Kantar บริษัทด้านวิจัยข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาการตลาดระดับโลก จัดอันดับ “Thailand Brand Footprint 2020” อันดับแบรนด์ที่ผู้บริโภค “เลือกซื้อมากที่สุด” และ “เติบโตสูงที่สุด” ในกลุ่มสินค้าสินค้าอุปบริโภค (FMCG) วิเคราะห์จาก 571 แบรนด์ และครอบคลุมผู้บริโภคทั่วทั้งประเทศไทย
แบรนด์ยืนหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด
5 แบรนด์ ‘ยืนหนึ่ง’ ที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วย 1.Dutch Mill ผู้บริโภคเลือกซื้อสูงถึง 186 ล้านครั้ง สูงที่สุดในกลุ่มสินค้าประเภทนม 2.Mama (มาม่า) 170 ล้านครั้ง สูงที่สุดในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร 3.Nescafé 139 ล้านครั้ง สูงที่สุดในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องดื่ม 4.Colgate 128 ล้านครั้ง สูงที่สุดในกลุ่มสินค้าประเภทสุขภาพและความงาม และ 5.Hygiene 116 ล้านครั้ง สูงที่สุดในกลุ่มสินค้าประเภทดูแลบ้าน
แบรนด์ดาวรุ่งเติบโตสูงที่สุด
5 แบรนด์ ‘ดาวรุ่ง’ เติบโตสูงสุดในประเทศไทย ประกอบด้วย 1.Wall’s ผู้บริโภคเลือกซื้อสูงถึง 24 ล้านครั้ง สูงขึ้น 3.6 ล้านครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทนม 2.Mitr Phol (มิตรผล) 53 ล้านครั้ง สูงขึ้น 4.7 ล้านครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร 3.Singha Drinking Water (น้ำดื่มสิงห์) 39 ล้านครั้ง สูงขึ้น 9 ล้านครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องดื่ม 4.Tepthai (เทพไทย) 10 ล้านครั้ง สูงขึ้น 4.3 ล้านครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทสุขภาพและความงาม และ 5.Pro (โปร) 28 ล้านครั้ง สูงขึ้น 4 ล้านครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทดูแลบ้าน
แบรนด์ม้ามืดที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสูงถึง “10 ล้านครั้ง” เป็นครั้งแรก
2 แบรนด์ “ม้ามืด” ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสูงถึง 10 ล้านครั้งเป็นครั้งแรก คือ C-vitt ผู้บริโภคเลือกซื้อสูงถึง 11 ล้านครั้ง สูงขึ้น 5.8 ล้านครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องดื่ม และ Tepthai (เทพไทย) 10 ล้านครั้ง สูงขึ้น 4.3 ล้านครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทสุขภาพและความงาม
คุณฮาวเวิร์ด ชาง กรรมการผู้จัดการ ประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar (Worldpanel Division) กล่าวว่า ก่อนที่จะมีผลกระทบจาก COVID-19 การเติบโตของตลาด FMCG ในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นการเติบโตแบบตัว L จากจุดสูงสุดในปี 2011 ตั้งแต่นั้นมาค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโดยมีอัตราการเติบโตอยู่ระหว่าง -0.4% ถึง 0.9% แม้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคลดลง แต่ก็ยังมีแบรนด์ที่ชนะใจผู้บริโภคมากขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้
“ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินสำหรับสินค้าพรีเมี่ยม หากสินค้านั้นมีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคและมีคุณค่าสูงกว่าราคา ตลาดอาหารและเครื่องดื่มตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ด้วยการเน้นย้ำเรื่องของสุขภาพ คุณประโยชน์ทางโภชนาการ และรสชาติที่แปลกใหม่”
คุณชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar (Worldpanel Division) กล่าวว่าแม้กำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศไทยจะอ่อนแอลง จากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และมาตรการภาครัฐในการกำกับดูแลสถานการณ์โควิด ที่ส่งผลทำให้เกิดการหยุดชะงักในหลายธุรกิจ หากเรียนรู้จากวิกฤติทางการเงินครั้งก่อนๆ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคมักจะมีวิธีการจัดการค่าใช้จ่ายของพวกเขาเสมอ
คำถามคือ “สินค้าของแบรนด์ไหนมีความจำเป็น” เมื่อวิกฤตเกิดขึ้น กลยุทธ์การตลาดต้องปรับตัวอย่างไรหากผู้บริโภคมี Price Sensitive มากขึ้น หาก Lifeline Journey ปัจจุบันคือการผสานระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้นการสื่อสารแบบ Holistic จะมีความจำเป็นกว่าที่เคย ที่น่าจับตามองคือการแข่งขันของตลาด FMCG ในวันนี้และวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่ยากกว่าเดิม
สุดท้ายแล้วแบรนด์ต้องไม่เพียงเข้าใจความต้องการผู้บริโภคแบบผิวเผิน แต่ต้องมองเข้าไปถึงแก่นแท้แบบเชิงลึก ต่อสิ่งที่พวกเขาคิด สิ่งที่พวกเขาซื้อ อะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนใจไปบริโภคอีกแบรนด์ เพื่อแบรนด์จะได้สร้างผลกำไรในระยะยาว สามารถยืนหยัดในตลาดทุกสถานการณ์ และทำให้เกิด “Footprint” อย่างยั่งยืน
3 ปัจจัยทำให้ผู้บริโภคเลือกแบรนด์
ในบรรดา 571 แบรนด์ กว่า 50% ที่มีอัตราการเข้าถึงผู้บริโภค Consumer Reach Points (CRPs) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ โดยมี 3 ปัจจัย อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ชนะใจผู้บริโภคมากขึ้นคือ Innovation Healthy และ Convenience ผู้บริโภคมองหาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป
ตลอดเวลาตาม Lifestyle และความต้องการใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการจับจ่าย อัตราการเติบโตอาจกลายเป็นสิ่งที่ยากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับ New Norm ความสำคัญที่สุดคือแบรนด์ต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ให้ดี ให้ลึก
5 กุญแจ หนุนแบรนด์เติบโต
• New Needs: การตระหนักรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค และสร้างหมวดหมู่สินค้าใหม่
• More Moments: การสร้างช่วงเวลาหรือโอกาสในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น โดยการทำให้สินค้าพร้อมซื้อและมีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค
• More Categories: การสร้างหมวดหมู่สินค้าที่แตกต่างออกไป เพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการตอบสนองจากสินค้าที่มีอยู่เดิมของแบรนด์
• More Targets: การสร้างสินค้าที่ดึงดูดความต้องการของผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น เพื่อดึงดูดเป้าหมายใหม่
• More Presence: การเพิ่มจำนวนช่องทางจัดจำหน่าย ที่ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงและจับจ่ายได้