นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ประกาศแผนงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ซึ่งจะดำเนินการในประเทศที่เปราะบางทั่วโลก เพื่อปกป้องประชากรหลายล้านคนจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และป้องกันไม่ให้ไวรัสนี้กระจายไปทั่วทั้งโลก โดยจะใช้เงินทุนราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 65,000 ล้านบาท)
ขณะนี้โรคโควิด–19 ได้คร่าชีวิตประชากรกว่า 16,000 คนทั่วโลก และมีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 400,000 ราย โดยไวรัสได้กระจายไปทั่วโลก และกำลังแพร่ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรมอยู่ก่อนแล้ว อันเป็นผลมาจากการสู้รบ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
แผนงานด้านมนุษยธรรมครั้งนี้ จะดำเนินงานโดยหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติ โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับนานาชาติ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นผู้ปฏิบัติงานหลัก ซึ่งบทบาทดังกล่าว ได้แก่
- การจัดส่งเครื่องมือและอุปกรณ์จำเป็นสำหรับห้องแล็บเพื่อใช้ตรวจหาเชื้อไวรัส ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย
- การติดตั้งที่ล้างมือในค่ายผู้ลี้ภัยและศูนย์พักพิงชั่วคราว
- การรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตนเองและผู้อื่นจากไวรัส และ
- การจัดตั้งศูนย์และเส้นทางส่งความช่วยเหลือทางอากาศ ทั่วทวีปแอฟริกา เอเชียและละตินอเมริกา เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่และสิ่งของจำเป็นไปยังพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “โรคโควิด-19 กำลังเป็นภัยคุกคามมวลมนุษยชาติ ฉะนั้นพวกเราทุกคนต้องร่วมกันต่อสู้กับภัยครั้งนี้ การรับมือของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพังนั้นไม่เพียงพอ เราต้องให้ความช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอและเปราะบางที่สุด ซึ่งมีมากมายหลายล้านคนที่ไม่อาจปกป้องตนเองได้ นี่เป็นเรื่องมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานและเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับไวรัส และนี่คือเวลาที่เราต้องยื่นมือไปช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง”
นายมาร์ค โลคอค รองเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “ขณะที่ประชากรในหลายประเทศที่ร่ำรวยที่สุดกำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตอนนี้ไวรัสกำลังแพร่มาสู่พื้นที่ที่ประชากรอาศัยอยู่ในเขตที่มีการสู้รบ ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดหรือสบู่ได้โดยง่าย และไม่มีหวังที่จะมีแม้แต่เตียงสักเตียงที่จะรองรับหากพวกเขาเจ็บป่วยรุนแรง การทอดทิ้งให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุดและเปราะบางที่สุดเผชิญชะตากรรมนี้เป็นสิ่งที่เป็นโหดร้ายและเป็นวิธีที่ไม่ฉลาดนัก การปล่อยให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้แพร่กระจายอย่างอิสระในพื้นที่เหล่านี้จะทำให้ประชาชนหลายล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง ทั่วภูมิภาคจะเกิดความโกลาหล และจะทำให้ไวรัสสามารถกลับมาแพร่ระบาดได้อีกทั่วทั้งโลก
การที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับประชากรของตนก่อนไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ความจริงที่เจ็บปวดก็คือ ประเทศต่างๆ จะไม่สามารถปกป้องประชากรของตนเองได้เลย หากไม่ช่วยเหลือประเทศที่ยากจนที่สุดให้สามารถปกป้องประชากรของพวกเขาอย่างเร่งด่วนในตอนนี้
ภารกิจสำคัญที่สุดของเรา ณ ตอนนี้ก็คือ การช่วยให้ประเทศเหล่านั้นสามารถเตรียมพร้อมและให้ความช่วยเหลือประชากรหลายล้านคนที่กำลังพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์การสหประชาชาติเพื่อมีชีวิตอยู่รอด การรับมือในระดับโลกด้วยเงินทุนที่เพียงพอจะช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ มีเครื่องมือในการต่อสู้กับไวรัส และสามารถช่วยชีวิตผู้คนและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกได้”
ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส เลขาธิการใหญ่ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “ไวรัสนี้กำลังแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแอ หลายประเทศกำลังเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรมอยู่ก่อนแล้ว ประเทศเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนจากเราอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อปกป้องเราทุกคนและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ในขณะเดียวกัน เราไม่ควรต่อสู้กับการแพร่ระบาดครั้งนี้โดยละเลยปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในภาวะวิกฤตเช่นกัน”
นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “เด็กคือเหยื่อที่มองไม่เห็นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ การกักตัวและการปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อการศึกษา สภาพจิตใจ และการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานของเด็กๆ นอกจากนี้ เด็กๆ ทั้งชายเละหญิง ต่างมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการถูกแสวงประโยชน์และการถูกล่วงละเมิด ในขณะที่เด็กผู้อพยพและเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งอาจต้องเผชิญผลกระทบรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราต้องไม่ทำให้พวกเขาผิดหวัง”
เลขาธิการสหประชาชาติได้แถลงแผนงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ครั้งนี้ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีนายมาร์ค โลคอค ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส และนางเฮนเรียตตา โฟร์ ร่วมแถลงผ่านวิดีโอ ทั้งหมดเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันลดผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เปราะบาง และยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสทั่วโลก ซึ่งทำได้โดยสนับสนุนแผนงานของสหประชาชาติครั้งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับยังคงให้การสนับสนุนภารกิจด้านมนุษยธรรมด้านอื่น ๆ ของสหประชาชาติที่กำลังดำเนินอยู่สำหรับประชากรกว่า 100 ล้านคนต่อไป
องค์การสหประชาชาติยังเตือนด้วยว่า หากประเทศสมาชิกโยกย้ายเงินสนับสนุนจากภารกิจด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ตามมา เช่น การแพร่ระบาดของโรคท้องร่วง โรคหัด และไข้สันหลังอักเสบ หรือทำให้จำนวนเด็กที่ประสบภาวะขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น หรือส่งผลให้ผู้ก่อความไม่สงบยึดครองพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รุนแรงขึ้น
ในการเริ่มดำเนินแผนงานของสหประชาชาติครั้งนี้ นายโลว์คอค ได้อนุมัติเงินทุนเพิ่มเติมจำนวน 60 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2 พันล้านบาท) จากกองทุนกลางฉุกเฉินของสหประชาชาติ UN’s Central Emergency Response Fund (CERF) ซึ่งทำให้ ณ ขณะนี้ การสนับสนุนจากกองทุน CERF เพื่อรับมือกับโควิด-19 มีจำนวนทั้งสิ้น 75 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.5 พันล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนจัดสรรจากกองทุนของประเทศต่าง ๆ อีก 3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 98 ล้านบาท)
เงินทุนจาก CERF ครั้งนี้ ซึ่งเป็นก้อนใหญ่ที่สุดที่ CERF เคยจัดสรร จะนำไปสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สนับสนุนโครงการอาหารโลกจัดส่งสิ่งของจำเป็นและเจ้าหน้าที่; สนับสนุนองค์การอนามัยโลกยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และสนับสนุนหน่วยงานสหประชาชาติอื่น ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและปกป้องผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงเด็ก สตรี ผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นในประเทศ ทั้งในด้านอาหาร การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ น้ำและสุขอนามัย ตลอดจนโภชนาการและการปกป้องคุ้มครอง
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับบรรณาธิการ
- ดาวน์โหลดแผนงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้ที่ [ https://reliefweb.int/report/world/global-humanitarian-response-plan-covid-19-april-december-2020 ]
- สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ UN’s Office for the Coordination of Humanitarian Affairs จะเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินแผนงานครั้งนี้
- หน่วยงานสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ (FAO), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้านถิ่นฐาน (IOM), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA), โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat), สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR), องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) and โครงการอาหารโลก (WFP)