หลัง “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ CRC บิ๊กค้าปลีกของตระกูลจิราธิวัฒน์ จัดทัพเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงต้นปีนี้ ภายใต้ One Family ได้มีการรีวิวพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในเครือใหม่ เริ่มที่ ห้างสรรพสินค้า ซึ่งมี 2 แบรนด์ คือ เซ็นทรัล และ โรบินสัน เพื่อให้เหมาะกับแต่ละทำเล ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และโอกาสสร้างรายได้ให้มากขึ้น
ประเดิมการจัดพอร์ตฯ ห้างสรรพสินค้า ทำเลแรก ศูนย์การค้าเมกา บางนา ทำเลทองฝั่งตะวันออก ด้วยการเปลี่ยนจาก ห้างโรบินสัน เป็น เซ็นทรัล เมกาบางนา ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้
โดย 2 หัวเรือใหญ่ คุณณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล (CRC) และ คุณวุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ในเครือ CRC แจกแจงให้ฟังว่า “ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นห้างเซ็นทรัล เมกาบางนา” ซึ่งก็สรุปมาได้ 10 เหตุผลหลักๆ
1. CRC จัดพอร์ตโฟลิโอห้างใหม่
ธุรกิจ CRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเข้ามาถือหุ้นโรบินสัน 100% ในประเทศไทย CRC มีแบรนด์ห้างสรรพสินค้า 2 แบรนด์หลัก คือ เซ็นทรัล อายุ 73 ปี และ โรบินสัน อายุ 42 ปี หลังเข้าตลาดฯ ก็ได้เริ่มจัดพอร์ตโฟลิโอห้างสรรพสินค้าที่มีรวมกัน 74 สาขา แบ่งเป็น โรบินสัน 51 สาขา และเซ็นทรัล 23 สาขา เพื่อให้แต่ละทำเลที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐานและกำลังซื้อเหมาะกับห้างสรรพสินค้าทั้ง 2 แบรนด์
โดยเฟสแรกมีห้าง 3 สาขา ที่ต้องเปลี่ยนแบรนด์สลับกัน คือโรบินสันเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัล 2 สาขา และ เซ็นทรัลเปลี่ยนเป็นโรบินสัน 1 สาขา ทั้งทำเลกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
2. Positioning ห้างต่างกัน
สำหรับห้างเซ็นทรัลและโรบินสัน มี Positioning ของแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน โดย เซ็นทรัล ภาพรวมลูกค้าเป็นพรีเมี่ยมเซ็กเม้นต์ Middle-High ส่วน โรบินสัน แม้จะวางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ Middle-High เช่นกัน แต่สัดส่วนลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ คือในต่างจังหวัดหากมีอยู่ห้างเดียวไม่มีคู่แข่ง ก็จะอยู่ในตำแหน่งเดียวกับเซ็นทรัล แต่สาขาในกรุงเทพฯ ที่ห้างจำนวนมาก ลูกค้าหลักจึงเป็นกลุ่มกลางมากกว่า
3. บางนาทำเลทองกำลังซื้อสูง
ปัจจุบันที่ตั้งของศูนย์การค้าเมกา บางนา ถือเป็นทำเลทอง ในย่านบางนา-ตราด เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีโครงการอสังหาริมทรัพย์กว่า 18 โครงการ มีที่อยู่อาศัยกว่า 70,000 ครัวเรือน เป็นประตูออกสู่ภาคตะวันออก เชื่อมต่อได้หลายจังหวัด อาทิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พื้นที่ EEC และเป็นหน้าด่านก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ประชากรในย่านนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
4. โครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าพร้อม
ในอนาคตอันใกล้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้ารางคู่ บางนา-สุวรรณภูมิ ที่จะเข้ามาหนุนการเติบโตของพื้นที่โซนตะวันออก ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก อยู่ใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เดินทาง 25 นาที
5. เปลี่ยนแบรนด์ห้างรับกำลังซื้อโต
สำหรับโรบินสัน เมกา บางนา เป็นสาขาแรกที่ CRC จะเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัล เนื่องจากมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 13,000 ตารางเมตร เหมาะกับฟอร์แมทของห้างเซ็นทรัล สาขานี้โรบินสัน เริ่มเปิดเมื่อ 8 ปีก่อน หรือในปี 2555 เปิดพร้อมศูนย์การค้าเมกา บางนา ตลอด 8 ปี ได้รับการตอบรับดีเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักมาหลายปี ติดอันดับท็อป 8 ของสาขาที่ทำรายได้สูงสุดของโรบินสัน
จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ในพื้นที่ และเชื่อมต่อพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก ทำให้ศักยภาพของศูนย์การค้าเมกา ช่วยให้ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่นี้เติบโตได้อีกในอนาคต การเปลี่ยนเป็นห้างเซ็นทรัล เมกาบางนา จะทำให้ CRC มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากกำลังจับจ่ายของแบรนด์เซ็นทรัล ที่ปกติสูงกว่าโรบินสัน 20-30%
6. รีโนเวทใหญ่ขยายพื้นที่ปี 64
การปรับโฉมห้างเซ็นทรัล เมกาบางนา จะทยอยปรับปรุงพื้นที่ในเฟสแรก (Minor renovation) ด้วยงบประมาณ 50 ล้านบาท และมีแผนขยายขนาดพื้นที่สาขาร่วมกับศูนย์การค้าเมกาบางนาอีก โดยเตรียมการปรับโฉมใหม่ครั้งใหญ่ (Major renovation) ในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2565 การขยายพื้นที่ดังกล่าวเพื่อรองรับกำลังซื้อโซนตะวันออกที่เพิ่มขึ้น และเป็นพื้นที่ค้าปลีกที่เติบโตสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นที่ฐานขนาดใหญ่ มาโซนตะวันออกมากที่สุด ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก และจังหวัดภาคตะวันออกเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งและเติบโตได้ ประชากรในพื้นที่ชาญเมืองที่จะเป็นลูกค้าห้างก็เพิ่มขึ้น
7. เซ็นทรัลเมกาบางนาเติม 1,000 แบรนด์
ห้างเซ็นทรัลเมกาบางนา ที่จะเปิดตัวในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ ได้เพิ่มสินค้าเข้ามาอีก 400 แบรนด์ ทั้งแบรนด์ไทย-แบรนด์อินเตอร์ (International brand) รวมถึงแบรนด์ใหม่ ที่จะทยอยเข้ามาในปีนี้ รวมกว่า 1,000 แบรนด์ โซนไฮไลต์ คือ Beauty Destination อาทิ Chanel, Dior, Nars
นอกจากนี้ยังมี Dyson, Nine West, Steve Madden, Cath Kidston, Tommy Hilfiger, MLB, Fila รวมถึงสินค้า Only@Central ที่มีจำหน่ายเฉพาะที่ห้างเซ็นทรัล อาทิ Dorothy Perkins, Sfera, Miss Selfridge และแบรนด์ Exclusive อย่าง Sanrio และ Smiggle หลังเปลี่ยนเป็น เซ็นทรัล คาดว่าจะทำให้ยอดขายสาขานี้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 20% ในปีหน้า
8. ไม่กระทบเซ็นทรัลบางนาลูกค้าคนละกลุ่ม
ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก CRC มีห้างเซ็นทรัล บางนา อยู่ก่อนแล้ว สาขานี้มีฐานลูกค้ากลุ่มครอบครัวหลายเจนเนอเรชั่น มีกำลังซื้อสูง สินค้าเน้นกลุ่มลักชัวรีที่เหมาะกับกลุ่มครอบครัว ซึ่งมี Loyalty สูงกับสาขานี้ ส่วนสาขาใหม่ เซ็นทรัล เมกาบางนา เน้นกลุ่มครอบครัวใหม่ วัยทำงานที่มีกำลังจับจ่าย สินค้าจึงเป็นกลุ่ม Young Fashion และ Fast Fashion ฐานลูกค้าทั้ง 2 สาขา จึงไม่ซ้ำซ้อนกัน
9. โรบินสันมุ่งภูมิภาคเปิดศูนย์ฯ
สำหรับห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ปัจจุบันมี 51 สาขา ทั่วประเทศ ครอบคลุม 36 จังหวัด อยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล 13 สาขา รวมพื้นที่เฉพาะห้างสรรพสินค้า 580,000 ตารางเมตร (ไม่รวมพื้นที่โรบินสัน ไลฟ์สไตล์)
ในโซนตะวันออก โรบินสัน ยังมีสาขาอีก 3 แห่ง คือ โรบินสันซีคอนสแควร์, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ สมุทรปราการ และโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง การเปลี่ยนสาขาเมกาบางนาเป็นเซ็นทรัล ไม่ได้เสียประโยชน์ เพราะอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของ CRC อยู่แล้ว และมีโอกาสขยายในทำเลใหม่ได้อีกหลังจากนี้
ตำแหน่งของโรบินสันแข็งแรงในภูมิภาค แผนการขยายสาขาหลังจากนี้ยังมีทั้งกรุงเทพฯ หลักๆ คือปริมณฑลและภูมิภาค ขนาดพื้นที่ยืดหยุ่นกว่า ด้วยไซส์ที่เล็กกว่าเซ็นทรัลทำให้โรบินสัน สามารถไปขยายในพื้นที่ที่ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าได้ง่ายกว่า เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากลางถึงสูง รูปแบบหลังจากนี้จะเป็นการขยายโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ที่มีทั้งห้างและศูนย์ฯ วางไว้ปีละ 3 สาขา ส่วนเซ็นทรัลเอง ก็ขยายปีละ 1 สาขา
10. อยากช้อปแบรนด์ไหนก็ไป Omni channel
ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เซ็นทรัล หรือ โรบินสัน ทั้ง 2 ห้างได้ปรับตัวสู่รูปแบบ Omni Channel Department Store นอกจากห้างแล้วก็สามารถซื้อสินค้าได้หลายช่องทาง โดยไม่จำเป็นต้องไปที่สาขา
อยากซื้อจากห้าง โรบินสัน ก็ช้อปได้ 4 ช่องทาง ทั้งโรบินสัน ออนไลน์ เว็บไซต์ www.robinson.co.th ,เฟซบุ๊กไลฟ์ , Chat & Shop ที่ LINE @Roninson และ Robinson Call & Shop ช้อปผ่านโทรศัพท์ หมายเลข 02-160-3933
เช่นเดียวกับเซ็นทรัล ช้อปปิ้งผ่านเว็บไซต์ www.central.co.th ช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ บริการ Central Chat & Shop ช้อปผ่านแอปพลิเคชั่น Line ที่ @Central Official , บริการ Central Call & Shop โทร.02-793-7555 บริการใหม่ Drive Thru รับสินค้าชำระเงินโดยไม่ต้องลงจากรถ บริการ E-Ordering และบริการ Click and Collect บริการสั่งของออนไลน์
การปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้ นอกจากสาขาที่ต้องสร้างประสบการณ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในแต่ละทำเลแล้ว การพัฒนาหลากหลายช่องทางโดยเฉพาะออนไลน์ เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อในยุค New Normal หลังโควิด-19