ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พ่นพิษไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทุกคนและทุกธุรกิจในวงกว้าง หนึ่งในนั้นก็คือ สถานบันเทิง และร้านอาหารกึ่งผับ บาร์ เพราะจนถึงตอนนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว ที่สถานบันเทิง ผับ บาร์ต้องปิดบริการชั่วคราวตามมาตรการ Lockdown และยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่ จนทำให้ขาดรายได้ และนำไปสู่การหาทางออกด้วยการลดเงินเดือน ลดพนักงาน เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปให้ได้
บรรยากาศร้าน Wine Bridge ช่วงปกติ
แต่มีสถานบันเทิงหลายร้านที่ยังคงยืนหยัดดูแลพนักงานท่ามกลางวิกฤตินี้เพื่อให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน ดังเช่น “ไวน์บริดจ์” (Wine Bridge) ร้านสุดฮอตในย่านเพลินจิตของยุคนี้ ด้วยการเปิดครัวและระเบียงหน้าร้านให้พนักงานได้ทำอาหารขายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
ผู้บริหารร้าน Wine Bridge ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการมือเก๋าที่ผ่านการสั่งสมประสบการณ์มากว่า 2 ทศวรรษ เคี่ยวกรำทั้งร้อนและหนาว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง ม็อบเสื้อแดง ม็อบเสื้อเหลือง และน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งไม่ว่าจะเกิดวิกฤติครั้งใด ก็สามารถนำพาธุรกิจฝ่าคลื่นมรสุมมาได้ทุกครั้ง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ก็เป็นวิกฤติล่าสุดที่ธุรกิจจะต้องเผชิญความท้าทายอีกครั้งและต้องผ่านไปให้ได้เช่นกัน แม้ยากจะคาดการณ์ว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไหร่
โดยร้าน Wine Bridge ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน หลังภาครัฐฯ มีนโยบายให้ปิดสถานบริการ ผับ บาร์ในช่วงที่มีการระบาดหนัก เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ร้านขาดสภาพคล่อง ต้องหาเงินมาจ่ายค่าเช่า จ่ายเงินเดือน ส่วนพนักงานของร้าน และร้านในเครือร่วม 100 คนต้องขาดรายได้ จึงทำให้ทางร้านต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้พนักงานที่เป็นเสาหลักของร้านอยู่รอดในสถานการณ์นี้ได้
“พนักงานเค้าไม่มีหนทางไป กลับบ้านก็ไม่ได้เพราะทุกที่ปิดล็อคกันการแพร่ระบาดกันหมด ทางทีมผู้บริหารจึงอยากช่วยเหลือ โดยคิดว่าให้พื้นที่ทำกินกับพนักงานน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา อีกทั้งยังให้โปรโมทอาหารผ่านช่องทางที่ร้านมีอยู่ และรวมไปถึงให้สูตรอาหาร และให้ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ในครัวที่ทิ้งร้างไว้ นอกจากนี้ยังมีให้ยืมเงินลงทุน เพื่อไปซื้อวัตถุดิบและค่าแก๊สหุงต้มต่างๆ แต่ส่วนค่าน้ำค่าไฟทางร้านเป็นผู้ช่วยสนับสนุน” ผู้บริหารฯกล่าว
กระทั่งเกิดเป็นไอเดีย “พื้นที่ทำกิน” ขึ้น เพราะด้วยทุนเดิมที่ทางร้านเป็น PUB & RESTAURANT จึงพอมีฝีมือด้านอาหารขึ้นชื่ออยู่บ้าง ส่วนทำเลที่ตั้งร้าน ก็จัดได้ว่าอยู่ใจกลางเมือง ด้วยการให้พนักงานสามารถใช้พื้นที่ในครัวและตรงส่วนของระเบียงหน้าร้านทําอาหารขายเพื่อเลี้ยงชีพให้มีรายได้จนกว่าร้านจะกลับมาเปิดให้ตามปกติ
สำหรับอาหารก็เป็นเมนูทานง่าย ในราคาไม่แพงมากนัก และใช้งบไม่มากในการซื้อวัตถุดิบ แต่สูตรอาหารกับรสชาติยังคงคุณภาพไว้เป็นอย่างดี เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อหมู, ข้าวแกง, อาหารตามสั่ง อาหารชุดน้ำพริกและขนมจีน รวมถึง ข้าวดงบุริแบบญี่ปุ่นและโอโคโนมิยากิหรือพิซซ่าญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ช่วงเวลาขายก็ปรับตามเวลาของ พรก. ฉุกเฉิน เพื่อให้พนักงานและลูกค้ากลับถึงบ้านกันก่อนจะเข้าเคอร์ฟิว
“ขณะเดียวกันไอเดียการให้พื้นที่ทำกิน นับว่าเป็นประโยชน์ต่อร้านด้วย เพราะปกติร้านอาหารยังต้องคอยเปิดใช้พื้นที่ส่วนต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมและเชื้อรา หากร้านถูกทิ้งไว้นานๆ”
เป็นอีกหนึ่งไอเดียการปรับตัวที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะการดูแลพนักงานในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเช่นนี้ ย่อมจะทำให้ได้ใจพนักงานและทำให้เกิดความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเสมือนเกราะคุ้มกันชั้นดีที่จะนำพาธุรกิจให้รอดจากวิกฤติ และเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
“เราพยามฝึกให้พนักงานยืนหยัดด้วยตัวเอง ไม่ย่อท้อหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต และมีความสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อยืนหยัดไปด้วยกัน พอให้เค้ามีค่าอาหารประทังชีวิตไปได้ ถ้าหากโชคดีตลาดตอบรับในรสชาติและคุณภาพอาหาร พวกเค้าก็มีกำไรมากขึ้น ทำให้มีเงินพอจ่ายค่าห้องเช่าและอยู่ได้ในช่วงวิกฤตินี้”