ในมุมมองของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ยอมรับว่า การระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงมากที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี นับจากเกิดการระบาดของโรคซาร์ส โดยเฉพาะผลกระทบทางจิตวิทยา เพราะเป็นโรคระบาดใหม่ที่คนยังไม่รู้จัก ทำให้เกิดเป็นความกังวล แต่เชื่อว่าหากทุกคนไม่ปกปิดข้อมูลและรักษาสุขอนามัยพื้นฐานก็จะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ในที่สุด
ประเมินสถานการณ์ 2 กรณี
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟเองนั้น คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสิรฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ยอมรับว่า ยอดขายในประเทศโดยรวมลดลงราว 5% โดยเฉพาะช่องทางในกลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม ที่ยอดขายตกลงอย่างหนัก แต่เนื่องจากโมเดลธุรกิจในประเทศไทยมีช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย รวมทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนไปซื้อสินค้าในหมวดอาหารจากช่องทาง Retailer ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายในช่องทางดังกล่าว เติบโตได้ค่อนข้างดี และมาช่วยบาลานซ์ในส่วนที่ตกลงได้
แต่หากดูภาพรวมผลประกอบการของบริษัทยังเป็นบวกอยู่ เนื่องจากสัดส่วนยอดขายส่วนใหญ่เกือบ 70% เป็นยอดขายจากต่างประเทศ ทั้งในส่วนของการส่งออกไปกว่า 30 ประเทศ และจากการไปตั้งธุรกิจในอีก 17 ประเทศ ซึ่งช่องทางจำหน่ายในต่างประเทศส่วนใหญ่ อยู่ในรูปแบบ Retailer ซึ่งมีประชาชนไปซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเช่นเดียวกัน ทำให้ภาพรวมของธุรกิจยังคงเป็นบวกได้อยู่
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารซีพีเอฟ มองผลกระทบตลอดทั้งปี ไว้ 2 กรณี คือ Best Case ที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายภายในไตรมาส 2 และ Worst Case หรือ กรณีที่สถานการณ์ลากยาวออกไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี
1. Best Case : หากสถานการณ์คลี่คลายและจบลงได้เร็วภายในไตรมาส 2 นี้ บริษัทน่าจะยังคงสามารถรักษาการเติบโตที่เป็นบวกของผลประกอบการไว้ได้ เนื่องจาก กำลังซื้อของประชาชนที่อั้นไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ก็จะกลับมาจับจ่ายกันอย่างคึกคักมากยิ่งกว่าช่วงปกติ โดยซีพีเอฟปิดยอดขายในปี 2562 ที่ผ่านมาราว 5.3 แสนล้านบาท และตามแผน 5 ปี ตั้งเป้าการเติบโตต่อปีไว้ที่ราว 8-10% โดยยอดขายจะแตะ 8 แสนล้านบาท ภายในปี 2566
2. Worst Case : หากสถานการณ์ลากยาวไปจนถึงไตรมาสสุดท้าย ผลประกอบการของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับทรงตัวจากปีก่อนหน้า เพราะยังมีธุรกิจจากต่างประเทศมาช่วยซัพพอร์ต ซึ่งมีเพียงธุรกิจในจีนที่อยู่ในพื้นที่ที่เกิดการระบาด แต่สถานการณ์ล่าสุดโดยรวมเริ่มคลี่คลายลง ขณะที่ในทวีปอื่นๆ เช่น ยุโรป ศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่อิตาลี แต่ธุรกิจของซีพีเอฟ อยู่ในอังกฤษ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย ความกังวลคือ การรักษาประสิทธิภาพของซัพพลายเชนทั้งระบบไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการขนส่งธุรกิจไปยังทั่วประเทศ เนื่องจาก บริษัทดำเนินธุรกิจบนมาตรฐาน Food Safty มาโดยตลอด ทำให้การรักษาความปลอดภัย และด้าน Hygenic อยู่ในระดับสูงสุดอยู่แล้ว แต่ต้องเฝ้าระวังโอกาสในการรับเชื้อจากภายนอกของพนักงาน เพราะหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อระบบการผลิต เพราะต้องปิดไลน์ผลิตที่พนักงานรายนั้นดำเนินการอยู่เพื่อความปลอดภัย และลดโอกาสในการแพร่ระบาด ทำให้กำลังผลิตในภาพรวมลดลง และเกิดผลกระทบต่อกันมาเป็นลูกโซ่
“หากถามถึง ความน่ากลัวของโรค COVID-19 ด้วยความที่เป็นสิ่งใหม่ คนยังไม่คุ้นเคย ประกอบกับข่าวการแพร่ระบาดที่กระจายไปทั่วโลก ทำให้เกิดความวิตกกังวล และหวาดกลัวอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง โรคนี้อาจจะไม่น่ากลัวและรุนแรงเท่ากับการปกปิดข้อมูลของผู้ที่มีความเสี่ยง ทำให้การป้องกันหละหลวม และมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่หากทุกคนไม่ปิดบังข้อมูล และรักษาสุขอนามัยตามพื้นฐานที่ควรปฏิบัติ โรคนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่สามารถป้องกันและเชื่อว่าจะสามารถจะควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็วในที่สุด”
มอบอาหารถึงบ้านฟรี ช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง
ในส่วนของซีพีเอฟเองนั้น ทางผู้บริหารยืนยันว่า ยังไม่มีพนักงานติดเชื้อ COVID-19 แต่มีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังจากการที่มีคนใกล้ชิดเดินทางไปต่างประเทศ และต้องกักบริเวณตัวเอง 14 วัน จำนวน 27 คน ซึ่งทางบริษัทมีการช่วยเหลือพนักงานด้วยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารจากทางบริษัท เพื่อสำรองไว้รับประทานในช่วงที่ต้องกักบริเวณตัวเอง
จากโครงการความช่วยเหลือภายใน นำมาสู่การต่อยอดความช่วยเหลือไปยังผู้เฝ้าระวังและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ซีพีเอฟ ริเริ่มโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัย COVID-19” ด้วยการสนับสนุนอาหารสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดจำนวน และระยะเวลาในการสนับสนุน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ทั้งนี้ ความช่วยเหลือจะแบ่งเป็นในส่วนบุคคลทั่วไปที่ต้องกักบริเวณ 14 วัน แจ้งความประสงค์รับการสนับสนุนอาหารจากซีพีเอฟ ผ่านแอปพลิเคชั่น Line : CPFRESHMART โดยบริษัทจะนำรายชื่อที่ลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบกลับไปยังกรมควบคุมโรค เมื่อผู้ป่วยได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์ “ทีมซีพีเฟรชมาร์ทเดลิเวอรี่” จะนำผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทจัดส่งจากจุดกระจายสินค้าร้านซีพีเฟรชมาร์ทที่มีสาขา 109 จุดทั่วประเทศ (อยู่ใน กทม. 59 สาขา) เพื่อส่งตรงถึงผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ขณะที่ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ จะมีการนำตู้แช่บรรจุอาหารไปให้บริการในโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยนำร่องไปแล้วที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรามาฯ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎ และโรงพยาบาลอื่นๆ ในลำดับต่อไป โดยโรงพยาบาลสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอรับการสนับสนุนอาหารผ่านฮอตไลน์ซีพีเฟรชมาร์ท โทร.1788
สำหรับอาหารที่ทาง CP จะส่งมอบ มีให้เลือก 3 ชุด 34 รายการ ได้แก่ 1. ชุดอาหารพร้อมรับประทาน ที่สามารถอุ่นในไมโครเวฟ เพื่อรับประทานได้ทันที อาทิ ข้าวกะเพราไก่ สปาเก็ตตี้คาโบนารา เกี๊ยวกุ้ง 2. ชุดข้าวแกงถุง ที่สามารถแกะถุงรับประทานได้ทันที และ 3. ชุดอาหารสด เนื้อไก่ เนื้อหมู ที่สามารถนำไปปรุงเมนูที่ต้องการรับประทานได้เองตามต้องการ โดยต้องเลือกเพียงชุดใดชุดหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และจะเริ่มดำเนินการจัดส่งหลังได้รับการยืนยันสิทธิ์ผ่าน SMS แล้ว
“ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 เสาหลักของการพัฒนา ผ่านการพัฒนาคนด้วยการส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ การพัฒนาสังคมด้วยการส่งมอบสิ่งดีผ่านการดำเนินธุรกิจ และการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้ อยู่ภายใต้การดูแลสังคมในฐานะ Good Citizen รวมทั้งในมิติของ People หรือการดูแลผู้บริโภคและคนไทยทุกคน โดยหลัง Kick off โครงการไปตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ปัจจุบันมีผู้สมัครรับสิทธิ์แล้วกว่า 200 ราย โดยคาดว่าจะมีเข้ามาอีกไม่ตำกว่า 1 พันราย ซึ่งซีพีเอฟในฐานะผู้นำที่จุดประกายโครงการเพื่อการดูแลคนในสังคมร่วมกัน อยากขอเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการ หรือหาโซลูชั่นส์ที่เหมาะกับธุรกิจของแต่ละแห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือ และฝ่าฟันอุปสรรคในครั้งนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าในมที่สุดสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายและจบลงโดยเร็ว”