ต้องยอมรับว่าการประมูลคลื่นความถี่ 700/1800/2600 MHz และ 26 GHz ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นที่จับตาของทั่วโลกอย่างเต็มตัว ในฐานะประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่มีการอนุญาตให้นำคลื่นความถี่ทั้งย่าน Low-Mid-High Band มาให้บริการ 5G ได้อย่างเป็นทางการ
แต่นอกจากจะทำให้ไทยเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ของโลกในการให้บริการ 5G แล้ว การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ยังทำให้ “ค่ายเอไอเอส” ถูกจับตาในฐานะผู้ชนะการประมูลคลื่น 5G ทุกย่านความถี่มาได้มากที่สุด โดยประกอบด้วยคลื่น 700 MHz จำนวน 30 MHz, คลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 1200 MHz รวมทั้งสิ้น 1330 MHz โดยเมื่อรวมกับคลื่นที่เอไอเอสมีอยู่เดิม (ซึ่งก็มากที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมบ้านเราอยู่แล้ว) ก็ยิ่งทำให้ตำแหน่งของ เอไอเอสในวันนี้ กลายเป็นที่จับตามากขึ้นในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีคลื่นสำหรับให้บริการ 4G และ 5G ในมือมากที่สุดถึง 1420 MHz
ด้านเอไอเอส ไม่รอช้า โดยหลังจากการประมูลคลื่นความถี่จบลงเพียง 3 วัน ทางบริษัทก็มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์ 5G ออกมาอย่างรวดเร็ว โดยคุณปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เผยว่า “ความถี่ที่เราได้รับมาไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่ออนาคต แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าในปัจจุบันด้วย เพราะการประมูลครั้งนี้ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่มากกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ในประเทศไทยอย่างน้อย 40%”
โดยคุณปรัธนาเผยว่า คลื่นความถี่ที่มากกว่านี้ ทำให้ความเร็วในการให้บริการเพิ่มขึ้น 24 เท่า หรือในแง่ของ Capacity เมื่อเทียบกับเครือข่ายในอดีตของเอไอเอส ก็พบว่ามีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30 เท่า และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของความหน่วง (Latency) ที่ลดลงจากเดิม 10 เท่า ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่ต้องการก้าวเข้าสู่ยุค Industrial Automation อย่างเต็มตัว รวมถึงทำให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับการเปิดตัวบริการใหม่ ๆ อย่างเช่น Connected Vehicle ด้วย”
แบนด์วิธเทียบชั้นกลุ่มโทรคมนาคมระดับโลก
นอกจากนี้ หากสังเกตคลื่นความถี่ในย่าน Mid-Band ของเอไอเอสแล้วเทียบกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในระดับ Best-In-Class ของประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น NTT DoCoMo, China Telecom, Verizon, SKT ฯลฯ จะพบว่า มีแบนด์วิธคลื่นย่าน Mid-Band อย่างน้อย 100MHz กันทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คลื่นที่เอไอเอสได้มาจากการประมูลครั้งนี้ทำให้บริษัทก้าวขึ้นไปอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับโลก (World’s Best-In-Class) โดยปริยาย
ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องมีคลื่นในระดับนั้น คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส ได้อธิบายว่า “จากมาตรฐานเทคโนโลยี 5G ที่พัฒนาโดย 3GPP (The 3rd Generation Partnership Project) ระบุว่าคลื่น 700 MHz จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพต้องมีจำนวนแบนด์วิธเต็ม 30 MHz (2×15 MHz) จึงเป็นที่มาของความตั้งใจในการเข้าประมูลย่าน 700 MHz เพิ่มอีก 10 MHz (2×5 MHz) จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 20 MHz (2×10 MHz) รวมเป็น 30 MHz (2×15 MHz)”
“เช่นเดียวกับคลื่น 2600 MHz ที่ 3GPP กำหนดว่าต้องมีจำนวน 100 MHz และคลื่น 26 GHz ต้องมีจำนวน 400 MHz ต่อ 1 Block จึงจะสามารถให้บริการ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันเอไอเอสมีคลื่นทั้งหมดนี้อยู่ในมือแล้ว จึงทำให้เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการที่สามารถรองรับความต้องการด้าน Digital Solutions ของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตได้นั่นเอง” คุณวสิษฐ์กล่าว
ความท้าทายหนึ่งเดียวของการพัฒนาเครือข่าย 5G นับจากนี้จึงอาจเป็นเรื่องของตัวอุปกรณ์ (Devices) ที่ต้องรอผู้ผลิตพัฒนาออกมาให้มากขึ้น โดยปัจจุบัน ตัวเครื่องที่รองรับคลื่น 2600MHz บนเครือข่าย 4G ได้นั้น มีประมาณ 600 รุ่น หรือราว 16 ล้านเครื่อง ซึ่งคุณวสิษฐ์อธิบายในจุดนี้ว่า เป็นผลจากการเริ่มต้นให้บริการของ 4G และ 5G ในประเทศไทยมีความแตกต่างกัน
“โดย 4G เราเริ่มช้ากว่าประเทศอื่นหลายปี ทำให้มีอุปกรณ์ที่รองรับเครือข่าย 4G ได้อยู่ในท้องตลาดแล้วถึง 30 – 40% ขณะที่ยุค 5G เราเริ่มพร้อม ๆ กับประเทศอื่น ดังนั้น การพัฒนาบริการ 5G ให้รุดหน้า จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับหลากหลายเซคเตอร์ช่วยพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน”
โดยหนึ่งในการผลักดันการใช้งาน 5G จากเอไอเอสคือการจับมือกับผู้ประกอบการชั้นนำ เช่น เซ็นทรัลเวิลด์, สยามพารากอน, สามย่านมิตรทาวน์ หรือพื้นที่แยกอโศก ทดสอบสัญญาณ 5G บนคลื่นความถี่ 2600MHz รวมถึงมีการเตรียมสร้างโซน 5G Trial ขึ้นที่ AIS Flagship Store ให้ลูกค้าและผู้ที่สนใจเข้ามาลองสัมผัสกับเครือข่ายและอุปกรณ์ 5G ได้ด้วย
“จะเห็นได้ว่า การมาถึงของ 5G ไม่ได้หมายความถึงการใช้โทรศัพท์มือถือด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงแอปพลิเคชัน หรือในโลกยุคใหม่เรียกว่าการทำ Digitalization ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมด้วย โดยที่ผ่านมาเอไอเอสมีการทดลองร่วมกับหลายภาคส่วน เช่น การทดลองร่วมกับ SCG ในการควบคุมรถขนย้ายสินค้าอัตโนมัติในโรงงานจากระยะไกล, การร่วมมือกับท่าอากาศยานอู่ตะเภาในการพัฒนา Smart Airport รวมถึงการขยายบริการเข้าไปใน EEC ซึ่งภาพของการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า เอไอเอสมีความมุ่งมั่นในการสร้างเครือข่าย 5G ที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยทุกคนอย่างแน่นอน” คุณปรัธนากล่าวปิดท้าย