นถ้าไปเวียดนาม หน้าตาของแอป GET ก็จะเปลี่ยนเป็นเวอร์ชันเวียดนามให้เลย ซึ่งหากทำได้จริง จะเท่ากับว่า โอกาสในการสเกลธุรกิจของ GOJEK – GET ยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สำหรับภาพรวมที่ GET นำเสนอมาในวันนี้ ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า นี่คือการปรับตัวสไตล์สตาร์ทอัพที่มีต่อยุค Digital Disruption อย่างแท้จริง โดยแกนกลางของการปรับตัวนี้ก็คือ “ความรวดเร็ว” และการอิงกับแพลตฟอร์มเป็นสำคัญ ส่วนผลของการปรับแผนนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยอย่างไร ปี 2020 คงมีคำตอบให้เราได้เห็นกัน

อ่านเพิ่มเติม

“หมดยุคเผาเงิน” Grab เปิดตัว GrabPay Wallet เบนเข็มสู่ธุรกิจสินเชื่อ-ประกัน ชี้ยังไม่เคยเห็นใครไม่มีกำไร

SCB ทุ่มลงทุน GOJEK – KBank ลงทุน Grab “ศึกชิงดาต้า” ผ่าน Ride-hailing ที่แท้ทรู

เปิดดีล 6 พันล้าน Central ทุ่มซื้อหุ้น Grab เสริม Digital Platform ตั้งเป้า Delivery on Demand ส่งของภายใน 30 นาที


แชร์ :

You may also like