มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหา “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ที่มีหนี้กว่า 2 แสนล้านบาท ให้พ้นจากการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กฎหมายล้มละลาย
หลัง ครม.มีมติแล้ว จะมี 10 ขั้นตอน ที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และการบินไทย ต้องปฏิบัติเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายกลาง ดังนี้
- วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ครม.เห็นชอบให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยกระทรวงการคลัง “ลดการถือหุ้น” ใน บมจ.การบินไทยให้ต่ำกว่า 50% (ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 51.03% และธนาคารออมสิน 2.13%)
- การบินไทย ยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนต่อศาลและตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้
- ยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 (สภาวะพักชำระหนี้ หรือ Automatic Stay)
- ส่งหมายให้เจ้าหนี้
- ประชุมเจ้าหนี้ (เสียงข้างมากอนุมัติผู้ทำแผน) การบินไทยเจรจาเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศ
- ศาลนัดไต่สวนคำร้อง ศาลตั้งผู้ทำแผน จากนั้นผู้ทำแผนเข้าควบคุมกิจการ
- ผู้ทำแผนเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ
- ประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูและดำเนินการตามแผนฟื้นฟู
- ศาลพิจารณาเห็นชอบแผน แต่งตั้งผู้บริหารแผน
- ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู
“การบินไทย”พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ
คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ภายใต้คำสั่งศาลทันที และให้ การบินไทย หลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด โดยยังคงเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการปกติเหมือนเดิม
โดยให้กระทรวงการคลัง “ลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่า 50%” ซึ่งจะทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจะขายหุ้นให้กับหน่วยอื่นที่ไม่ใช่รัฐ เมื่อหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จะพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ และพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาได้
“แนวทางการแก้ไขปัญหา การบินไทยโดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย เป็นแนวทางที่ดีที่สุด พิจารณาถึงประโยชน์ที่การบินไทยจะได้รับ หากการบินไทยเป็นผู้ยื่นคำขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูก่อนเจ้าหนี้จะเป็นผู้ยื่นต่อศาล”
ปี 63 หนี้สะสม 2 แสนล้าน
สาเหตุที่ต้องฟื้นฟูกิจการการบินไทย ภายใต้คำสั่งศาล เพราะประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง สถานะของการบินไทยถึงสิ้นปี 2562 มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 147,352 ล้านบาท และจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ปีนี้ จะมีภาระหนี้สินรวมกว่า 200,000 ล้านบาท ทำให้สถานะการเงินของการบินไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ จึงต้องมีการพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหา
รัฐบาลเลือกแนวทางฟื้นฟูกิจการเป็นสิ่งที่การบินไทยได้ประโยชน์ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ จากสถานะการเงินปัจจุบัน การบินไทย คงต้องล้มละลาย ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะจะทำให้ถูกพิทักษ์ทรัพย์และต้องหยุดดำเนินการ ไม่สามารถทำการบินได้ ทรัพย์สินของการบินไทยจะถูกยึด อายัดทรัพย์ และถูกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ พนักงานการบินไทยกว่า 20,000 คน ต้องตกงาน และมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้
ก่อนหน้านี้ปี 2558 นายกรัฐมนตรีได้ให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการด้วยตัวเองมาแล้วครั้งหนึ่ง หากการบินไทยดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้สำเร็จ เหตุการณ์ฟื้นฟูตามคำสั่งศาลจะไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อวันนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วก็ต้องหันหน้ามาช่วยกันทำงาน เพื่อฟื้นฟูกิจการการบินไทยให้กลับมาแข็งแรง หลังจากนี้ต้องพูดคุยกับสหภาพแรงงาน เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน บนสถานการณ์จริงที่สามารถปฏิบัติร่วมกันได้ และจะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบกับพนักงานกว่า 20,000 คน ของการบินไทย
การบินไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอ็กซเรย์ว่ามีอะไรที่ดำเนินการโดยไม่ถูกต้อง ทำให้มีต้นทุนสูงและเรื่องการบริหาร กระทรวงคมนาคมจะเข้าไปไล่ดูว่าทำอะไรมาถึงเกิดปัญหาขาดทุนมาถึงวันนี้
เสนอรายชื่อผู้จัดทำแผนสัปดาห์หน้า
สำหรับกระบวนการฟื้นฟู เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ การบินไทย จะต้องจัดทำเรื่องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เสนอตัวเป็นผู้จัดทำแผน รวมทั้งตั้งคณะทำงานเจรจากับเจ้าหนี้ทุกราย และตรวจสอบบัญชีลูกหนี้
หากศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะได้รับการคุ้มครอง ตามมาตรา 90/12 เข้าสู่สภาวะพักชำระหนี้ (Automatic Stay) ทำให้หยุดพักชำระหนี้และดอกเบี้ย จากนั้นเจรจากับเจ้าหนี้ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นฟูและดำเนินการตามแผน เชื่อว่ามีโอกาสที่จะกลับมาดำเนินกิจการสร้างรายได้ใช้หนี้อีกครั้ง
กระทรวงคมนาคม กำลังพิจารณาบุคคล ที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพราะการบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างประเทศที่ต้องเจรจาด้วย เพื่อมาเป็นผู้จัดทำแผนทุกด้านจำนวน 15 คน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในสัปดาห์หน้า
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลาย ถือเป็นเรื่องปกติ ที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจต่างๆ รวมทั้งธุรกิจสายการบินก็มี Japan Airlines หรือ JAL สายการบินแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ได้ยื่นฟื้นฟูกิจการในปี 2553 หลังจากนั้นใช้เวลา 14 เดือน ก็ออกจากแผนสำเร็จ กลับมาแข็งแกร่งมีกำไรปีละ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐทุกปี
เชื่อว่าการบินไทย เป็นองค์กรที่มีศักยภาพ มี 6 บิสสิเนสยูนิต ที่สามารถแข่งขันได้ กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะทำให้มีการกำกับดูแลได้อย่างเป็นระบบและการบินไทยจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง