นับเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบ ที่ได้รับการยอมรับถึงมาตรการในการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พิสูจน์อย่างจับต้องได้และเห็นได้ชัดเจนด้วยจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ล่าสุด (23 มีนาคม 2563) มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 169 คน และเสียชีวิต 2 คน แม้จะอยู่ใกล้ประเทศต้นกำเนิดของโรคอย่างจีนแค่หลักร้อยกิโลเมตร และประเทศรอบข้างทั้งญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ก็เป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในปริมาณสูงหลายพันคน
การตั้งรับอย่างรวดเร็ว ทั้งมาตรการในการบริหารจัดการกลุ่มผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปยังชุมชน โดยเฉพาะการดูแลเรื่องของหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นหนึ่งในไอเท็มสำคัญที่ช่วยป้องกันการเพิ่มปริมาณผู้ติดเชื้อได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ที่ทางการไต้หวันได้ออกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมห้ามส่งออกตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ เพื่อป้องกันประชาชนขาดแคลนหน้ากากอนามัย
นอกจากประกาศห้ามส่งออก เพื่อคุม Supply ให้พอต่อการบริโภคของประชาชนในประเทศแล้ว กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน (MOEA) ยังได้ประกาศจัดตั้งทีม เครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแห่งชาติและลงทุนสร้างสายการผลิตหน้ากากอนามัยรวม 90 สาย เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากขาดแคลนในประเทศ ตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้ทำการติดตั้งและส่งมอบสายการผลิตหน้ากากอนามัยชุดแรก จำนวน 60 สาย และเริ่มทำการผลิตไปเรียบร้อยแล้ว
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคต.) ไทเป แห่งไต้หวัน สรุปข้อมูลล่าสุดว่า สายการผลิตอีก 30 สาย ที่เหลือ ได้ทยอยส่งมอบไปแล้ว 23 สาย ส่วนสายการผลิตหน้ากากอนามัยอีก 7 สายที่เหลือ จะทยอยส่งมอบจนครบในวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยเป็นสายการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ 5 สาย สำหรับเด็ก 2 สาย
ทั้งนี้ หากคำนวณระยะเวลาในการเพิ่มจำนวนสายการผลิตที่ติดตั้งเพิ่มใหม่ทั้ง 90 สายนี้ ใช้เวลาเพียง 40 วัน ในการติดตั้งสายการผลิตทั้งหมดรวม 90 สาย ถือเป็นการส่งมอบที่เร็วกว่ากำหนดเดิมเกือบสัปดาห์ จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถส่งมอบได้ครบทั้งหมดภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้
โดยตามข้อมูล ระบุว่า หลังจัดตั้งทีมเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแห่งชาติขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ทางทีมใช้เวลาเพียง 25 วัน ก็เสร็จสิ้นการสร้างสายการผลิตหน้ากากอนามัยล็อตแรกจำนวน 60 สาย ขณะที่การติดตั้งสายการผลิตล็อตที่ 2 จำนวน 30 สายนั้น หากสามารถส่งมอบเครื่องจักรทั้งหมดได้ตามกำหนดในวันที่ 24 มีนาคม 2563 เท่ากับใช้เวลาเพียง 15 วัน ดังน้ัน ทีมเครื่องผลิตหน้ากากแห่งชาติของไต้หวันใช้เวลาเพียง 40 วัน ในการติดตั้งสายการผลิตหน้ากาก อนามัยทั้งหมด 90 สาย โดยในชั้นนี้จะเหลือสายการผลิตหน้ากากที่ MOEA ลงทุนเพิ่มเติมอีก 2 สาย ซึ่งเป็นสายการผลิตหน้ากากอนามัยแบบใช้ผูกรัด ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าแบบยางรัด คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ภายในวันที่ 26 มีนาคม 2563
MOEA ชี้ว่า หลังส่งมอบสายการผลิตเพิ่มเติมทั้ง 32 สาย และสามารถเดินเครื่องทั้งหมดแล้ว เมื่อรวมกับสายการผลิตที่ติดตั้งไว้จากล็อตเดิม จะทำให้ไต้หวันมีกำลังผลิตหน้ากากอนามัยจาก 92 สายการผลิต รวมกันถึง 13 ล้านแผ่นต่อวัน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป จากช่วงก่อนหน้าข้อมูลของสภาบริหารไต้หวัน (Executive Yuan ซึ่งเป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะรัฐมนตรี) ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม ไต้หวัน ระบุกำลังผลิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 32.08 – 34.38 ล้านแผ่น หรือราววันละ 4-5 ล้านแผ่น
ส่วนการตรวจสอบวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตนั้น MOEA มีการยืนยันว่า วัตถุดิบที่มีอยู่ในไต้หวันเพียงพอสำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยได้ถึง 15 ล้านแผ่นต่อวัน และมีสต็อกเพียงพอสำหรับการใช้ในการผลิตไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ดังนั้น แม้กำลังการผลิตในไต้หวันจะเพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านแผ่นต่อวันก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand