เรียกว่าเป็นการยกระดับงานคอนเฟอเรนซ์ไปอีกขั้น สำหรับการจัดงาน WWDC 2020 ของ Apple ที่แม้จะไร้ผู้เข้าชมงานเหมือนในปีที่ผ่าน ๆ มา แต่ด้วยเทคนิคการนำเสนอ และเทคโนโลยีที่ Apple คัดสรรนำขึ้นมาโชว์จาก 5 แพลตฟอร์ม ทั้ง iOS, iPadOS, watchOS, tvOS และ macOS ก็สามารถทำให้งาน WWDC ในปีนี้สร้างเสียงฮือฮาให้กับสาวก Apple ได้ไม่ต่างจากทุกปีที่ผ่านมา
โดยตัวงาน WWDC 2020 เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับชาวเน็ตก่อนใคร กับการนำเสนอภาพลูกโลกพร้อมจุดเล็ก ๆ เรียงรายเต็มไปหมด ก่อนจะซูมเข้าไปให้เห็นชัด ๆ ว่าจุดเล็ก ๆ ที่เรืองแสงอยู่นั้นก็คือบรรดาชาวเน็ตอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ กันนี่เอง
ส่วนความน่าสนใจของงาน WWDC 2020 ปีนี้ถูกเริ่มต้นบน iOS กับฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา เช่น การสามารถแทรก Widget ขึ้นมาบนหน้าจอได้, การจัดกลุ่มของแอปพลิเคชัน, Siri ใหม่ที่สามารถแปลภาษาได้, Maps ที่ออกแบบใหม่ให้รองรับคนขี่จักรยาน และผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ประเด็นที่ในด้านการพัฒนาระบบปฏิบัติการและฟีเจอร์ต่างๆ ที่น่าสนใจ
เปลี่ยน iPhone เป็นกุญแจรถยนต์
แต่ที่สามารถสร้างเสียงว้าวได้มากขึ้นอาจเป็นฟีเจอร์ Car Key ที่ทำให้ iPhone กลายเป็นกุญแจรถยนต์ให้กับ BMW 5 Series 2021 ด้วยการฝังลงในระบบปฏิบัติการของ iOS เลย ไม่ได้แยกออกมาเป็นแอปพลิเคชันอย่างที่ค่ายอื่นพัฒนาออกมา ซึ่ง Apple บอกว่า ด้วยรูปแบบดังกล่าว ทำให้ Car Key ของ Apple นั้น “ปลอดภัยกว่าการใช้กุญแจรถยนต์ปกติ” (รถ BMW ที่รองรับฟีเจอร์ดังกล่าวจะเริ่มวางจำหน่ายในเดือนหน้า)
Scribble ช่วยเปลี่ยนลายมือเป็นตัวอักษร
ฟีเจอร์ว้าว ๆ อันดับต่อมาอาจขอเปลี่ยนไปยังกลุ่มผู้ใช้ดินสอ (Pencil) บ้าง เมื่อ iPadOS เวอร์ชันใหม่มาพร้อมฟีเจอร์ Scribble ที่สามารถเปลี่ยนลายมือให้กลายเป็นตัวหนังสือได้แล้ว แถมไม่จำกัดเฉพาะภาษาอังกฤษ แต่ยังรวมถึงภาษาจีนด้วย ผู้ใช้งานแอนดรอยด์คงบอกว่าฟีเจอร์นี้ ฉันมีมาตั้งนานแล้วย่ะ… อย่างไรก็ตามเมื่อรวมพลังกับ iPad OS ที่เปิดตัวมาก่อนหน้านี้ การเพิ่มขีดความสามารถของ Pencil เมื่อรวมกับการเชื่อมต่อคีย์บอร์ด และเมาส์ที่ทำได้ก่อนหน้านี้แล้ว ต้องบอกว่านาทีนี้แท็บเล็ตของค่าย Apple น่าจะมีคุณสมบัติการใช้งานที่เหลือร้ายทีเดียว
Scribble ยังทำให้การใช้ Pencil บน iPad ทำได้สะดวกกว่าที่เคย จากเดิมที่เราเคยพิมพ์ลงในช่องเสิร์ช จากนี้ไปก็สามารถเขียนด้วย Pencil แล้วเสิร์ชหาสิ่งที่ต้องการได้เลยนั่นเอง
ความสามารถต่อมาอยู่บน Airpods ที่ Apple พัฒนาให้ Airpods สามารถสวิทช์อุปกรณ์ได้อัตโนมัติ เช่น เราอาจใส่ Airpods เพื่อชมภาพยนตร์บน iPad แต่เมื่อมีสายเรียกเข้าจาก iPhone เสียงเรียกเข้านั้นก็ดังมายัง Airpods ได้ด้วย
WatchOS จับทุกการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเต้นหรือนอนหลับ
สำหรับคนรักการออกกำลังกาย อีกหนึ่งความสามารถที่น่าสนใจอยู่บน watchOS นั่นคือการเคลื่อนไหวของเราที่เพิ่มขึ้นมาหลายอย่าง รวมถึงการเต้น (เพื่อออกกำลังกายนะคะ) ซึ่งทำให้ Apple Watch กลายเป็นเพื่อนคู่ใจในการออกกำลังกายได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น watchOS ยังทำงานคู่กับ Maps ในการหาเส้นทางการขี่จักรยานดี ๆ ให้เราได้ด้วย
หรือในเรื่องสุขภาพ watchOS ก็ช่วยได้มากขึ้นเช่นกัน เช่นฟีเจอร์ช่วยในการนอนหลับ ที่จะค่อย ๆ ลดการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนลง อาจมีการเปิดเพลงเบา ๆ กล่อมให้นอนหลับสบาย ลดแสงไฟจากหน้าจอ ฯลฯ และปลุกเราเมื่อถึงเวลา โดยทั้งหมดนี้ มีการใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้พฤติกรรมของเราทั้งหมด
แต่ที่น่าสนใจแถมน่ารักเข้ากับยุค Covid-19 ก็คือฟีเจอร์ตรวจจับการล้างมืออัตโนมัติที่ Apple มองว่าน่าจะเหมาะกับยุค Pandemic โดย Apple Watch จะใส่ฟีเจอร์นับเวลาถอยหลังเพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า เราล้างมือฟอกสบู่นานพอที่จะทำให้มือสะอาด ถ้าไม่ถึงเวลาที่กำหนดก็เตือนเราให้ล้างมือต่อด้วย
เรื่องต่อไปที่ Apple ให้ความสำคัญคือเรื่องภายในบ้านที่แต่ละครอบครัวต่างต้องการรักษาความเป็นส่วนตัว (Privacy) เอาไว้ แต่จะทำอย่างไรในยุคที่ 5G กำลังมา และอุปกรณ์ IoT เปิดตัวกันรัว ๆ ทาง Apple บอกว่า มันอยู่บนแพลตฟอร์มอย่าง HomeKit ที่จะเข้ามาช่วยควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น หลอดไฟ IoT, ประตูโรงรถ, ลูกบิดประตูต่าง ๆ, กล้องวงจรปิด ฯลฯ ให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้มากขึ้น
นอกจากนั้น เรายังสามารถสั่งให้ Siri เปิดกล้องวงจรปิดในจุดที่ต้องการขึ้นมาแสดงบน Apple TV ได้ด้วย
สุดท้ายของความเปลี่ยนแปลงจบลงที่ mac โดยมีการเปิดตัว macOS เวอร์ชันใหม่ชื่อ Big Sur ที่มาพร้อมการปรับปรุงประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันหลาย ๆ ตัว เช่น Safari, Maps, Message รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงด้านฮาร์ดแวร์ด้วยเช่นกัน โดย Tim Cook ได้ใช้เวทีดังกล่าวประกาศเปลี่ยนโปรเซสเซอร์จาก Intel มาใช้โปรเซสเซอร์ของตัวเอง (เริ่มกับผลิตภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายในปี 2021) อย่างเป็นทางการด้วย
ในภาพรวม อาจกล่าวได้ว่าเกือบสองชั่วโมงของ WWDC 2020 แม้จะอยู่ในรูปแบบออนไลน์ แต่ความดึงดูดของตัวงานไม่ได้ลดน้อยลงเลย และถึงแม้ว่า Apple จะยังไม่เปิดเผยตัวเลขผู้เข้าร่วมงานออกมาให้ทราบกัน แต่หากย้อนไปที่งานคอนเฟอเรนซ์ของ Microsoft อย่าง Build ที่จากเดิมเคยมีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุด 6,200 คน พอเมื่อเปลี่ยนมาจัดผ่านออนไลน์กลับกลายเป็นว่า งานดังกล่าวสามารถรองรับผู้เข้าชมได้ถึง 193,000 ราย เช่นเดียวกับ Salesforce ที่จัดงาน Dreamforce Conference เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็สามารถดึงดูดคนเข้าร่วมได้มากถึง 171,000 คนเช่นกัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อีเวนท์ปกติทั่วไปไม่สามารถทำได้
นอกเหนือจากเรื่องของเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงกันไปมากมายแล้ว การจัดงานของ Apple เองก็มีประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน ในเมื่อการจัดงานในรูปแบบนี้ กลับช่วยให้ประสบการณ์การรับชมตื่นตาตื่นใจ Apple ก็สามารถนำเสนอฟีเจอร์ และคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากมีการถ่ายทำไว้แล้ว โปรดักท์หลายอย่างที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีนำเสนอก็ทำได้เห็นภาพมากขึ้น และถ้าใครได้ชมการถ่ายทอดอยู่ตลอดก็จะได้เห็นอาณาจักร Apple Park ไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของ Tech Conference ได้เกิดขึ้นแล้ว และการเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของ “รายได้” ที่ธุรกิจในท้องถิ่นเคยได้รับจากการเข้าร่วมงานของผู้คนนับพันต้องหายวับไปกับตาด้วย ซึ่งหากบริษัทต่าง ๆ ต้องปรับตัวไปจัดอีเวนท์ออนไลน์กันมากขึ้น ดูเหมือนว่า “ท้องถิ่น” เองก็คงต้องหาหนทางสร้างรายได้ใหม่กันแต่เนิ่น ๆ เสียแล้ว