HomeDigital15 ปี vs 15 ความเปลี่ยนแปลงของ Google Maps เป็นอย่างไรให้มากกว่า “ผู้ให้บริการแผนที่”

15 ปี vs 15 ความเปลี่ยนแปลงของ Google Maps เป็นอย่างไรให้มากกว่า “ผู้ให้บริการแผนที่”

แชร์ :

หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเวลาที่ไม่นานเลย กับการมีไอคอน Google Maps อยู่บนสมาร์ทโฟน แต่หากย้อนอดีตกันจริง ๆ ก็ต้องบอกว่า เรามี Google Maps ให้ได้ใช้งานกันมาแล้วถึง 15 ปี ซึ่งใน 15 ปีนี้ มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบน Google Maps กันบ้าง และในอนาคตข้างหน้า พวกเขาจะเติบโตไปในทิศทางไหน เราเลยอยากชวนให้ลองไปติดตามแนวคิดของพวกเขากันค่ะ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. การเปิดตัว Google Maps ในยุคเริ่มแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2005 มีเป้าหมายคือการนำพาคนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่น่าสนใจว่า เมื่อเวลาผ่านไป 15 ปี ความคาดหวังของผู้ใช้งานที่มีต่อ Google Maps ใน ค.ศ. 2020 อาจไม่ใช่แค่การนำทางอีกต่อไป

2. หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือพฤติกรรมการเสิร์ชของผู้ใช้ Google Maps โดย Google เผยว่า ในยุคเริ่มต้น การเสิร์ชหาข้อมูลบน Maps จะตรงไปตรงมา เช่น ต้องการทราบสถานที่ใด ก็เพียงพิมพ์ชื่อสถานที่ที่ต้องการลงไป อีกทั้งหน้าอินเทอร์เฟสหน้าจอก็จะค่อนข้างเรียบง่าย แต่สำหรับยุค 2020 Google พบว่าผู้ใช้งานป้อนคำถามที่มีความซับซ้อนสูงให้ Google Maps หาคำตอบให้ไปเสียแล้ว ยกตัวอย่างคำถามเช่น What’s the best pizza shop between here and my hotel?

3. คำถามว่ายากแล้ว การตอบให้ได้สมกับที่ผู้ใช้งานคาดหวังยิ่งยากกว่า เพื่อการนี้ ทีม Google Maps บอกว่าบริษัทจึงต้องจัดเตรียมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานที่ให้มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น ภาพรวมของสถานที่ที่อาจต้องมีการให้ดาว, เมนูอาหารแนะนำ (กรณีเสิร์ชหาร้านอาหาร), ช่วงเวลาที่สถานที่นั้นมีคนเยอะ ๆ (Popular Time) ขึ้นมาแสดงประกอบ

4. เมื่อถามต่อว่าข้อมูลเหล่านี้ Google ได้มาจากไหน แน่นอนว่าก็มาจากผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ กันนี่เอง โดยทีม Google Maps เผยว่า พวกเขามีกลุ่มผู้ใช้งานที่เรียกว่า Local Guides คอยช่วยอัปเดตข้อมูลให้กับ Maps อย่างต่อเนื่อง และในวันหนึ่ง ๆ จะมี Local Guides เข้ามาอัปเดตฐานข้อมูลให้กับระบบมากกว่า 20 ล้านคนเลยทีเดียว และในแต่ละปี Google จะมีการจัดอีเวนท์แล้วเชิญ Local Guides จากแต่ละประเทศไปร่วมงานด้วยเช่นกัน

5. อีกหนึ่งทีมพิเศษของ Google คือทีม Street View ซึ่งนอกจากจะเก็บภาพสถานที่ต่าง ๆ ตามปกติแล้ว ยังมีทีมที่ชื่อว่า Street View Special Collection สำหรับเก็บภาพสถานที่ทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ภาพปะการังใต้น้ำ ฯลฯ ด้วย

6. สำหรับปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ Google Maps มีอายุครบรอบ 15 ปี สิ่งที่บริษัททำก็คือการออกแบบ Logo และเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้กับแอปพลิเคชัน ซึ่งทำให้หน้าตาของแอปพลิเคชันใหม่เปลี่ยนไป

7. โดย Google ให้เหตุผลของการออกแบบโลโก้ใหม่ว่า นอกจากการเฉลิมฉลองการครบรอบ 15 ปีแล้ว ทุกวันนี้พวกเขามองว่า Google Maps ได้เป็นมากกว่าแผนที่ไปแล้ว (Beyond Maps) จึงต้องการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ด้วยการนำทุกสีของ Google มาใส่เอาไว้ในตัวหมุด

เมนูใหม่ของ Google Maps

8. ส่วนตัวแอปพลิเคชัน Google Maps เวอร์ชันใหม่จะประกอบด้วยเมนูทั้งหมด 5 ตัว ได้แก่ Explore, Commute, Saved, Contribute และ Update โดยเมนูที่เพิ่มเข้ามาอย่าง Saved มีขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถบันทึกสถานที่ที่ต้องการเอาไว้ได้ ส่วน Contribute มีขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการแนะนำสถานที่นั้น ๆ ได้ง่ายมากขึ้น เป็นต้น (ลองเล่นกันได้ เข้าใจไม่ยาก)

9. อย่างไรก็ดี สำหรับการ Roll Out ฟีเจอร์ใหม่เหล่านี้จะไม่ได้เริ่มพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ให้บริการในแต่ละประเทศ แต่ผู้ใช้งานจะเริ่มมองเห็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ เหล่านี้ รวมถึงโลโก้ใหม่ได้ตั้งแต่เย็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ขอบคุณภาพจาก The Verge

10. ความท้าทายของ Google Maps ในวันที่อายุครบ 15 ปีอาจเป็นข่าวที่หลายคนทราบกันดีกับเรื่องของ Google Maps Hacks ที่มีศิลปินรายหนึ่งชื่อ Simon Weekert นำสมาร์ทโฟนจำนวน 99 เครื่องใส่ลงในรถกระบะคันเล็ก ๆ แล้วลากไปช้า ๆ บนถนนจนทำให้อัลกอริธึมตีความว่าถนนดังกล่าวมีปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งทีม Google Maps ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ (แต่ถ้ามีคนทำแบบนี้มาก ๆ ทางบริษัทก็จะให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากขึ้น)

11. อย่างไรก็ดี สำหรับหลายคนที่ข้องใจเรื่องรถติดว่า Google Maps คาดการณ์ได้อย่างไรว่าจะเกิดปัญหารถติดหรือไม่ รถจะติดกี่นาที รวมถึงเรื่องที่ว่า Google ใช้อัลกอริธึมเดียวกัน หรือแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทีม Google Maps เผยว่า เป็นการคาดการณ์โดยเรียนรู้ข้อมูลจากอดีต ซึ่งข้อมูลที่ใช้ในการคาดการณ์จะมาจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในอดีตของเมืองนั้น ๆ ว่ามีแพทเทิร์นของปัญหาจราจรอย่างไร (เช่น AI อาจเรียนรู้ว่า กรุงจาการ์ตาอาจมีปัญหารถติดมาจากการก่อสร้าง หรือกรุงเทพฯ มีปัญหารถติดจากน้ำท่วม) รวมถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์จากตัวสมาร์ทโฟนด้วย

12. ไม่เฉพาะคาดการณ์ความหนาแน่นของถนน ปัจจุบัน Google Maps ยังมีฟีเจอร์อย่าง Crowdedness Predictions ที่สามารถคาดการณ์ความหนาแน่นของผู้โดยสารบนรถเมล รถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดินได้แล้วด้วย ซึ่งในบางประเทศ ข้อมูลจะละเอียดถึงระดับที่ว่า ที่นั่งบริเวณไหนอุ่น บริเวณไหนเย็น หรือตู้ไหนเป็นตู้โดยสารสำหรับผู้หญิงได้เลยทีเดียว

13. สำหรับฟีเจอร์ที่ Google Maps มองว่าเป็นอนาคตของแพลตฟอร์มก็คือ Live View (ปัจจุบันยังเป็น Beta Version อยู่) กับการนำความสามารถของ Augmented Reality (AR) เข้ามาใส่ใน Google Maps เพื่อช่วยในการนำทาง (ส่วนแฟน ๆ Google Glass ที่อยากเห็นฟีเจอร์นี้ผ่านแว่นตาดังกล่าวอาจต้องผิดหวัง เพราะ Google Glass เป็นโครงการที่ถูกยกเลิกไปแล้วเรียบร้อย)

14. โดยการทำงานของ Live View คือการผนวกภาพเสมือนจริงจาก Street View เข้ากับแมชชีนเลิร์นนิ่งและเซนเซอร์ของสมาร์ทโฟน ทำให้แอปพลิเคชันสามารถแสดงทิศทางที่เราต้องเดินไปยังที่หมายได้ ซึ่งเป้าหมายของ Google Maps ต่อการใช้ Live View คือการบอกให้ได้ว่า พวกเขาจะต้องเดินไปไกลเท่าไรจึงจะถึงจุดหมาย และ Google มองว่า ความสามารถนี้สามารถต่อยอดได้อีกมากในอนาคต

15. จากจุดเริ่มต้นของการนำพาผู้คนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ทุกวันนี้ Google Maps เป็นเจ้าของภาพแผนที่ความละเอียดสูงมากถึง 220 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ และมีการเดินทางโดยใช้ Google Maps ในแต่ละวันมากกว่า 1 พันล้านครั้ง อีกทั้งยังมีข้อมูลและรีวิวของร้านค้า และสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า 200 ล้านแห่งทั่วโลก ซึ่งทีม Google Maps บอกว่าพวกเขาจะเติบโตต่อไปในฐานะผู้ช่วยของบรรดาเรา ๆ ท่าน ๆ ในการออกไปค้นหาประสบการณ์ใหม่นั่นเอง


แชร์ :

You may also like