ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ประเภทขวดพลาสติก และกล่องกระดาษ ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดล้วนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่นับสิบราย ซึ่งแต่ละรายต่างมีจุดแข็งแตกต่างกันไป สำหรับ “BGP” ตั้งเป้าหมายสู่การเป็น Packaging Solutions ใน 3 ปีข้างหน้า ควบคู่ไปกับปณิธานในการดำเนินธุรกิจที่ต้องเติบโตควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม วรวัฒน์ บูรณากาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด หรือ BGP (บีจีพี) ในเครือ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ได้มีโอกาสเผยถึงมุมมองการบริหารธุรกิจไว้อย่างน่าฟัง
ผมทำงานกับบางกอกกล๊าสมาประมาณ 15 ปี ล่าสุดมาดูแล BGP ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ประเภท ฝาพลาสติก ขวดพลาสติก ลัง และกล่องกระดาษลูกฟูก โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการ BGP มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ มีสัดส่วนในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์พลาสติก 55 เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษ 45 เปอร์เซ็นต์ และจากแนวโน้มธุรกิจ E-Commerce ที่เพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษน่าจะเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้นในการบริหารธุรกิจจึงมีความท้าทายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามตลาด การแข่งขันในธุรกิจ ตลอดจนการบริการลูกค้า เพราะเมื่อธุรกิจของลูกค้าเติบโต มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราก็ต้องปรับตัวไปตามความต้องการของลูกค้าทั้งในเชิงบริการและคุณภาพ รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ด้วย
อีกหนึ่งประเด็นที่เราไม่เคยละเลย หรือมองข้าม คือเรื่องของสิ่งเเวดล้อม ด้วยกระแสทั่วโลกที่ทุกภาคส่วนมุ่งไปที่การร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ในเชิงธุรกิจเอง บริษัทฯ ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของโลก ทั้งนี้มองว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่าการจัดการผลิตภัณฑ์ ลัง และกล่องกระดาษลูกฟูก เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากกระดาษสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เกือบ 100% มีทิศทางการตลาดที่ไปได้ดี และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์พลาสติก จำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัว ศึกษา และวิจัยเพื่อหาทางจัดการกับพลาสติกร่วมกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัตถุดิบให้กับบริษัทฯ ในระยะยาวหากยังไม่มีอะไรมาทดแทนพลาสติกได้อย่างชัดเจน อาจมองหาวัตถุดิบอื่น เช่น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) หรือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติมาใช้ควบคู่กัน
ทั้งนี้ในปี 2563 BGP ตั้งเป้าทำการตลาดเชิงรุกที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น ทั้งการนำกระดาษที่ไม่ใช้แล้วจากกระบวนการผลิตมาแยกและส่งไปให้พันธมิตรรีไซเคิล หรือการนำพลาสติกที่เกิดปัญหาในกระบวนการผลิตมาคัดแยกนำส่วนที่ใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ ส่วนที่ไม่สามารถใช้ได้ก็ได้มีการวางแผนจัดทำโครงการร่วมกับพันธมิตร เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นพลาสติกสำหรับการใช้งานในรูปแบบอื่น แทนการนำไปทิ้งให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระยะยาว นอกเสียจากว่า รัฐบาลจะมีกฎหมายออกมาควบคุม ก็อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วยิ่งขึ้น บิ๊กบอส BGP ทิ้งท้าย
เหล่านี้เป็นมุมมองประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของ BGP ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีนโยบายที่ใส่ใจในการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดมา