HomeBrand Move !!หมดยุคเฟื่องฟูโทรทัศน์ ‘ทีวีบูรพา’ พลิกโมเดลรอด ด้วย 3 ธุรกิจ ‘คอนเทนต์-ออนไลน์-IMC’

หมดยุคเฟื่องฟูโทรทัศน์ ‘ทีวีบูรพา’ พลิกโมเดลรอด ด้วย 3 ธุรกิจ ‘คอนเทนต์-ออนไลน์-IMC’

แชร์ :

คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ

กว่า 20 ปี ในธุรกิจทีวี ตั้งแต่ยุคเคเบิล ทีวีดาวเทียม มาถึงทีวีดิจิทัล ท่ามกลางการบาดเจ็บของวงการโทรทัศน์ “ทีวีบูรพา” อาการไม่ต่างจากรายอื่นๆ  ต้องปรับตัวหา “ทางรอด”  ด้วยบิสสิเนส โมเดลใหม่ กับจุดยืน White Content  จาก DNA นักเล่าเรื่อง พัฒนาสู่ “คอนเทนต์ โซลูชัน” แข่งขันในโลกเทคโนโลยี Disruption

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากผู้ผลิตสื่อสารคดีเชิงสร้างสรรค์ ในยุคสังคมอุดมปัญญา จุดเริ่มต้นของ “ทีวีบูรพา” ผ่านยุคเฟื่องฟูของวงการโทรทัศน์กว่า 100 ช่อง ทั้งเคเบิล ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัล เมื่อโลกของสื่อกระแสหลักถูก Disrupt  ทำให้ทุกคอนเทนต์อยู่ในมือของผู้ชม ไม่ต้องรอเฝ้าหน้าจออีกต่อไป เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทั้ง “ช่องทีวีและผู้ผลิตคอนเทนต์” ต้องปรับตัว  เพราะการอยู่ในสื่อทีวี ที่วันนี้ราคาโฆษณา ไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตคอนเทนต์และการหารายได้ แม้แต่ทีวีดิจิทัลเรตติ้งกลุ่มท็อปยังเหนื่อย ในฟากของผู้ผลิต “จึงเป็นเรื่องยากที่จะทนให้อยู่รอดได้”

ไม่เปลี่ยนก็สูญพันธุ์

คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ประธาน บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด กล่าวว่าตั้งแต่เริ่มต้นทีวีดิจิทัลในปี 2557 จำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีมากขึ้นตามไปด้วย ท่ามกลางการแข่งขันสูง ต้นทุนการผลิตคอนเทนต์พุ่งขึ้น แต่ราคาโฆษณากลับลดลง และการเข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนรูปแบบการเสพคอนเทนต์ จากหน้าจอทีวีไปสู่ “จอมือถือ” ที่สะดวก เป็นสิ่งที่ทำให้ ทีวีบูรพา ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ดึงบุคลากรคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีม

พร้อมเปลี่ยน บิสสิเนส โมเดล จากเดิมผลิตรายการทีวี มีรายได้จากการค้าขายเวลาโฆษณา มาเป็น “คอนเทนต์ โซลูชัน” ใช้จุดแข็ง DNA นักเล่าเรื่อง (storytelling) ขยายสู่งานผลิตคอนเทนต์  IMC และแพลตฟอร์มออนไลน์

 ในช่วงเวลาที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทีวีบูรพา อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว  

ยุคเริ่มต้นของทีวีบูรพาในปี 2546 รายการสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักอย่าง  “คนค้นฅน”  ทางช่อง 9 อสมท ที่อยู่ยาวนานมาถึงปัจจุบันกว่า 17 ปี  แต่ก็เป็นเพียงรายการทีวีเดียวที่เหลืออยู่หน้าจอในขณะนี้ รายการอื่นๆ ที่เป็นแบรนด์ของทีวีบูรพา ได้มุ่งหน้าสู่ แพลตฟอร์มออนไลน์  เช่นเดียวกับ “คนค้นฅน”  แม้ยังอยู่หน้าจอทีวี ก็ต้องขยายไปสร้างฐานแฟนในโลกดิจิทัลด้วยเช่นกัน

“นี่คือ Passion  ของเราในโลกออนไลน์ เราอยากทำงานแบบไม่มีข้อจำกัดว่าต้องไปขอเวลาจากสถานีทีวีมาผลิตรายการ กว่าจะได้เวลาทำสักรายการก็ยาก แต่โลกออนไลน์ ทุกคนมีแพลตฟอร์มอยู่ในมือ เปรียบได้กับการมีช่องทีวีของตัวเอง ไม่ต้องไปขอเวลาใครผลิตรายการ  วันนี้หากมีไฟจะทำรายการอะไร ก็ทำได้ทันที  เมื่อทีวีบูรพา เลือกที่จะลงมาในสนามออนไลน์ ก็ต้องเปิดมุมคิดผลิตรายการรูปแบบใหม่ ตามที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ทำงาน และต้องทำเลย”

คนค้นฅน : ปู่เย็นเฒ่าทรนง

มาถึงวันนี้บทบาทของคนสื่อรุ่นเก่า ก็ต้องปรับตัวไปกับโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน  จากเดิมการคิดผลิตสารคดีทีวีจะทำแบบรายสัปดาห์  แต่วันนี้คนรุ่นใหม่มีความสามารถ  Facebook Live  ได้ทุกที่ ผลิตคอนเทนต์ได้แบบเรียลไทม์ การทำคอนเทนต์ ออนไลน์ของทีวีบูรพา ก็ต้องเปลี่ยนมุมคิดใหม่ ต้องมี Speed การทำงานเร็วขึ้นกว่ายุคทีวี

คุณสุทธิชัย หยุ่น และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นไอดอลของผม เป็นตัวอย่างของการปรับตัวของคนสื่อรุ่นเก่าสู่ยุคสื่อใหม่ สนุกกับการใช้เทคโนโลยี มีไฟในการทำงาน ทำให้เห็นว่าคนสื่อรุ่นเก่ายังมีพื้นที่ในโลกดิจิทัล

‘3 ธุรกิจ’ พลิกทีวีบูรพากลับมาโต

ธุรกิจทีวีบูรพา ที่ไปได้ดีในช่วงก่อนทีวีดิจิทัล เริ่มติดลบมีคู่แข่งมากขึ้น  ปี 2559 “ทีวีบูรพา” ปรับโครงสร้างธุรกิจจากผู้ผลิตคอนเทนต์ขายเวลาโฆษณา มาสู่ “คอนเทนต์ โซลูชัน”  ด้วย 5 ธุรกิจ คือ Content, Media, IMC, Online  และธุรกิจใหม่ เช่น ตลาดต่างประเทศ

คุณชนวัฒน์ วาจานนท์

คุณชนวัฒน์ วาจานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด กล่าวว่าหลังปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่มา 3 ปี  พบว่ามีบางธุรกิจไปได้ดีและบางธุรกิจยังต้องปรับ ปี 2563 ทีวีบูรพา วางบิสสิเนส โมเดล ใหม่อีกครั้งเหลือ 3 ธุรกิจ  คือ Content Storytelling ,Online และ IMC  เนื่องจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมากลุ่ม Content เติบโต 25-30%  ส่วน IMC โตทุกปี ปีละ 30%  และออนไลน์โตขึ้น 4 เท่า หรือ 400%

ด้วยกลยุทธ์ คอนเทนต์ โซลูชัน  จึงทำงานเป็น Strategic Partner กับลูกค้าระยะยาว ดูแลการสื่อสารครบวงจร ปัจจุบันมีลูกค้าราชการ 49%  เพิ่มขึ้นจาก 3 ปีก่อน สัดส่วนอยู่ที่ 5-10% ปี 2562 กลุ่มนี้เติบโต 127%  ส่วนลูกค้าเอกชน สัดส่วน 51%  ปีที่ผ่านมารายได้กลุ่มนี้ลดลง 10% จากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ภาคเอกชนรัดเข็มขัด ตัดงบการสื่อสาร เน้นใช้งบส่งเสริมการขายแทน

ปี 2563 มองการขยายตลาดกลุ่มลูกค้า SME ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ขนาดธุรกิจ 300-400 ล้านบาท ที่ต้องเริ่มมีการสื่อสารเรื่องแบรนด์ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำการตลาดอย่างจริงจัง กลุ่มเอเยนซีและโปรดักชั่นเฮาส์ใหญ่ๆ ไม่ได้ลงมาทำตลาดนี้ จึงมองเป็นโอกาสของทีวีบูรพาที่จะเข้าไปเจาะกลุ่มนี้

อีกกลุ่มคือ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และ MAI  ที่ทำเรื่องความยั่งยืน ESG  (Environmental Social Governance) มากขึ้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจท็อปเทนในตลาดหลักทรัพย์แต่ละหมวด ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG อย่างจริงจัง ซึ่งก็ตรงกับ DNA การผลิตคอนเทนต์ของ ทีวีบูรพา  ที่ทำเรื่อง จิตอาสา ปลูกป่า ดูแลสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม  มองว่าการผลิตคอนเทนต์และการสื่อสารแนว ESG  ยังมีโอกาสขยายงานในกลุ่มคอร์ปอเรทรายใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง

มุ่งคอนเทนต์ Storytelling

ในกลุ่มธุรกิจคอนเทนต์  ปี 2563  ทีวีบูรพา ได้ออกจากธุรกิจมีเดีย รูปแบบขายเวลาโฆษณารายการทีวี หลังจากกลางปี 2562  ยกเลิกผลิตรายการ “กบนอกกะลา” ทางช่อง 9 เนื่องจาก “ขาดทุน” จึงต้องหยุดเลือด และ ย้ายไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์  ปัจจุบันเหลือ “คนค้นฅน” รายการเดียว

กลยุทธ์ธุรกิจคอนเทนต์ ในปีนี้ เป็นรูปแบบ Storytelling ถือเป็น DNA ของ ทีวีบูรพา โดยใช้ศักยภาพของทีมงาน  ทำคอนเทนต์ Storytelling ให้ลูกค้า  เช่น คอนเทนต์ แนวสร้างการจดจำแบรนด์ แนวสร้างแรงบันดาลใจ จะใช้ทีมคนค้นฅน  หากเป็นแนวเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย จะเป็นทีมกบนอกกะลา

“เราไม่ได้เป็นคอนเทนต์ โปรวายเดอร์ ที่ผลิตงานแล้วส่งให้แพลตฟอร์มต่างๆ  แต่เราผลิตงานแล้วส่งต่อไปให้ลูกค้าหรือแบรนด์ต่างๆ ทั้งเอกชนและราชการ ในรูปแบบ คอนเทนต์ โซลูชัน”

สำหรับคอนเทนต์ สารคดีที่สร้างขึ้นเอง ช่วง 2-3 ปีนี้ และเคยออกอากาศในทีวีดิจิทัลไปแล้ว  ทีวีบูรพายังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกับสถานีทีวีอยู่ และได้นำลิขสิทธิ์รายการออกขายในตลาดโลก จัดอยู่ในกลุ่มพรีเมี่ยม คอนเทนต์  ปัจจุบันมีผู้ผลิตคอนเทนต์และสถานีทีวีในเอเชียซื้อลิขสิทธิ์รายการไปออกอากาศ ในหลายประเทศ  เช่น สารคดีชุด Tasty Journey  วัฒนธรรมยั่วน้ำลาย ทาง AFC , The Snake Master ทาง Discovery Asia , สารคดี  Wet Land ทีวีในบรูไน ปีนี้ได้ร่วมมือกับ icomfilm จากอังกฤษ ทำ Co Production ให้ NAT GEO Wild ทำสารคดีชุด  Thailand Wild Side ออกอากาศ ที่สหรัฐ ยุโรป และนิวซีแลนด์

เปิดตัว “ออนไลน์ แพลตฟอร์ม”  มี.ค.นี้

กลุ่มธุรกิจออนไลน์  ในเดือน มี.ค.นี้ จะเปิดตัว Online Platform  ของทีวีบูรพา เป็น web portal รวมคอนเทนต์รายการ 4 แบรนด์หลัก คือเรื่องของคน (people)  แบรนด์ “คนค้นฅน”  โดยจะต่อยอดทำกิจกรรม “ทอล์กโชว์” แนวสร้างแรงบันดาลใจ ,  กลุ่มโนว์เลจ  แบรนด์ The Kob (กบนอกกะลา) , กลุ่มไลฟ์สไตล์ แบรนด์ Tasty Journey  เป็นรายการท่องเที่ยว กิน ดื่มและการใช้ชีวิต และกลุ่มสิ่งแวดล้อม แบรนด์  Wild Life

ปัจจุบันช่องทางออนไลน์ของทีวีบูรพา คือ Facebook และ YouTube  โดยมีฐาน Fanbase ในโซเชียล มีเดียกว่า 1 ล้านผู้ติดตาม  ปีที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองทำรายการ คนค้นฅน ทางออนไลน์  คลิปสั้น 5 นาที โพสต์ลงเฟซบุ๊ก “คนค้นฅน” ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 7 แสนราย  มียอดวิวรวม 20 ล้านวิว เฉลี่ยคลิปละ 2 แสนวิว  ปีนี้จะผลิตคอนเทนต์ “คนค้นฅน” รูปแบบต่างๆ อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น  ส่วน  The Kob  รีแบรนด์มาจากรายการ “กบนอกกะลา” นอกจากคอนเทนต์แนวความรู้ จะมีกิจกรรม “กบจูเนียร์” การทำเทรนนิ่ง แคมปิ้ง ให้โรงเรียนต่างๆ

“ทีวีบูรพาได้ปรับตัวจากการเป็น โปรดักชั่น เฮาส์ ผลิตรายการให้สถานีทีวี มาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในทุกๆ ที่ (Content Everywhere)  เราสร้างคอนเทนต์แบบมัลติ แพลตฟอร์ม ที่ตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย ขึ้นอยู่กับโจทย์ งาน และโปรเจกต์ต่างๆ นำด้วยคอนเทนต์ ตามด้วยกลยุทธ์ทุกรูปแบบ”

นอกจากนี้ได้ขยายธุรกิจสู่ Online Agency ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การดูแลกลยุทธ์ การสร้างแบรนด์ การสร้างการรับรู้ และการเล่าเรื่อง  ทำให้กับลูกค้าภาครัฐ เช่น  เพจ Bangkok Stories เล่าเรื่องดีๆ ของคนกรุงเทพฯ  ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร

ส่วนกลุ่ม IMC การสื่อสารแบบบูรณาการ ดูแลการผลิตคอนเทนต์ กิจกรรมและการสื่อสารให้ทั้งลูกค้าหน่วยงานรัฐ เช่น กองทุนพัฒนาไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  กับโครงการ “คนบันดาลไฟ” สร้างการเรียนรู้การใช้พลังงานสะอาด  โดยผลิตรายการทีวี “ภารกิจพิชิตตะวัน” ทางไทยรัฐทีวี การจัดเวิร์กช็อปพลังงานสะอาด ดูแลการสื่อสารออนไลน์เพจให้โครงการ

นอกจากนี้ยังเป็น Lead Agency ให้กับ  BMW Thailand เป็นปีที่ 3  ทำงานด้าน Content Stories และการสื่อสารครบวงจร

ในยุค Technology Disruption ทีวีบูรพาปรับเปลี่ยน เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภค เชื่อว่า 3 ธุรกิจหลัก ทั้ง คอนเทนต์ ออนไลน์ และ IMC  จะทำให้ปีนี้ยังเติบโตได้ 20-25% ด้วยจุดยืน White Content Provider


แชร์ :

You may also like