สื่อญี่ปุ่นอย่าง Nikkei รายงานว่า ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ Mazda เตรียมย้ายฐานการผลิตรถยนต์รุ่น CX-3 จากประเทศไทยกลับสู่ญี่ปุ่นแล้ว เนื่องจากปัญหาค่าเงินบาทแข็ง
โดยปัจจุบัน ตัวเลขจาก Nikkei เผยว่าโรงงานของ Mazda ในประเทศไทยนั้น สามารถผลิตรถยนต์ได้ราว 135,000 คันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์รุ่น CX-3 ทั้งสิ้น 25,000 คันต่อปี และจะถูกส่งออกไปขายยังประเทศออสเตรเลีย 14,000 คัน ซึ่ง CX-3 เป็นหนึ่งในรถยนต์ที่ส่งออกมากที่สุดของ Mazda จากประเทศไทย ส่วนฐานการผลิตที่เตรียมไว้นั้นอยู่ที่จังหวัดยามากูชิ ประเทศญี่ปุ่น
ปรับกลยุทธ์รับเงินบาทแข็ง
ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น Toyota, Honda, Nissan, Isuzu และรวมทั้ง Mazda ซึ่งในปี 2018 มีรถยนต์กว่า 2.16 ล้านคันผลิตภายในประเทศไทย โดยครึ่งของยอดการผลิตเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ค่าเงินบาทแข็งและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องเริ่มมองหาทางออกอื่น ๆ ทดแทน เหมือนที่ก่อนหน้านี้ General Motor ก็ต้องเลิกจ้างพนักงาน 300 ตำแหน่งไป หรือกรณีของซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเหล็กให้บริษัทผลิตรถยนต์อย่าง Nippon Steel ที่ปิดตัวโรงงานในประเทศไทยเนื่องจากยอดสั่งซื้อที่น้อยลง
ค่ายรถยนต์กำไรลด
อีกหนึ่งตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจนก็คือผลประกอบการที่ไม่อู้ฟู่ดังเดิม โดย Mazda ลดการคาดการณ์กำไรของบริษัทลงครึ่งหนึ่งจาก 110,000 ล้านเยน เหลือเพียง 60,000 ล้านเยน โดยสาเหตุหลักมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 80,000 ล้านเยน ด้านผู้ประกอบการอื่นอย่าง Toyota รายงานจาก Nikkei ก็ชี้ว่าโดนพิษค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่า 90,000 ล้านเยน หรือ 24,670 ล้านบาท ส่วน Honda โดนไป 50,000 ล้านเยน หรือ 13,710 ล้านบาทเช่นกัน
กระทั่ง Mitsubishi ที่มีฐานการผลิตเพื่อการส่งออกใหญ่ที่สุดอยู่ในไทยก็พบปัญหากำไรลดลงในช่วงครึ่งปีหลังจำนวน 22,200 ล้านเยน หรือ 6,080 ล้านบาทด้วย
สถานการณ์นี้จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามดูว่า จะไปจบลงที่จุดใด