ดีแทคยืนยันมีคลื่นมากพอที่จะให้บริการ 4G ประสิทธิภาพการรับส่งสัญญาณที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า พร้อมพัฒนาบริการ 5G ด้วยคลื่น mmWave พร้อมชี้ความพร้อมของคลื่นที่มีครบทุกย่านความถี่ คือ คลื่นย่านความถี่ต่ำ-กลาง-สูง ซึ่งก่อนการประมูลคลื่น ดีแทคมีคลื่นความถี่พร้อมในย่านคลื่นความถี่ต่ำและคลื่นความถี่กลางแล้ว จึงต้องการคลื่นย่านความถี่สูง (Millimeter Wave หรือ mmWave) มาเสริมทัพชุดคลื่นความถี่เพื่อต่อยอดบริการ 5G นั่นเอง
โดยปัจจุบัน คุณสมัคร สิมพา หัวหน้าสายงานพัฒนาโครงข่าย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เผยว่ามี
- คลื่นความถี่ต่ำ
- คลื่น 900 MHz จำนวน 2×5 MHz
- คลื่น 700 MHz จำนวน 2×10 MHz
- คลื่นความถี่กลาง
- คลื่น 1800 MHz จำนวน 2×5 MHz
- คลื่น 2100MHz จำนวน 2x15MHz
- คลื่น 2300 MHz บนคลื่นทีโอที จำนวน 60 MHz
สิ่งที่ดีแทคต้องการคือคลื่นความถี่สูง 26 GHz ในการนำมาทำ 5G ดังนั้นในการประมูล ดีแทคจึงประมูลคลื่นย่านความถี่สูง และประมูลคลื่นมา 200 MHz ซึ่งเพียงพอในการให้บริการใน ecosystem
สำหรับคลื่น 700 MHz เป็นคลื่นความถี่ต่ำ ดีแทคจะนำมาทำ 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วไทย และเสริมการใช้งานในเมืองโดยเฉพาะย่านอาคารสูง
ข้อมูลล่าสุดไตรมาส 4 ปี 2562 ดีแทคมีสถานีฐาน 98,000 แห่ง (รวม 2G, 3G, 4G) โดย 4G ขยายไปแล้วถึง 49,000 สถานี รองรับการใช้งานทั่วไทย และกำลังขยายบริการคลื่น 2300 MHz ที่ให้บริการบนคลื่นทีโอที เพิ่มอีก 3400 สถานี รวมเป็นบริการคลื่น 2300 MHz มากกว่า 20,000 สถานีในปลายปีนี้ เพื่อตอบสนองการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตต่อเนื่อง
ยืนยันให้บริการ 5G ปีนี้แน่นอน
โดยบริการที่จะเกิดขึ้นก็คือ บริการ FWA (Fixed Wireless Access) บนคลื่น 26 GHz หรือ บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่ ที่ความเร็ว 1Gbps โดยดีแทคมองว่าเหมาะกับที่พักอาศัย ชุมชน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณ WiFi ทำให้รองรับอุปกรณ์ที่ต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มากกว่า
ส่วนบริการ 5G บนคลื่น 700 MHz จะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 เพื่อเพิ่มความครอบคลุมพื้นที่ทั่วไทย โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่รองรับคลื่น 700MHz 5G มีความพร้อมมากขึ้นในท้องตลาด (เช่น Samsung Galaxy S20 Ultra 5G, Huawei Mate30 Pro 5G และแบรนด์อื่นๆ ที่กำลังทยอยเปิดตัวในประเทศไทย)
ส่วนอีกหนึ่งเทคโนโลยีอย่าง Massive MIMO หรือเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งสัญญาณที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า สำหรับบริการ 4G TDD ด้วยการเพิ่มความสามารถ (Capacity) ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อใช้งานรับชมวิดีโอ ความละเอียดสูงแบบ Full HD และการใช้งานอินเทอร์เน็ตอื่นๆ ให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานหนาแน่นและบริเวณตึกสูงอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานข้อมูลในปริมาณมาก และยังมาพร้อมกับ Beamforming ด้วยการส่งสัญญาณแบบเลือกพื้นที่ที่กำหนดได้ตรงจุดเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานได้แม่นยำ การนำ Massive MIMO มาใช้ นับเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมไทย เพื่อรองรับการใช้งานยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในอนาคต
ดีแทคจะเพิ่ม Massive MIMO ทั่วไทยในปีนี้อีกหลายพันจุด เพื่อรองรับการใช้งานดาต้าสำหรับ 4G รวมทั้งเปิดให้บริการ 5G บนคลื่น 26 GHz ในพื้นที่นำร่องช่วงไตรมาส 2 ปีนี้แน่นอน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือคลื่น 3500 MHz ซึ่งดีแทคระบุว่าเป็นคลื่นหลักของ 5G ที่ใช้กันทั่วโลก โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีแผนจะจัดสรรคลื่นความถี่ 3500 MHz ขนาด 300 MHz ซึ่งเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการให้บริการ 5G ให้สอดคล้องกับทั่วโลก โดยดีแทคมองว่า การใช้คลื่นความถี่ 3500 MHz จะทำให้การบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านอุปกรณ์โครงข่าย (Network) และอุปกรณ์ผู้ใช้ (Device) ขณะที่คลื่นย่านความถี่กลางอื่นๆ หรือ 2600 MHz ที่ไทยนำมาใช้ จะมีผู้ให้บริการเริ่มต้นน้อยกว่าโดยมีการใช้งาน 2 แห่ง คือ China Mobile ที่ประเทศจีน และ Sprint ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น