ปิดตำนาน “Jack Welch” อดีตซีอีโอมือฉมังผู้กุมบังเหียนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง General Electric (GE) แล้วในวัย 84 ปี กับบทบาทที่ทั่วโลกพร้อมจะจดจำเขาในฐานะผู้สร้างการเติบโตให้กับ GE จากบริษัทที่เคยจำกัดตัวเองอยู่ในแวดวงการผลิตไปสู่การเป็นบริษัทที่ทำกำไรอย่างไร้ขอบเขตในเวลาเพียง 20 ปีเท่านั้น
โดยเรื่องราวของ Jack Welch กับการสร้าง GE ให้โลกจดจำเริ่มต้นขึ้นในปี 1960 กับตำแหน่งวิศวกรเคมี ก่อนที่เขาจะไต่เต้าขึ้นมาเรื่อย ๆ พร้อมฝีมือลายมือด้านการบริหารที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด เขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอที่อายุน้อยที่สุดของ GE ได้สำเร็จในปี 1981
อย่างไรก็ดี การเป็นซีอีโอที่มีอายุน้อยที่สุดของเขาถูกโลกจดจำผ่าน 2 คำนิยามที่ผู้คนมอบให้ โดยนิยามแรกคือ “Manager of the century” (ให้ฉายาโดยนิตยสาร Fortunes ในปี 1999) เนื่องจาก Jack Welch ได้ออกแบบโมเดลในการบริหารพนักงาน และองค์กรเอาไว้อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น แนวคิด “Fix it, close it or sell it” ที่ใช้ในการประเมินว่า หากธุรกิจนั้น ๆ ของ GE มีการปรับโครงสร้างแล้วแต่ก็ยังไม่ทำกำไร ก็จงปิดมันเสีย หรือไม่ก็ขายออกไป
หรือโมเดล 20-70-10 ที่แบ่งพนักงานในบริษัทออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่ม 20 คือพนักงานระดับท็อปที่บริษัทสามารถฝากความหวังเอาไว้ได้ และเป็นกลุ่มที่ได้รับการตอบแทนอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโบนัส หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ขณะที่กลุ่ม 70 คือพนักงานที่มีประสิทธิภาพปานกลาง ส่วน 10% สุดท้ายคือพนักงานเกรด C ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน และบริษัทจะคัดออก
ภายในระยะเวลา 5 ปี ด้วยสูตร 20-70-10 ร่วมกับ Fix it, close it or sell it บริษัท GE สามารถลดจำนวนพนักงานไปได้ถึง 112,000 คน (จาก 411,000 คนในปี 1981 เหลือ 299,000 คนในปี 1985) แถมสื่อหลายสำนักยังยกย่องว่า หน่วยงานที่เหลืออยู่ของ GE เป็นทีมที่แกร่งจริง และสามารถทำกำไรให้บริษัทได้เน้น ๆ ทั้งสิ้น เห็นได้จากมูลค่าตลาดของบริษัทที่พุ่งแรงแซงหน้าบริษัทอื่นไปอย่างไม่เห็นฝุ่น
โดยในปี 1980 ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอของ GE บริษัทเคยมีรายได้ราว 26,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2000 พบว่า รายได้ของ GE เพิ่มขึ้นเป็น 130,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าบริษัทพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 410,000 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
คำนิยามอีกข้อเกี่ยวกับ Jack Welch คือ “Neutron Jack” ที่เปรียบเทียบรูปแบบการบริหารของเขาว่าเป็นคล้ายระเบิดนิวตรอนที่เน้นการทำลายเฉพาะจุดโดยที่ไม่ทำให้โครงสร้างหลักเสียหายไปด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการไล่คนออกอย่างไร้หัวใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เน้นการแข่งขันกันนั่นเอง
Jack Welch ยุติบทบาทในฐานะ CEO ของ GE ในปี 2001 ซึ่งหลังจากนั้น เขารับเป็นที่ปรึกษา และออกรายการให้ความรู้ด้านการบริหารกับสื่อหลายสำนัก ก่อนจะป่วยและเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี แนวคิดของ Jack Welch อาจไม่ตอบโจทย์แล้วกับโลกการทำงานยุคใหม่ โดยเฉพาะในระยะหลังที่กฎ 20-70-10 ถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่าเป็นกฎที่ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้อีกต่อไป
กระนั้น สิ่งที่โลกจดจำว่าเป็นผลงานที่เยี่ยมยอดของ Jack Welch ก็ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเลขเป็นหลัก เห็นได้จากการยกย่องว่า เขาก้าวขึ้นมากุมบังเหียน GE ในวันที่บริษัทมีมูลค่าหลักหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในวันที่เขาจากไป GE มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นบริษัทระดับหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ แถม 40% ของตัวเลขนี้มาจากบริการด้านการเงินเสียด้วย
ขณะที่ GE ในยุคหลังจากที่ Welch ยุติบทบาทในฐานะ CEO ก็เริ่มประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มูลค่าบริษัทลดลงไปราวครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ว่า GE จะมีตัวตนต่อไปหรือไม่ในอนาคต อย่างน้อย หากเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ชื่อของ GE และ Jack Welch ก็คงได้รับการบันทึกเอาไว้แล้วในฐานะนักบริหารตัวอย่างที่สามารถสร้างการเติบโตขององค์กรในศตวรรษที่ 20 ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง