ผ่านมาแล้ว 2 ปีกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” สนับสนุนสนับการฝึกอบรบและเงินช่วยเหลือ ลดค่าใช้จ่ายกับสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง และอื่นๆ ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หลังจากเริ่มโครงการ Kantar สรุปพฤติกรรมการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทย ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรม FMCG และธุรกิจค้าปลีกว่าเปลี่ยนไปอย่างไร
รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” มาตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีผู้อยู่ในระบบ 14.5 ล้านคน โครงการนี้รัฐมีจุดมุ่งหมายให้เงินช่วยเหลือความเป็นอยู่แก่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ต้องใช้งบประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี และยังได้รับการอนุมัติต่อเนื่องจนถึงปี 2563
แน่นอนว่าหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าแล้ว “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ได้ช่วยกลุ่มรายได้น้อยได้จริงหรือไม่ กลุ่มคนเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และส่งผลต่อภาพรวมอย่างไร?
ผู้บริโภคยอมจ่ายมากขึ้น
จากผลสำรวจของแผนก Worldpanel คันทาร์ (Kantar) บริษัทวิจัยข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก พบว่าในบรรดา 9.4 ล้านครัวเรือนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ คิดเป็น 37% ของครัวเรือนในประเทศไทยทั้งหมด
กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยปกติจะใช้จ่ายน้อยกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูง เนื่องจากมีเงินค่อนข้างจำกัดโดยเฉพาะการใช้จ่ายต่อครั้ง จะเห็นได้ชัดว่าปกติครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะมีค่าเฉลี่ยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 74 บาทต่อครั้งในปี 2560
แต่เมื่อเทียบก่อนและหลังโครงการเห็นได้ว่า หลังจากที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งได้รับเงินเดือนละ 200-300 บาทสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มคนเหล่านี้มีการใช้จ่ายสูงขึ้น 9% หมายความว่าเงินในบัตรช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มการใช้จ่ายอย่างเห็นได้ชัด
เบื้องหลังการจับจ่ายมากขึ้นนี้ “คันทาร์” พบว่าเกิดจากพฤติกรรมที่คนบางกลุ่มนำเงินไปซื้อสินค้าจำนวนชิ้นมากขึ้นหรือขนาดใหญ่ขึ้นต่อครั้ง ถือเป็นผลดีกับผู้บริโภคที่ได้ซื้อสินค้าในปริมาณมากขึ้นและส่วนใหญ่จะมีความคุ้มค่ากว่าการซื้อในไซส์ใหญ่
บางกลุ่มซื้อสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น เช่น เปลี่ยนจากผงซักฟอกสูตรธรรมดาเป็นสูตรเข้มข้น หรือเปลี่ยนเป็นแบบน้ำ ซึ่งพฤติกรรมนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสินค้า ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการว่าจะปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เข้ากับผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างไร
ร้านโชห่วยยังไม่ตาย
ช่องทางการขายในประเทศไทยนั้นยังคงเป็นร้านค้าตามชุมชนและร้านโชห่วย สูงถึง 45% ของยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด แม้ปัจจุบันช่องทางเหล่านี้เริ่มมีบทบาทน้อยลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของร้านสะดวกซื้อและไฮเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ผู้บริโภคมีช่องทางการจับจ่ายทางเลือกหลากหลายมากขึ้น
แต่หลังจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มขึ้น และมีร้านธงฟ้าประชารัฐกว่า 7 หมื่นร้านทั่วประเทศไทย มีส่วนช่วยทำให้บทบาทของร้านค้าตามชุมชนและร้านโชห่วยกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งและเติบโตถึง 6% เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ โครงการนี้ส่งผลดีต่อภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค สร้างโอกาสให้ร้านค้าเล็กๆ รวมไปถึงโอกาสของผู้ผลิตสามารถนำเสนอสินค้าตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าบัตรคนจน
คุณชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด คันทาร์ (เวิร์ลพาแนล) ประเทศไทย มองว่า โอกาสของแบรนด์สินค้า FMCG คือ การจัดจำหน่ายไปยังช่องทางที่ตรงกับกลุ่มผู้ถือบัตร เพื่อทำให้สินค้าถูกเลือกลงไปในตะกร้าของผู้บริโภค สิ่งที่เห็นได้ชัดจากโครงการนี้คือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะเรื่องรายได้และอำนาจในการใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถมองข้าม