HomePR NewsTBCSD ขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เปิด 6 ข้อเสนอภาครัฐแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน [PR]

TBCSD ขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เปิด 6 ข้อเสนอภาครัฐแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน [PR]

แชร์ :

ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศที่วนเวียนกลับมาสร้างปัญหาเป็นวงเวียนวัฏจักรในเขตเมืองและอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย อันส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลจะยกระดับความสำคัญของปัญหา PM2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายวงกว้างออกไปในหลายจังหวัดของประเทศ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand  Business Council for Sustainable Development :TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้จัดงานเสวนา “ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้ง นำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะต่อระดับนโยบายต่อไป

  • มาตรการแก้ไขต้องชัดเจน–เป็นธรรม

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่อง PM2.5 ปัจจุบันได้ยกระดับกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ (Country Issue) ที่ต้องมีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยทุกภาคส่วน เนื่องจากมีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาจึงต้องพิจารณาข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ และที่สำคัญต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วน โดย TBCSD ก่อตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้ว และมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เป็นสำนักเลขาธิการ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบนเส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน TBCSD ได้สั่งสมประสบการณ์และยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา TBCSD ได้ประกาศแนวทางการขับเคลื่อน TBCSD ในก้าวต่อไป ภายใต้ TBCSD New Chapter ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนครั้งสำคัญในการรวมพลังกันของธุรกิจชั้นแนวหน้าในประเทศไทย ที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นเพื่อ “ส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน”

ปัจจุบัน TBCSD มีองค์กรสมาชิกจากกลุ่มธุรกิจหลักของประเทศกว่า 40 องค์กร จากการร่วมพลังความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจไทย TBCSD จะดำเนินการขับเคลื่อนงานไปยังประเด็นกรณี PM2.5 ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องใช้พลังความร่วมมือ ในการรวบรวมองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ และปรับระบบการทำงานให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานในการแก้ปัญหา โดยต้องอาศัยภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการดำเนินงานร่วมกัน จึงได้มีการหารือกันทั้งภายในสมาชิกเอง กับองค์กรพันธมิตรและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางที่เป็นไปได้ในการป้องกันปัญหา แก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของปัญหาในด้านต่างๆ อันนำมาสู่บทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 “ปัญหา PM2.5 จะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนาน และต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการตั้งเป้าหมาย มีตัวชี้วัด มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำแค่เฉพาะตอนที่มีปัญหาเกิดขึ้น และหยุดตอนที่ปัญหาหมดไป ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าสาเหตุหลักของปัญหา PM2.5 ว่าเกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล เกิดจากการเผาในที่โล่งเป็นหลัก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องมองให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน” นายประเสริฐ กล่าว

ด้าน ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า ในช่วงนี้ ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้เริ่มคลี่คลายแล้ว ความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของ PM2.5 เริ่มลดลงอยู่เกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย คือ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แล้ว และจะลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่หน้าร้อนซึ่งมีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการกระจายตัวของ PM2.5 ทำให้ความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลง  อย่างไรก็ตาม ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะกลับมาอีกในปลายปีนี้ หากยังไม่มีมาตรการที่จะลดการระบาย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดสำคัญของ PM2.5 ในช่วงวิกฤตที่เป็นรูปธรรม คือ รถดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกดีเซลขนาดใหญ่และรถโดยสารดีเซลขนาดใหญ่ และการเผาชีวมวลประเภทต่าง ๆ ในที่โล่ง

ถึงแม้ว่า ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะเริ่มคลี่คลายลงแล้วก็ตาม จังหวัดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย 9 จังหวัด กำลังเริ่มประสบปัญหา PM2.5 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และพบว่า PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงกว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมาร์และประเทศลาว ทั้งนี้ แหล่งที่มาของ PM2.5 ที่สำคัญ คือ การเผาชีวมวลประเภทต่าง ๆ เช่น การเผาป่า การเผาวัสดุชีวมวลที่เหลือจากการทำการเกษตรชนิดต่าง ๆ เป็นต้น และยังมี PM2.5 ที่ลอยข้ามเขตแดนจากประเทศเมียนมาร์และประเทศลาวมาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ภาคเหนือตอนบนในช่วงนี้ก็มีสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของ PM2.5 ดังเช่นที่เกิดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นไปอีก ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลายในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เมื่อมีการเผาชีวมวลลดลงและมีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการกระจายตัวของ PM2.5

ในส่วนของภาคใต้ ช่วงนี้ยังมีคุณภาพอากาศดีไปจนถึงเดือนสิงหาคมซึ่งเข้าสู่หน้าแล้งของทางภาคใต้ ก็จะเริ่มมีระดับ PM2.5 สูงขึ้น โดยแหล่งที่มาของ PM2.5 ที่สำคัญ คือ การเผาป่าเพื่อปลูกปาลม์ในประเทศอินโดนีเซีย และการเผาป่าพรุเพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งของภาคใต้ ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าภาคเหนือตอนบนและกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มาตรการ/แนวทางการแก้ไขควรแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการในระยะยาว ได้แก่ 1) การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้มีสารกำมะถันไม่เกิน 10 ppm 2) การบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษสำหรับรถใหม่ ระดับ Euro 5/V และ Euro 6/VI และ 3) การลดการเผาชีวมวลประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรให้เป็น ”เกษตรปลอดการเผา” ด้วยการสร้างมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น การนำไปใช้ปรับปรุงดินโดยการไถฝังกลบเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินที่ใช้ในการเพาะปลูก การใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน เป็นต้น

การใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ โดยการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปกลุ่มสหกรณ์เพื่อเป็นเจ้าของร่วมกันของอุปกรณ์เครื่องจักร มีการจัดลำดับคิวของการมายืม/เช่าอุปกรณ์ไปใช้ และนำรายได้ที่เกิดจากการให้เช่ามาใช้ในการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลเหล่านั้นหรือซื้อทดแทนใหม่ในอนาคต ซึ่งการลงทุนเบื้องต้นรัฐอาจจะต้องเข้าไปมีส่วนช่วยเกษตรกร มาตรการระยะยาวเหล่านี้จะช่วยทำให้ PM2.5 ลดลงในระยะยาวและอาจจะต้องใช้เวลายาวนานมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป ถึงจะเห็นผล ดังนั้นในช่วงวิกฤตที่สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของ PM2.5 จะต้องมีมาตรการในช่วงวิกฤตที่ลดการระบาย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ เป็นพิเศษเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงอื่น ๆ ของปี เช่น

1) การปรับเปลี่ยนรถบรรทุกดีเซลขนาดใหญ่ ทั้งรถ 6 ล้อ และรถ 10 ล้อ และรถโดยสารดีเซลขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง (รถทัวร์นักท่องเที่ยว รถรับส่งพนักงานบริษัท/โรงงาน) ให้เป็นรถปลอดควัน เช่น รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลง รถที่ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนมอเตอร์ และรถมาตรฐาน EURO VI ที่มีอุปกรณ์กรองฝุ่นและอุปกรณ์กำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (ต้นเหตุของ PM2.5 ทุติยภูมิ) ซึ่งจะทำให้รถเหล่านี้ยังสามารถใช้งานอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหา PM2.5

2) การอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยไม่ต้องเข้ามาที่สำนักงานเพื่อลดการจราจรที่ติดขัด

3) มาตรการอื่น ๆ ที่ลดการจราจรติดขัดให้น้อยลง ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตรการที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริงและเป็นที่ยอมรับได้ต้องเป็นมาตรการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

  • 5 กระทบเศรษฐกิจ 3,200–6,000 ล้านบาท

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (PM2.5) ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในไทยและนับวันสถานการณ์จะยิ่งรุนแรงขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญ เนื่องจากกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว อีกทั้งมีผลในเชิงภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งการวัดและประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุมในทุกมิติเป็นเรื่องยาก สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์จากค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากการปรับพฤติกรรมของประชาชน ที่สำคัญคือ 1.ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งการป้องกันผ่านการจัดหาซื้อหน้ากากอนามัย/เครื่องฟอกอากาศ และการรักษาด้วยการไปพบแพทย์ 2.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแผนของนักท่องเที่ยวทั้งจุดหมายและกิจกรรมที่ทำระหว่างการท่องเที่ยว และ 3.ผลกระทบอื่นๆ เช่น การหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ร้านอาหารหรือตลาดนัดริมทาง ทั้งนี้ จากการเบื้องต้นในประเมิน พบว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจาก PM2.5 ของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจคิดเป็นมูลค่าราว 6 พันล้านบาทในกรอบเวลา 1 เดือน ซึ่งปัญหานี้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ก็จะยิ่งปะทุความรุนแรงขึ้นอีกในทุกๆ ปี จึงนับเป็นโจทย์ท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

  • ชูงานวิจัย–นวัตกรรมแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการผลักดันให้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไทย ในประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศและ PM2.5 วช. ได้สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) ตั้งแต่ปี 2559 มุ่งเน้นให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นละออง/หมอกควันอย่างเป็นระบบ โดยมีผลงานเชิงประจักษ์ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนลักษณะรูปแบบทางการเกษตรกรรม ข้อเสนอเชิงนโยบาย การพัฒนาเครื่องวัดค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) “DustBoy” และระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ (NRCT AQIC) ปัจจุบัน วช. เดินหน้าสู่การบูรณาเพื่อลดปัญหาฝุ่นด้วยกลไก Quadruple Helix ผ่านกิจกรรมการแข่งขันแก้ไขปัญหาร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ การหาแนวทางการจัดทำมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 รูปแบบ Low Cost Sensor จากงานวิจัยร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) รวมทั้งสร้างฐานข้อมูล Big Data ในการทำวิจัยเพื่อคาดการณ์การเกิดค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้งานวิจัยในประเด็นนี้ก้าวทันสถานการณ์ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

  • TBCSD เปิด 6 ข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหา PM 5

ปิดท้ายกันที่ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่าแนวทางความร่วมมือของสมาชิก TBCSD เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นผ่านมาตราการ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1) มาตรการที่สมาชิกดำเนินการเองโดยสมัครใจ

2) มาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิกในช่วงวิกฤติ (ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม) และ

3) การสร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป (เพื่อสร้างแนวร่วมในการแก้ไขปัญหา)

ดังนี้ มาตรการที่ดำเนินการเองโดยสมัครใจ สมาชิก TBCSD ดำเนินการตรวจเช็คสภาพรถและเครื่องยนต์อยู่เสมอ (Engine Efficiency) การบรรทุกและขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Loading Efficiency) และการมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (Driving Behavior) ในส่วนของมาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิกในช่วงวิกฤติ สมาชิก TBCSD เลือกใช้น้ำมันที่เป็น Bio-based (น้ำมัน B ต่าง ๆ) หรือ ก๊าซธรรมชาติ (CNG) หรือน้ำมันที่มีสารกำมะถันต่ำ (ไม่เกิน 10 ppm) หรือ ตามมาตรฐาน Euro 5 เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า ลดการนำรถบรรทุกดีเซลขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ลดการใช้รถใช้ถนน และส่งเสริมการทำเกษตรที่ไม่เผาชีวมวล ในส่วนของการสร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป สร้างการรับรู้ถึงปัญหา ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกและใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลถึงคนได้ในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM2.5 นอกจากนี้ TBCSD ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นธุรกิจชั้นนำของประเทศเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยังได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบในทุกด้านทั้งในช่วงวิกฤตและในระยะยาว

ในส่วนของ TBCSD ได้รวบรวมข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และหลักการ 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม 2. สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อย PM2.5 3. เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 4. ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่วิเคราะห์ต้นทุนในทุกมิติที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม 5. พัฒนาเครือข่ายการตรวจวัด PM2.5 ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน และ 6.การสื่อสารข้อมูล PM2.5 ให้เป็นเอกภาพ พร้อมสร้างแนวร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป อันนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการ PM2.5 ของประเทศต่อไป

ข้อเสนอแนะจาก TBCSD ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการประสานพลังร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM2.5 เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

 


แชร์ :

You may also like