HomeCSRiiG จับมือ แพทยศาสตร์ มช. พัฒนา Health Tech หนึ่งในโครงการนำร่อง ใช้ Digital Tech สร้างระบบติดตามผู้ป่วยสูงอายุ

iiG จับมือ แพทยศาสตร์ มช. พัฒนา Health Tech หนึ่งในโครงการนำร่อง ใช้ Digital Tech สร้างระบบติดตามผู้ป่วยสูงอายุ

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในปัจจุบัน “Digital Technology” ไม่ใช่แค่เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสังคม เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอีกด้วย I&I Group หรือ iiG กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลเทคโนโลยี และดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่มีประสบการณ์ให้บริการภาคธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม เชื่อว่า Digital Technology สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างประโยชน์ในวงการแพทย์ไทย อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขของคนไทยได้อีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ป่วยสูงอายุ

เทคโนโลยียกระดับบริการทางการแพทย์

ล่าสุด iiG ได้นำจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยีโซลูชัน มาช่วยในการพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยสูงอายุโรคกระดูกพรุน โดยได้ร่วมทำงานกับภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาระบบสำหรับการติดตามผล และให้คำแนะนำผู้ป่วยสูงอายุโรคกระดูกพรุน ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันยอดนิยมของคนไทยในปัจจุบัน คือ Line Official Account

ระบบนี้จะช่วยลดความยุ่งยากให้แก่ผู้ป่วยสูงอายุที่อาจจะไม่สะดวกเดินทางมาที่โรงพยาบาล รวมถึงช่วยลดความแออัดในการเข้ามาใช้บริการภายในโรงพยาบาล พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ที่สำคัญคือแพทย์และพยาบาลสามารถติดตามผลการรักษาและการฟื้นฟูของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ลดการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ และความสูญเสียจากโรคกระดูกพรุนที่รุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย

“โรคกระดูกพรุนและการเกิดอุบัติเหตุล้มกระดูกสะโพกหักในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ กำลังเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก เพราะอัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยมีสูงถึง 17%” รศ. นพ. ธนวัฒน์ วะสีนนท์ อาจารย์ประจําภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวพร้อมให้ข้อมูลว่า อัตราการเสียชีวิตที่สูงมากนี้มาจากหลายปัจจัย “ทั้งตัวผู้ป่วยเอง พอเข้ามารักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยขาดความตระหนักในการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุล้มได้อีก รวมถึงการขาดการติดตามผลระหว่างแพทย์และผู้ป่วย (ผู้ป่วยมากกว่า 30% ขาดการติดตามผลหลังจากออกจากโรงพยาบาล)  ซึ่งต้องยอมรับว่าด้วยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยสูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี การที่แพทย์จะเดินทางไปพบผู้ป่วยตามบ้านก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ทำให้ขาดการดูแลอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โอกาสของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะเกิดอุบัติเหตุล้มซ้ำได้อีกและเป็นต้นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา”

“รศ. นพ. ธนวัฒน์ ” เชื่อว่าหลังจากนี้อัตราของผู้ป่วยสูงอายุ โรคกระดูกพรุนและเกิดอุบัติเหตุล้มกระดูกสะโพกหักซ้ำจะน้อยลง การเสียชีวิตลดลง เพราะปัจจุบันทาง iiG ได้ให้การช่วยเหลือ โดยนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสนับสนุนทางการแพทย์ ด้วยการช่วยสร้างระบบ Patient Dashboard ขึ้นมา  ระบบนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถดูข้อมูลของผู้ป่วย ทราบประวัติการรักษา แจ้งเตือนวันนัดพบแพทย์และติดตามผลทุกอย่างได้แบบใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทานยา การทำกายภาพต่างๆ ให้แนวทางการปฏิบัติดูแลและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม โดยทุกอย่างสามารถทำผ่านทาง Line OA  ที่มีทั้งภาพและเสียง ทำให้แพทย์และผู้ป่วยสื่อสารพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลยังสามารถดูภาพผ่าน Video Call ว่าสภาพบ้านมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุล้มซ้ำซากหรือไม่ เช่น บ้านรกมีสิ่งของเกะกะทางเดิน แสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่านวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวได้ง่ายขึ้นด้วย หรือแม้แต่ผู้ป่วยสูงอายุที่แม้ไม่มีลูกหลานคอยดูแลก็จะสามารถดูแลตัวเองได้อย่างดี และใช้ชีวิตได้ปลอดภัยยิ่งขึ้นผ่านระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร และติดตามกับแพทย์และพยาบาลดังกล่าวนี้

มองเห็น “ปัญหา” พัฒนาสู่ Health Tech ช่วยเหลือสังคม

ส่วนจุดเริ่มต้นของการทำโปรเจคเพื่อสังคม ในการดูแลคนสูงอายุในประเทศไทยของ iiG ในครั้งนี้นั้น คุณสมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์  Chief Executive Officer บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ iiG เปิดใจว่า เริ่มต้นมาจากเหตุผล 3 ประการสำคัญด้วยกัน

ประการแรกคือ ในฐานะที่ iiG คือบริษัทที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีของคนไทย ดำเนินธุรกิจในประเทศมานาน หนึ่งในเหตุผลสำคัญ ของการดำเนินโปรเจคเพื่อสังคมของบริษัทฯ คือ ต้องการตอบแทนสังคมไทย ในช่วงที่ผ่านมา จึงคิดค้นและนำจุดแข็ง ทั้งทางด้านความเชี่ยวชาญ เรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี การวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูล ฯลฯ มาพัฒนาช่องทางการสื่อสารดิจิทัล เพื่อสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม และหวังจะมีส่วนช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น

เรื่องที่สองคือ มองเห็นถึงปัญหาของการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ซึ่งวันนี้บุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่าย ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย ทางบริษัทจึงอยากเข้ามามีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ ผ่านระบบการสื่อสารและติดตามผลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดเวลาในหน้าที่ส่วนนี้

เหตุผลสุดท้าย คือประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการดูแลคนสูงวัยจะเป็นภาระที่หนักหน่วงแก่คนในครอบครัว และภาครัฐในภาพรวม เมื่อคนกลุ่มนี้เกิดการเจ็บป่วย ไม่เพียงแค่ต้องการเรื่องของการรักษาเท่านั้น แต่ต้องติดตามผลการรักษาด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยซ้ำขึ้นอีก อีกทั้งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และงบประมาณในการดูแลรักษา

จากเหตุผลสามประการนี้ทำให้ iiG ตัดสินใจเข้าไปพูดคุยกับทางทีมภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และร่วมพัฒนาระบบ Patient Dashboard ขึ้นมา ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของบริษัทอยู่แล้ว ระบบจะทำงานโดยเชื่อมต่อกับ Line Official Account ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยสูงอายุ  โดยทาง iiG นำแนวคิดเรื่องของเทคโนโลยี CRM ซึ่งใช้ในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าในเชิงธุรกิจมาปรับใช้ในอีกมิติหนึ่ง คือการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย เพื่อให้การติดตามดูแลทางด้านสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยผู้สูงอายุ และช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ให้ลดลงอีกด้วย

คุณสมชาย CEO ของ iiG ย้ำอีกด้วยว่า ระบบ Patient Dashboard ที่ทำงานร่วมกัน Line Official Account นี้ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของ iiG ในการช่วยเหลือสังคมไทยผ่านรูปแบบของการทำ Health Tech เท่านั้น ซึ่งในอนาคตสามารถขยายขอบเขตการช่วยเหลือ ไปสนับสนุนยังแผนกอื่นๆ ได้อีก อย่างเช่น ในกลุ่มของผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ฯลฯ เป็นต้น

คุณสมชาย กล่าวอีกว่า .. “ ในฐานะที่ iiG เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญทางด้าน Digital Technology Consulting เรามีเจตจํานงในการรับผิดชอบต่อสังคม โดยใช้ความเชี่ยวชาญของเราเพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยในไทย มีความพร้อมในการดูแลสุขภาพ และช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะยึดมั่นเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพในเชิงป้องกัน (Preventive) รวมทั้งสร้างระบบการสื่อสารติดตามที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมความต้องการ ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุต่อไป โดยจะเน้นพัฒนาระบบที่ง่ายต่อการใช้งาน แต่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่ง ซึ่งในสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบนี้ การนำเทคโนโลยีมาสร้างระบบช่วยดูแลต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้สาธารณสุขไทยสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการดูแลสุขภาพของคนไทยได้เป็นอย่างดี และทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถเป็น Active Citizen ได้ยาวนานขึ้น ”

 


แชร์ :

You may also like