ปัจจุบัน ตลาดตู้กดสินค้าอัตโนมัติ Vending Machine ของไทย คาดมีจำนวนตู้กดฯ ทั่วประเทศกว่า 2.5 หมื่นตู้ จากจำนวนผู้เล่นหลักไม่กี่แบรนด์ และกำลังจะเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคต ตามพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการหาซื้อของกินได้แบบตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นในธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่หลายแบรนด์ เตรียมลงมาเล่นเพื่อขอส่วนแบ่งในตลาด Vending Machine เช่นกัน
รวมไปถึง Player น้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในตลาดได้เพียง 2 ปี อย่างบริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจ Vending Machine แบรนด์เวนดิ้งพลัส ในเครือกลุ่มบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) แต่ด้วยเวลาเพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าสนใจ ด้วยจำนวนตู้กดสินค้าที่กระจายอยู่ใน 21 จังหวัด กว่า 4,000 ตู้ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีอยู่กว่า 1,350 ตู้ จากความสำเร็จดังกล่าวเดินไปตามวิสัยทัศน์ของ คุณชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด ที่มองเห็นอนาคตตลาด (Vending Machine) ในบ้านเรา
5 กุญแจความสำเร็จ “เวนดิ้ง พลัส”
หากลองถอดกุญแจความสำเร็จของ เวนดิ้งพลัส ในฐานะน้องใหม่ในตลาดตู้กดสินค้า ที่มีอัตราการเติบโตด้านจำนวนตู้กดฯ ในปี 2562 สูงเกือบ 250% เทียบจากปี 2561 ก็จะพบว่ามาจาก 5 ปัจจัยหลัก จากคำบอกเล่าของคุณชูเกียรติ คือ
ปัจจัยที่ 1. คุณภาพตัวตู้สินค้าเวนดิ้งพลัส ที่นำเข้ามาจาก Fuji Electric แบรนด์ตู้กดน้ำกระป๋องอันดับ 1 จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าตลาดตู้กดสินค้าอัตโนมัติของญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้
ปัจจัยที่ 2. ด้านคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าในตู้ฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ตามทำเลที่ตั้ง เวนดิ้งพลัส ในแหล่งต่างๆ
ปัจจัยที่ 3. เทคโนโลยีการใช้งานที่ตอบรับความสะดวกสบายในการชำระเงินของผู้บริโภค
ปัจจัยที่ 4. ด้าน “ทำเล” ที่ตั้ง ซึ่งตรงกับความต้องการกลุ่มเป้าหมาย ในปัจจุบัน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์การค้า ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส จุดบริการโลจิสติกส์ และ ชุมชนต่างๆ
และสุดท้าย ปัจจัยที่ 5.บุคลากรที่มีคุณภาพ ความชำนาญและเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 15 ปี
อัดนวัตกรรมล้ำๆ ทิ้งห่างคู่แข่ง
นอกจากนี้ บริษัทแม่ ยังให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสินค้า โดยพัฒนา “รูท แมน แอปพลิเคชัน” เพื่อเชื่อมต่อการทำงานระหว่างระบบหลังบ้านและหน้าบ้านได้ ตั้งแต่การตรวจสอบสินค้าคงคลัง การวางจำหน่ายสินค้า และ การจัดส่งหรือเติมสินค้า
พร้อมนำ AI (Artificial Intelligence) มาวิเคราะห์ Big Data ความต้องการสินค้าในแต่ละประเภท ของลูกค้าในแต่ละจุดติดตั้งตู้เวนดิ้งพลัส ได้แบบเดือนต่อเดือน เพื่อให้พนักงานรูท แมน (Route Man) จำนวน 60 คน ที่ดูแลพื้นที่ 21 จังหวัด ให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
และเพื่อให้ เวนดิ้งพลัส ทิ้งห่างจากคู่แข่งมากขึ้นไปอีก คุณชูเกียรติ บอกว่า บริษัทยังได้พัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ประเภทต่างๆ เพื่อรองรับสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในอนาคตอีกด้วย โดยตู้เวนดิ้งพลัส จะสามารถรับชำระค่าสินค้าได้ทั้ง เงินสด e-Wallet , QR Code รวมไปถึงการแลกคะแนนสะสมจาก True Point ให้ลูกค้ากดซื้อสินค้า ได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความตื่นเต้นที่จะเกิดขึ้น ในวงการ Vending Machine โดยเวนดิ้งพลัส ร่วมกับนักวิจัยจาก KBTG กสิกรไทยที่ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี Biometrics และ AI สำหรับการชำระเงินรูปแบบ ‘Face Pay’ สามารถใช้งานได้จริงบนตู้กดน้ำฯ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งลูกค้าที่มีบัญชีธนาคารกสิกรไทย สามารถชำระค่าสินค้าในตู้เวนดิ้งพลัส ได้อัตโนมัติเพียงสแกนใบหน้า พร้อมใส่เบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ โดยหลังจากที่ได้มีการโชว์ตู้ต้นแบบไปในงาน Bangkok Fintech Fair 2019 และการประชุมระดับชาติที่ 35th ASEAN SUMMIT ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีการติดตั้งตู้สินค้าต้นแบบ ให้ทดลองให้บริการที่ สำนักงาน KBTG และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะสามารถนำเทคโนโลยี Face Pay เข้าไปติดตั้งใช้จริงได้ในตู้เวนดิ้งพลัสทุกตู้ฯทันที
รวมไปถึงล่าสุด บริษัท สบาย มันนี่ จำกัด ในเครือบริษัท สบาย เทคโนโลยีฯ ได้อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการ E-Money wallet จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อรองรับการทำธุรกรรม E-Money Payment ผ่านตู้เวนดิ้งพลัส ในอนาคต อีกด้วย
หมัดเด็ด “6.11″ แบรนด์ใหม่มัดใจสายประหยัด
นอกจากการมีตู้กดสินค้าอัตโนมัติของตัวเองซึ่งถือเป็นช่องทางกระจายสินค้าให้กับพันธมิตรธุรกิจแบรนด์สินค้าไม่ต่ำกว่า 30 รายในปัจจุบันแล้ว ชูเกียรติ ยังมองเห็นเทรนด์ ความต้องการสินค้าราคาประหยัด (Budget Brand) ของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าในราคาไม่เกิน 10 บาท ด้วยมองว่าในอีก2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยคาดจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของผู้บริโภคในสินค้าราคาประหยัดมากขึ้น
โดยในปี 2563 บริษัทจะทำตลาดเชิงรุกสินค้าราคาประหยัด ภายใต้แบรนด์ “6.11 ซีเลคท” (6.11 Selected) ซึ่งเป็นกลุ่มแบรนด์สินค้าที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นในช่วง 2-3 เดือนของปีนี้ที่ผ่านมา วางตำแหน่งให้เป็นสินค้า แบรนด์ราคาประหยัด (Budget Brand) ด้วยมองเห็นช่องว่างการทำตลาดสินค้า Budget Brand ของไทย ที่ยังมีผู้เล่นจำนวนไม่มากในช่องทาง Vending Machine
ปัจจุบัน สินค้าโดยทั่วไปจะมี 2 เทียร์ คือ เทียร์แรก กลุ่มสินค้าแบรนด์หลัก ที่เป็น Original Brands ต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้ามีราคาสูง กลุ่มนี้มีสัดส่วนทั้งตลาดราว 65% และอีกกลุ่ม คือ สินค้า Budget Brand กลุ่มนี้จะเป็นสินค้ามีราคาไม่สูง เฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาท มีสัดส่วนราว 35% ซึ่งบริษัทคาดการณ์ว่าตลาดสินค้าบัดเจ็ทแบรนด์ จะมีโอกาสเติบโตสูง ตามความต้องการลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่จะคำนึงถึงราคาสินค้ามากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทจะใช้กลยุทธ์คุณภาพสินค้า โดย Outsourcing การผลิตสินค้ารายการต่างๆ จากพันธมิตรผู้ผลิตสินค้า Original Brands ซึ่งมีมากกว่า 30 ราย โดยจะจำหน่ายสินค้าส่วนใหญ่ในราคาตั้งแต่ 6 บาท ถึง 11 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ประหยัดกว่า Original Brands กว่า 10-30% จากการที่บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการทำตลาดในช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าของตัวเองได้ โดยแบ่งสัดส่วน 90-95% เป็นสินค้าเครื่องดื่ม และอีก 5-10% เป็นกลุ่มขนมขบเคี้ยว โดยในปี 2563 นี้ บริษัทวางแผนขยายไลน์สินค้าเพิ่มทั้งในกลุ่มเครื่องดื่ม และ สแน็ก อย่างละไม่ต่ำกว่า 20 รายการ เข้าสู่ตลาด
ระดมทุนฯ ปักธงขึ้นผู้นำ Vending Machine
และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจให้สามารถเดินไปได้ตามแผนงานที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดได้นั้น โดยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัท สบาย เทคโนโลยีฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอนุมัตินำเสนอขายหุ้นสาธารณะ(ไอพีโอ) โดยมีทุนจดทะเบียน 1,050 ล้านบาท ชำระไปแล้ว 888 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ เพื่อให้แผนดำเนินงานในปีนี้ของบริษัท เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การปักธงขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง ในตลาดผู้ให้บริการในตลาดตู้กดสินค้าอัตโนมัติ จากจำนวนการติดตั้งตู้เวนดิ้งพลัส ได้เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 4,000 ตู้ทั่วประเทศ พร้อมขยายศูนย์กระจายสินค้าอีก 2-3 แห่ง ทำให้สามารถขยายพื้นที่บริการเพิ่มได้อีก 20 จังหวัด รวมเป็นทั้งหมด 40 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของประชากรไทย และต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศรวมกว่า 80 ล้านคน แต่ยังมีเครื่องให้บริการไม่มาก จากจำนวนตู้ทั้งสิ้นกว่า 2.5 หมื่นตู้ทั่วประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากร 160 ล้านคน และมีจำนวนเครื่องถึง 2.5 ล้านเครื่อง