ฝ่าฟันขวากหนามท่ามกลางความคลางแคลงใจ ความไม่เชื่อมั่นของคนอื่นว่า Tube Gallery จะปักหมุด ยึดหลักชัยในวงการแฟชั่นไทยได้ กับคำถามที่ดังก้องตั้งแต่แรกสร้างแบรนด์ว่า “สวยนะ แต่ใส่ไม่ได้ ใครจะซื้อ” จากสไตล์และการออกแบบที่สุดโต่ง เล่นใหญ่ไม่เกรงใจ มีเท่าไหร่ใส่ให้สุด แต่คุณศักดิ์สิทธิ์ พิศาลศุพงศ์ และคุณพิสิฐ จงนรังสิน ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ Tube Gallery มีคำตอบผ่านแคมเปญจาก BMW “EXPERIENCE THE 7: The Individual” ว่าทำอย่างไรจึงสามารถสร้างแบรนด์แฟชั่นที่ทลายกรอบและกฎเกณฑ์เดิม ๆ ลงได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างอย่างโดดเด่น กอปรกับตัวตนที่ชัดเจน จนก่อเกิดผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
นอกจากเปิดร้านที่สยามเซ็นเตอร์แล้ว ยังออกแบบชุดนักแสดงให้กับละครมิวสิคัลชื่อดังของเมืองไทยหลายเรื่อง อาทิ ทวิภพ ข้างหลังภาพ และสี่แผ่นดิน รวมถึงการออกแบบชุดนักแสดงกว่าร้อยชุดสำหรับ ‘บัลเลต์มโนห์รา’ หนึ่งในการแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นอกจากจะประสบความสำเร็จในวงการแฟชั่นไทยแล้ว พวกเขายังสร้างผลงานอันเป็นเอกลักษณ์จนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย
จากความชอบ สู่ ธุรกิจ (ที่ฉีกกฎเกณฑ์)
แม้ทั้งคู่จะไม่ได้ร่ำเรียนมาด้านแฟชั่นโดยตรง กลับหลงใหลในเสน่ห์ของแฟชั่นจนก่อร่างสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาได้ ในปี 1999 หรือกว่า 2ทศวรรษที่ผ่านมา
คุณศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจบการศึกษาจากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า “เป็นเรื่องของความรักความชอบเป็นการส่วนตัว เวลาที่ดูหนังดูละครสิ่งที่จะดูก่อนเลยคือเขาแต่งตัวกันยังไง สมัยก่อนผมก็โตมาในยุค 80’s 90’s สมัยที่นิตยสารแฟชั่นยังมีบทบาทสูง ใครจะลงปก ดีไซเนอร์เป็นใคร ก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมและเติบโตพร้อมกับเรามา และตอนเด็กผมมีความรักอยู่ 2 อย่างคือ แฟชั่นและการละคร น่ายินดีที่ทุกวันนี้ Tube Gallery ก็มีโอกาสได้ทำทั้ง 2 อย่างไปพร้อม ๆ กัน คือการออกแบบเสื้อผ้าที่ใช้ในการละครทั้งในและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นความรัก ความชอบ คงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เราขับเคลื่อนธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเราจะไม่ได้เรียนรู้หรือได้รับการฝึกฝนในรูปแบบที่เป็นระเบียบแบบแผนมาก่อน”
ด้านคุณพิสิฐที่่เป็นศิษย์เก่านาฏศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้เหตุผลว่า “สำหรับผมสนใจแฟชั่นตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากคุณแม่เป็นครูสอนตัดเสื้ออยู่ที่ร้านพรศรี และเราเองก็คลุกคลีอยู่กับแพทเทิร์นเสื้อผ้ามาตั้งแต่เด็ก จึงซึมซับอยู่ในสายเลือด เมื่อถึงเวลาก็อยากจะทำเป็นอาชีพที่จริงจัง เพราะเห็นว่าเป็นงานที่มีคุณค่าในเรื่องของศิลปะและการแต่งกาย รู้สึกว่าน่าค้นหา ประกอบกับสมัยเรียนทั้งผมและคุณศักดิ์สิทธิ์ได้เรียนทางด้านศาสตร์ของเธียเตอร์หรือการละครเลยได้ปูพื้นฐานทางด้านเสื้อผ้ามาในระดับหนึ่ง และข้อดีของการที่เราไม่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างมีระเบียบแบบแผน ทำให้เราอยากทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำ โดยไม่ต้องทำอะไรตามกฎเกณฑ์ และการที่ไม่ทำอะไรตามกฎเกณฑ์ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราค้นหาในสิ่งที่คนอื่นอาจมองไม่เห็นก็ได้ เช่น คนอื่นอาจจะบอกว่า 1 + 1 = 2 สำหรับเรา 1 + 1 อาจจะ = 11 ก็ได้”
ลองผิดลองถูก จนเจอตัวตนที่แท้จริง
ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการที่ใครสักคนจะหาแนวทางที่ใช่ หรือตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเจอ โดยเฉพาะกับการสร้างแบรนด์แฟชั่นที่จะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นให้ได้ ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ในแง่ของธุรกิจด้วย
“จริงๆ แล้วคงไม่มีวิธีการใดในการค้นหาตัวตนหรอก เพราะไม่อย่างนั้นมันคงมีคณะการเรียนการสอนวิธีค้นหาตัวตนยศาสตร์ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของเวลาที่ค่อยๆ เพาะบ่ม คำว่า ‘Individual’ หรือ ‘ตัวตน’ สำหรับเราทั้งคู่ ซึ่งเราใช้เวลากับมันพอสมควร เพราะเราไม่ได้เรียนมา อาศัยครูพักลักจำ อย่างเช่น ช่วงแรกของการทำให้เนื้องานออกมาน่าสนใจ น่าตื่นเต้น มันไม่เหมือนกันสักครั้ง เพราะพวกเรายังไม่เจอตัวตนของตัวเอง เหมือนศิลปินยุค 80’s 90’s ที่ออกเทปมา 6 – 7 เทปก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองจะเป็นแนวไหน จริงๆ แล้วมันคือเรื่องของเวลา รวมถึงคนรอบข้างที่คอยเป็นกระจกส่องตัวตน เพราะในการทำงานเรามีความฟุ้งซ่านมากจนทำให้เราหลุดออกนอกกรอบของตัวเองไปบ้าง แต่คนรอบข้างเนี่ยแหละที่คอยบอกเราว่า ความฟุ้งซ่านอะไรของเราที่มันเวิร์ก แล้วอะไรที่เราฟุ้งซ่านแล้วมันไม่บ้า เพราะฉะนั้นเราก็เลยค่อย ๆ ใช้กาลเวลายาวนานกว่าครึ่งชีวิต รวมถึงคนรอบตัวค่อย ๆ ปั้นตัวตนเราขึ้นมา ทำให้งานของ Tube Gallery มีเอกลักษณ์ สวยไม่ซ้ำ ต่อให้เป็น Maximalism ก็ใส่ได้จริง ไม่เหมือนใครด้วย เพราะถ้าสวยซ้ำ จะด้อยค่า และไร้ตัวตน” คุณศักดิ์สิทธิ์ให้รายละเอียด
จากนั้้นคุณพิสิฐกล่าวเสริมว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานของผมคือ ทำในสิ่งที่เรารักและเชื่อมั่นในตัวตนของเราเอง เพราะถ้าเกิดเราไปลอกงานจากคนอื่น ท้ายที่สุดมันก็ไม่มีความเป็นตัวตน ไม่มีลายเซ็นของเรา รวมถึงต้องทุ่มเทกับสิ่งที่เรารักด้วย และแน่นอนว่าต้องใช้เวลาลองผิดลองถูก หรือเปลี่ยนสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก กลายเป็นผลงานที่สะท้อนตัวตนของเราขึ้นมาได้ ฉะนั้นถ้าทำในสิ่งที่เรารักและหาตัวตนของเราเจอเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจะรู้ว่าเราจะเอาอะไรไปสู้กับคนอื่นได้”
อย่าพยายามเป็นคนอื่น เป็นตัวเองให้ดีที่สุด
ทุกวันนี้เราเห็นหลายคนมีความพยายามที่จะสร้างแบรนด์ แต่สุดท้ายลงเอยด้วยการซ้ำรอยกับแบรนด์อื่น เพราะไม่กล้าที่จะทลายกรอบและกฎเกณฑ์ และยืนหยัดในสิ่งที่เป็นตัวตนของตัวเอง ทำให้ต่อให้ค้นหาตัวตนเจอ ก็เปล่าประโยชน์
คุณศักดิ์สิทธิ์มีคำแนะนำที่น่าสนใจว่า “ต้องให้เวลากับตัวเองเพื่อที่จะตกตะกอนให้ได้ ว่าตัวตนที่ชัดเจนของเราเป็นอย่างไร และต้องเชื่อมั่นว่าเราเป็นคนอื่นไม่ได้ เราเป็นได้แค่ตัวเองเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักทั้งข้อดีและข้อเสียของตัวเอง รวมถึงต้องรู้ว่าจะทำยังไงให้ข้อดีเหนือกว่าข้อด้อย และสิ่งนี้แหละจะทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ในระยะยาว ไม่เช่นนั้นเราก็จะเหมือนคนอื่นในอินสตาแกรม ที่โพสต์ท่าเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกันไปหมด มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
ส่วนคุณพิสิฐให้ข้อคิดว่า “อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความอดทน กว่าเราจะหลุดออกมาจากกรอบและกฎเกณฑ์เดิม ๆ ได้ต้องอาศัยความอดทน แล้วก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำเป็นแนวทางที่สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเรา มันอาจใช้เวลานาน แต่ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าคุณทำได้ และจะทำจนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ และต้องรับฟังคำติชมจากลูกค้ามาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานให้ดีตอกย้ำความเป็นตัวตนของเราให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”
สำหรับ EXPERIENCE THE 7 เป็นแคมเปญที่สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ที่อยู่ในสายเลือดของ BMW โดย BMW Thailand ได้ค้นหาบุคคลต้นแบบ ที่จะนำมุมมองในการใช้ชีวิตและการทำงานที่โดดเด่นของพวกเขามานำเสนอเพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่บุคคลทั่วไป โดยมุ่งหวังว่าเรื่องราวของบุคคลต้นแบบจะสามารถชี้นำแนวทางในการใช้ชีวิต การทำงาน และก่อให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาตนเองและสังคมต่อไป