HomeBrand Move !!ยักษ์ธุรกิจโหมอีคอมเมิร์ซ “ซีพี-สิงห์-สหพัฒน์” รุกเต็มสูบ

ยักษ์ธุรกิจโหมอีคอมเมิร์ซ “ซีพี-สิงห์-สหพัฒน์” รุกเต็มสูบ

แชร์ :

ecommerce retail

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันเข้าสู่สังคม “โซเชียลมีเดีย” การใช้เวลาในโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจการค้าขายในปัจจุบันหมุนเปลี่ยนตามไปด้วย  จากตัวเลขการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 28% ในปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 55% ในปีนี้ และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 65% ขณะนี้ผลสำรวจจากรายงาน Smartphone Insights ของคนไทย โดยนีลเส็น บริษัทวิจัยชั้นนำของโลกระบุว่า คนไทยใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นถึง 81% จากไตรมาสที่ 3 ปี 2554 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


ไม่แปลกที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราเห็นภาพความเคลื่อนไหวของกลุ่มค้าปลีกที่รุกการขายสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามานำเสนอผู้บริโภค โดยเฉพาะภาพการแข่งขันของเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ที่เปิดศึกกันรอบด้าน

ล่าสุดภาพดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นชัดเจนในกลุ่มบิ๊กเนม ธุรกิจอุปโภคบริโภครายใหญ่ทั้งหลายที่หันมาเปิดช่องทางอีคอมเมิร์ซของตัวเอง จากเดิมที่ช่องทางหลักจะอยู่ในร้านค้าต่าง ๆ เท่านั้น

“สุพัฒน์ ศรีธนาธร” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันซีพีเอฟมีช่องทางจำหน่ายหลากหลาย ทั้งตลาดสด หรือเทรดิชั่นนอลเทรด, โมเดิร์นเทรด, ฟู้ดเซอร์วิส และซีพีเฟรชมาร์ท ล่าสุดก็เป็นช่องทางที่เป็นบีทูบี และโฮเรก้า (โรงแรม, ร้านอาหาร, จัดเลี้ยง) จากความร่วมมือกับทางแม็คโคร

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นนโยบายของท่านประธาน (ธนินท์ เจียรวนนท์) ที่มองว่า อีคอมเมิร์ซเป็นเทรนด์ที่กำลังมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองบางพื้นที่ เป็นลักษณะการสั่งซื้อผ่านคอลเซ็นเตอร์ โดยการลงทุนหลัก ๆ เป็นเรื่องของระบบซอฟต์แวร์ ระบบการชำระเงิน การสร้างหน่วยรถ จุดให้บริการ ช่วงแรกจะร่วมกับซีพีเฟรชมาร์ท เป็นจุดให้บริการรับสินค้า และในปี 2557 จะเริ่มเปิดตัวและเห็นความชัดเจนขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่

“ที่ผ่านมาได้เริ่มนำสินค้าเข้าไปร่วมวางจำหน่ายกับพันธมิตรร้านค้า ซึ่งมีให้บริการสั่งซื้อออนไลน์ อาทิ แม็คโคร ท็อปส์ เซเว่นอีเลฟเว่น เราอยากลองทำ เพราะมองว่าอีคอมเมิร์ซเป็นเทรนด์ในอนาคต”

เขาชี้ว่าปัจจุบันอีคอมเมิร์ซที่เห็นชัด คือ กลุ่มฟาสต์ฟู้ด ที่มีให้สั่งทางอินเทอร์เน็ต คอลเซ็นเตอร์ กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตก็กำลังเริ่มต้น เราในฐานะซัพพลายเออร์จึงต้องปรับตัวตาม แต่ของเราเป็นอาหารสด อาหารแช่แข็ง ที่มีความลำบากในการทำ สิ่งสำคัญอย่างมากคือการรักษาอุณหภูมิในการจัดส่ง ขณะเดียวกันก็ต้องมีจุดกระจายสินค้าจำนวนมาก เขตไหนอยู่ใกล้ก็จัดส่งใกล้บ้านได้ เช่นเดียวกับเครือสหพัฒน์ ที่เป็นนโยบายของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ก็สั่งเดินหน้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มสูบ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งของเครือและทิศทางที่จะมุ่งไปหลังจากนี้

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือตั้งแต่ต้นปี เครือสหพัฒน์ก็ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจการซื้อขายในรูปแบบใหม่ โดยผนึกกำลังกับบริษัทซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่ทีวีช็อปปิ้งญี่ปุ่น และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผนึกกำลังตั้งบริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวสถานี SHOP CH. (ช้อป ชาแนล) โดยเน้นจำหน่ายสินค้าคุณภาพชั้นนำจากญี่ปุ่น สินค้าพิเศษของไทยจากทั่วทุกมุมโลก และจะพัฒนาต่อยอดรูปแบบใหม่ ๆ ในอนาคต

ส่วนบิ๊กเนมอีกค่ายที่เป็นเจ้าแรก ๆ ของซัพพลายเออร์ที่รุกเข้าสู่ธุรกิจนี้ ต้องยกให้กับ “เครือบุญรอด” ตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

“พลิศร์ ภิรมย์ภักดี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนจำหน่าย 250 ราย ลูกค้าที่เป็นร้านค้าส่ง 12,000 ราย ส่วนร้านค้าปลีกมีถึง 94,000 ราย

ด้วยจำนวนสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีถึงกว่า 30 แบรนด์ ปีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงาน “สิงห์เวิลด์ 2013” เพื่อแสดงสินค้าและบริการของสิงห์ เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเชื่อมั่นให้พันธมิตรทางธุรกิจ ในส่วนของช่องทางอีคอมเมิร์ซ บริษัทให้ความสำคัญกับช่องทางดังกล่าวเช่นเดียวกัน

จากการรุกตลาดมาได้ประมาณ 1 ปี ผลตอบรับมีลูกค้าเข้ามาซื้ออย่างต่อเนื่องและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น ถือเป็นช่วงการเรียนรู้และปรับระบบต่าง ๆ ทั้งนี้มองว่าองค์ประกอบสำคัญของอีคอมเมิร์ซคือ ระบบโลจิสติกส์ การชำระเงิน การจัดส่ง ซึ่งเป็นการวางระบบแบ็กออฟฟิศที่ต้องใช้เวลา

“จริง ๆ ไม่ได้มองว่าเป็นช่องทางเพื่อสร้างยอดขาย แต่ก็ทำเตรียมความพร้อมเอาไว้รองรับอนาคต ซึ่งขณะนี้ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีเวลาน้อยลง อาศัยคนเดียว และใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารตลอดเวลา จึงเป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มความสะดวกมากขึ้น”

โดยทิศทางอีคอมเมิร์ซของบริษัทในปีหน้ามีแผนจะกระจายให้ทั่วประเทศ ปัจจุบันยังจำกัดการจัดส่งอยู่แค่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลบางจังหวัด รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด

“พลิศร์” กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่สินค้าหันมาพัฒนาอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค

ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา เพิ่มความสะดวกตามไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้

วันนี้แม้ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ด้วยแนวโน้มการเติบโตและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ของไทยเริ่มปรับกระบวนทัพ และก้าวเข้ามาสู่สมรภูมิการซื้อขายออนไลน์ เป็นการปรับตัวเพื่อรับมือกับแข่งขันที่เปลี่ยนไป ในยุคที่ขึ้นชื่อว่า “ปลาเร็วกินปลาช้า” ใครเร็วกว่าย่อมได้เปรียบ ณ ชั่วโมงนี้

 

Partner : ประัชาชาติธุรกิจ 


แชร์ :

You may also like