“อีเวนท์” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เรียกว่า “สาหัส”จากวิกฤติ Covid-19 ช่วงที่มีมาตรการ Lockdown “ออร์แกไนเซอร์” ผู้จัดงานรายได้เป็นศูนย์ แม้ได้รับการผ่อนปรนระยะ 4 ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้แล้ว แต่ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีวัคซีน การจัดอีเวนท์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม งานแสดงสินค้า เปิดตัวสินค้า คอนเสิร์ต ยังต้องเว้นระยะห่างต่อไป โอกาสการหารายได้จาก “ออนกราวด์” จึงไม่เหมือนเดิม บิสซิเนส โมเดลหลังจากนี้จึงต้อง สร้างรายได้จาก “ออนไลน์” คู่ขนานกันไป ในรูปแบบ Hybrid Event
หลังภาครัฐปลดล็อกระยะที่ 4 ให้เกือบทุกกิจการกลับมาดำเนินการได้ภายใต้มาตรการที่ยังต้องเว้นระยะห่าง TCEB ได้จัดงานทอล์กออนไลน์ MICE Intelligence Talk หัวข้อ Virtual Events: สร้างโอกาสไมซ์ไทยผ่านโลกดิจิทัล เปิดมุมมองการสร้างโอกาสในธุรกิจอีเวนท์หลังโควิด
คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ผู้ให้บริการธุรกิจอีเวนท์ด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นต์และธุรกิจไลฟ์สไตล์ กล่าวว่าสถานการณ์โควิด ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ช่วงนั้นธุรกิจออร์แกไนเซอร์เริ่มชะลอการจัดงาน พอเข้าเดือนมีนาคม ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ เรียกว่าธุรกิจอีเวนท์ Shutdown 100% จากลูกค้ายกเลิกการจัดงาน ตามมาด้วยรัฐบาลประกาศมาตรการ Lockdown ปิดสถานที่ต่างๆ ห้าง ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ เกือบทั้งหมดรายได้จึงเป็นศูนย์ ต่อเนื่องมากกว่า 4 เดือน
วงการอีเวนท์ในช่วงโควิดเรียกว่า “ช็อก” ต้องหยุดงานชั่วคราว โดยเฉพาะ ซัพพลายเออร์ ด้านอุปกรณ์ แสง เสียง ต้องให้พนักงานหยุดทำงาน มีทั้งจ่ายเงินเดือนส่วนหนึ่งราว 50-70% บางส่วนก็ไม่สามารถจ่ายได้เพราะไม่มีรายได้เข้ามา ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในรอบหลายปี และครั้งนี้รุนแรงมากที่สุด อีเวนท์ต้องหยุดงานยาวนานกว่า 4 เดือน
“ประสบการณ์ทำธุรกิจอีเวนท์ 35 ปี สถานการณ์ที่ทำให้อีเวนท์ต้องหยุดเวลายาวที่สุดไม่เกิน 1-2 เดือน เช่น เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง น้ำท่วม เหตุการณ์ทางสังคม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่โควิดคือเหตุการณ์รุนแรงที่สุด”
Hybrid Event ทางรอดหลังโควิด
แม้ธุรกิจต่างๆ จะกลับมาดำเนินการตามมาตรการผ่อนปรนของภาครัฐแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถกลับไปทำธุรกิจแบบปกติได้ โดยเฉพาะการจัดประชุม สัมมนา การจัดแสดงสินค้า ที่มีมาตรการเว้นละยะห่างของผู้เข้าร่วมงาน 4 ตารางเมตรต่อคน ส่วนอีเวนท์ คอนเสิร์ต 5 ตารางเมตรต่อคน
คุณเสริมคุณ มองว่าหลังการผ่อนปรน ออร์แกไนเซอร์ต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดอีเวนท์มากขึ้น ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อีเวนท์ได้เริ่มให้บริการสตรีมมิ่งอยู่แล้ว เช่น การเปิดตัวสินค้าใหม่ รถยนต์รุ่นใหม่ หรือสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ จะมีบบริการสตรีมมิ่ง ให้ลูกค้าเลือกใช้ หากปกติค่าจ้างอีเวนท์ต่องานอยู่ที่ 2-4 ล้านบาท หากต้องการบริการสตรีมมิ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาอีกราว 40,000 บาท ซึ่งลูกค้ามักจ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้อยู่แล้ว
ช่วงโควิด CMO ได้ปรับตัวให้บริการ “PM Live Studio” สตูดิโอสตรีมมิ่งครบวงจร ทั้งระบบภาพแสงเสียง ตลอดจนระบบการถ่ายทอดสดออนไลน์ เพื่อเป็นทางเลือกการจัดงานอีเวนท์, งานประชุมออนไลน์, งานสัมมนา และปาร์ตี้คอนเสิร์ต โดยทุกคนสามารถเข้าร่วมงานจากที่บ้านได้
“ทุกธุรกิจต้องปรับตัวอยู่รอดให้ได้กับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐหลังจากนี้ ในธุรกิจอีเวนท์การทำ Hybrid Event เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนานำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นช่วงที่เจ้าของสินค้าและผู้บริโภค ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของสื่อออนไลน์ เป็น Learning Curve ที่จะอยู่ต่อไปและเป็น New Normal จริงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอีเวนท์”
สร้างรายได้จาก Virtual Events
ปัจจุบันลูกค้าเริ่มสนใจการจัดงานประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า ในรูปแบบ Virtual Exhibition คู่ขนานกับการจัดงานออนกราวด์ ซึ่งสามารถขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้ เพราะ Virtual Exhibition อาจจะทำเป็นหน้าร้านให้เช่าพื้นที่ของผู้สนใจเข้ามาร่วมงาน เหมือนเป็นอีก “หน้าร้าน” นอกจากรูปแบบออนกราวด์
เช่นเดียวกับการจัด Virtual Concert คู่กับคอนเสิร์ตออนกราวด์ เพราะมาตรการที่ต้องเว้นระยะห่างของที่นั่ง ทำให้ขายบัตรได้ลดลง การทำ Hybrid Event จึงเข้ามาช่วยสร้างรายได้อีกทาง โดยอาจจัดคอนเสิร์ตออนกราวด์ 1,500 ที่นั่ง แต่จัด Virtual Concert คู่ขนานกันอีก 5,000 ที่นั่ง ราคาตั๋วออนไลน์อาจคิดเพียง 20% ของออนกราวด์
นอกจากนี้เทคโนโลยีมีลูกเล่นเข้ามาช่วยหลายด้าน เช่น สามารถช่วยให้ผู้ชมออนไลน์ มีประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถเลือกดูกล้องเฉพาะศิลปินที่ชื่นชอบได้ ขายตั๋วด้วยราคาที่แพงขึ้น โดยให้สิทธิพูดคุยกับศิลปินหลังจบคอนเสิร์ต เป็นโมเดลที่หาโอกาสสร้างรายได้ทั้งออนกราวด์และออนไลน์ เป็นการขยายฐานแฟนและที่สำคัญคือหาเงินได้จริง
“วันนี้อย่าคิดว่า Virtual มาแทนที่อีเวนท์ออนกราวด์ เพราะอยู่กันคนละแพลตฟอร์ม วิธีการทำต่างกันและใช้คนละเครื่องมือ และคนละเทคนิค หากทำพร้อมกันก็จะได้กลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อย่าคิดว่าอะไรมาแทนอะไร แต่มันถึงเวลาที่เราต้องได้ทั้ง 2 อย่าง เพราะ Virtual Event คือโอกาสใหม่ ไม่ใช่ตัวคั่นเวลาในสถานการณ์โควิด”
ไฮบริดอีเวนท์ เป็นโมเดลที่ทำได้ทั้ง Exhibition ประชุมสัมมนา คอนเสิร์ต ที่หารายได้ ได้ทั้ง 2 ช่องทาง เป็นความท้าทายของธุรกิจอีเวนท์ที่จะก้าวข้ามอุปสรรคไปอีกขั้น
วันนี้นักธุรกิจทุกคนต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค คนทำอีเวนท์อย่าท้อแท้ อดทน และก้าวต่อไป เทคโนโลยีไม่ได้ยากเกินไปหากนำมาใช้ประโยชน์ได้ถูกทางก็จะทำให้ชนะได้