หากย้อนไปเมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ของปีที่แล้ว เชื่อว่าหลายคนอาจยังจำได้กับป้ายโฆษณาของ Netflix ที่ตั้งเรียงรายใจกลางเมือง กับการชวนคนที่ไม่ได้เดินทางไปฉลองปีใหม่ที่ไหนให้หันมาดูซีรีย์หรือภาพยนตร์บนแพลตฟอร์มของตนเองด้วยข้อความว่า “ไม่ไปไหน ไป Netflix”
สำหรับปีนี้ แม้ว่าเราอาจไม่ได้เห็นป้ายโฆษณาจาก Netflix มากขนาดนั้นแล้วก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่า Netflix ไม่ปล่อยโอกาสที่จะดึงดูดผู้ชมในช่วงเทศกาลหยุดยาวให้ลอยไปแน่ ๆ เพราะมีนักออกแบบที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันดีอย่าง Madeleine Morley ออกมาบอกเล่าถึงกลเม็ดเด็ดพรายที่ Netflix ซ่อนเอาไว้ตามจุดต่าง ๆ ในแอปพลิเคชันของตนเองที่สามารถดึงดูดผู้ชมให้ติดหนึบหนับกับคอนเทนต์ของพวกเขาเอาไว้แล้ว แถมเทคนิคเหล่านี้ยังทำให้ผู้ชมหลายคนกลายเป็น Binge-watcher ได้อย่างไม่ตั้งใจกันเลยทีเดียว
ปรับภาพหน้าปกให้ตรงใจ
เทคนิคข้อแรกคือการปรับแต่งภาพ thumbnail ของซีรีย์ที่นำเสนอ โดยใช้สิ่งที่ Netflix มีอย่างข้อมูลการรับชมของเราเป็นตัวตั้ง Madeleine ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Netflix พบว่าผู้ชม A ชอบดารานักแสดงอย่าง Uma Thurman เป็นทุนเดิม การนำเสนอภาพยนตร์อย่าง Pulp Fiction ก็จะนำภาพของเธอมาทำเป็น Thumbnail ของเรื่อง
ส่วนผู้ชม B ถ้า Netflix พบว่าเขาชื่นชอบ John Travolta เวลานำเสนอภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction ก็จะใช้ภาพ John Travolta แทน หรืออาจกล่าวได้ว่า ประสบการณ์ที่ผู้ชมแต่ละคนจะได้พบบน Netflix นั้นขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของตนเองล้วน ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ในการเสิร์ชหาคอนเทนต์ที่เรา “น่าจะ” สนใจ อัลกอริธึมของ Netflix ก็จะเลือกคอนเทนต์มาแนะนำจากพฤติกรรมการรับชมของเราในอดีตเช่นกัน
นำตอนต่อไปมายั่วน้ำลาย
ข้อนี้หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะไม่ว่าจะเป็นละคร หรือการ์ตูนที่เราเคยดูเมื่อสมัยเด็ก ๆ มาก็ใช้วิธีนี้กับเรามาโดยตลอด เพียงแต่ในอดีตนั้น เราต้องรอจนสัปดาห์หน้าถึงจะได้ดูตอนต่อไป แต่สำหรับยุค Streaming เราไม่ต้องรออีกแล้วนั่นเอง
โดย Madeleine บอกว่า Netflix ใช้วิธีนำตอนต่อไปมาฉายให้ดูเป็นเวลาสั้น ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ซึ่งบางที ผลของการทำเช่นนี้ เราไม่ได้คลิกดูต่อแค่ตอนเดียว แต่เผลอดูรวดเดียวจบทั้งซีซั่นเลยก็มี
ให้เวลาคิดน้อย ๆ
สำหรับคนที่มีความยับยั้งชั่งใจ Netflix ที่ศึกษาพฤติกรรมการรับชมของเรามาอย่างดีก็ไม่ยอมปล่อยเราไปง่าย ๆ เช่นกัน เพราะระบบพอจะคาดเดาได้เหมือนกันว่าเมื่อไรที่เรากำลังรู้สึกผิด และอยากจะหยุดดูแล้ว เมื่อนั้นระบบ Autoplay ตอนต่อไปจะทำงานโดยอัตโนมัติ
ดร. Jan Van Den Fulck นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยว่า Netflix ให้เวลาผู้ชมราว 5 วินาทีเท่านั้นในการตัดสินใจว่าจะดูตอนต่อไปหรือไม่ ซึ่งเขามองว่าสั้นมาก ๆ สำหรับการตัดสินใจว่าจะหยุดหรือไปต่อ หรือเปรียบได้กับการมีคุ้กกี้วางอยู่ตรงหน้า แล้วให้เวลาคิดแค่ 5 วินาทีว่าจะกินหรือไม่กิน ซึ่งการให้เวลาคิดน้อย ๆ เช่นนี้ ทำให้บางคนตัดสินใจหยิบมากิน แม้จะกำลังรู้ตัวว่าคุ้กกี้ไม่ดีต่อสุขภาพก็ตาม
อย่าปล่อยให้ผู้ชมรู้สึกผิด
ข้อนี้สำคัญทีเดียว เพราะถ้าผู้ชมรู้สึกผิด พวกเขาก็จะรู้สึกไม่ดีกับตัวเองและแพลตฟอร์ม ดังนั้น หลังจากดึงเราไว้กับตอนต่อไปได้แล้ว ปุ่ม Skip Intro ก็จะปรากฎตัวขึ้นมา เพื่อทำให้เรารู้สึกผิดน้อยลงที่จะดูต่อ เพราะอย่างน้อย เราก็มีการกดข้าม ๆ ไปบ้างแหล่ะน่า
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ใครที่อยากดู Netflix ให้น้อยลงก็มีทางเลือกอยู่เช่นกัน นั่นคือเข้าไปที่ Account เพื่อปิดการทำงานของระบบ Autoplay ซึ่งจะทำให้ Netflix ไม่สามารถเล่นตอนต่อไปได้โดยอัตโนมัติจ้า