HomeBrand Move !!“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” แห่งดุสิตธานี ถอดรหัสทักษะผู้นำ พาองค์กรฝ่าวิกฤติ “สิ่งที่ต้องทำและต้องทิ้ง”

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” แห่งดุสิตธานี ถอดรหัสทักษะผู้นำ พาองค์กรฝ่าวิกฤติ “สิ่งที่ต้องทำและต้องทิ้ง”

แชร์ :

ในทุกวิกฤติมักไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้า ยิ่งเป็นสถานการณ์ Covid-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในขณะนี้ ยังไม่เห็นทางออกว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ววันนี้ อาจจะรุนแรงมากกว่านี้ได้อีก ไม่มีใครคาดเดาเหตุการณ์อนาคตได้ การจะนำพาองค์กรฝ่าพายุนี้ จึงอยู่ที่ทักษะของ “ผู้นำ” ที่ต้องเริ่มจากการสร้างความมั่นใจก่อนว่า “เราต้องรอด”  เชื่อในสิ่งที่กำลังเดินไปข้างหน้าว่ามีโอกาส ไม่ใช่เห็นแต่วิกฤติ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ธนาคารกสิกรไทย โดยเพจเฟซบุ๊ก K SME  เปิดมุมมองผู้นำองค์กรชั้นนำกับหัวข้อ How to think  “สุดยอดทักษะผู้นำ พาธุรกิจฝ่าวิกฤติรอด” พูดคุยกับ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ในฐานะแม่ทัพที่ต้องพาองค์กรก้าวผ่านวิกฤติครั้งสำคัญนี้ไปให้ได้ พร้อมเช็กลิสต์ทักษะที่ต้องมี สิ่งที่ต้องทำและต้องทิ้ง กับบทบาทผู้นำที่ดี

มาเริ่มกันที่ Mindset ผู้ประกอบการกันก่อนว่า หากต้องการให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ต้องมี 6 คุณสมบัติ

1. ผู้นำต้องมีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ทักษะใหม่  (Curiosity)  เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง ปรับ Business Model ให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และคลื่น Digital Disruption  ที่ถาโถมอยู่ตลอดเวลา

2. การเปิดกว้าง (Openness)  ยอมรับความคิดเห็นจากทั้งคนภายในและภายนอกองค์กร เพราะสิ่งที่รู้วันนี้ คงไม่สามารถตอบโจทย์องค์กรให้เดินต่อได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามา

3. การเอาใจใส่ (Empathy) รู้จังหวะในการทำงาน ผ่อนหนัก ผ่อนเบากับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า เพราะหากเข้าใจสถานการณ์ก็จะเข้าใจจังหวะ ที่จะดำเนินธุรกิจไปข้างหน้าได้ เช่น บางครั้งต้องเร่งเครื่ององค์กรให้เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่บางจังหวะต้องหยุดพัก หยุดคิดดูแผนข้างหน้าว่าเหมาะสมหรือไม่

4. รวมคนให้เป็นหนึ่งเดียว (Inclusiveness) ผู้นำต้องมีปฏิสัมพันธ์ (engage) กับคนในองค์กรและ stakeholders ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมงาน โดยเปิดรับความเห็นของทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างให้เกิดแรงจูงใจ ทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

5. ต้องคิดบวก (Positive Thinking)  ต้องเชื่อว่าสิ่งที่กำลังเดินไปข้างหน้ามีโอกาส ไม่ใช่เห็นแต่วิกฤติ เพราะจะทำให้สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมีกำลังใจ เมื่อ Mindset ของผู้นำมองบวกแล้วก็จะส่งต่อพลังและความเชื่อมั่น มองปัญหาข้างหน้าเป็นเรื่องชั่วคราว ถ้าร่วมมือกันก็จะหาหนทางเดินต่อไปข้างหน้าได้

6. ความเชื่อมั่น (Conviction) ผู้นำต้องมี Passion ในสิ่งที่ทำ หากเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ใช่ ก็จะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

6 ทักษะผู้นำพาองค์กรฝ่าวิกฤติ

วิกฤติโควิด เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจในวงกว้าง คุณศุภจี บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นวิกฤติไหนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขนาดนี้” ไม่เคยคิดว่าธุรกิจจะถูก Lockdown ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักและยังประเมินได้ยากว่าจะกลับมาปกติเมื่อไหร่

ปกติเมื่อเกิดวิกฤติ คนในองค์กรก็จะเกิดความสับสน กังวลและมีความกลัว ดังนั้นสิ่งที่ “ผู้นำ” ควรมีในช่วงวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติไหนก็ตามไม่เฉพาะโควิด

1. ต้องสร้างความมั่นใจ (Confident) ให้ตัวเองก่อนว่า “เราต้องรอด” และต้องนำพาองค์กรและทีมงานให้รอด เพราะหากผู้นำยังไม่เชื่อมั่นและไม่มั่นใจในสิ่งที่กำลังเดินไปข้างหน้า จะยิ่งทำให้คนในองค์กรกังวลและกลัว

2. การสื่อสาร (Communication) วิธีที่จะทำให้คนเกิดความมั่นใจได้ ต้องเริ่มด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น องค์กรกำลังทำอะไร ให้ข้อมูลอย่างจริงใจว่ากำลังเผชิญอะไร รวมทั้งต้องสื่อสารให้เกิดแรงจูงใจกับคนในองค์กร คู่ค้า และ Stakeholders ทั้งหมดเชื่อมั่นเพื่อเดินต่อไปด้วยกัน

3. ประเมินสถานการณ์และบริหารจัดการความเสี่ยง (Situation Assessment) ความยากของวิกฤติโควิด ที่ทุกคนกำลังเจอในขณะนี้ คือความไม่แน่นอน  ดังนั้นการสื่อสารกับคนในองค์กร  วางแผนรับมือ แล้วประเมินทิศทางที่จะไปต่อ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

4. วางแผนทางด้านการเงิน (Financial Model) เนื่องจากโควิด ทำให้รายได้หายไปกระทันหัน ส่งผลกระทบรุนแรงและลึกมาก ยังไม่รู้ว่าจะนานขนาดไหน การวางแผนด้านการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องดู Profit and Loss และ Balance Sheet  ดูรายได้ที่หายไป  หาทางเพิ่มรายได้อื่นมาทดแทน หากหารายได้เพิ่มไม่ได้ ก็ดูต้นทุนค่าใช้จ่ายว่าลดได้หรือไม่ ดูกระแสเงินสดว่าอยู่ได้นานแค่ไหน

5. วางแผนธุรกิจใหม่ (New Business Model) ในสถานการณ์โควิดที่ Business Model เดิมไม่สามารถไปต่อได้  เช่น รายได้จากธุรกิจหลักโรงแรมเป็นศูนย์ จากมาตรการ Lockdown และนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา จึงต้องหารายได้อื่นมาเสริม ต้องคิดให้เร็วว่าจะทำอะไรในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

6. ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อบริหารคนและงาน (Organization Model) เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติก็ต้องกลับมาดูองค์กรว่า Lean พอหรือยัง ตัดสิ่งไม่จำเป็นได้อีกหรือไม่ ลดขั้นตอนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ดูโครงสร้างหลังโควิด จัดโครงสร้างให้เหมาะสม ทักษะใหม่ๆ ในการทำงานของพนักงานมีเพียงพอหรือไม่ รวมทั้ง Mindset ที่จะเดินไปข้างหน้า เพราะวิธีการทำงานหลังโควิดไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การนำ Digital Capability มาช่วยทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน  และจูงใจให้พนักงานเห็นว่าจะต้องปรับเปลี่ยนสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ในภาวะวิกฤติเพื่อให้ไปต่อได้

จะไปต่อต้อง “ปรับมุมคิด-วิธีการทำงาน” 

การจะทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต ต้องทำ 3 อย่าง  คือ 1.คิดแบบสตาร์ทอัป (Think like startup) เพราะสตาร์ทอัป จะทำงานแบบไม่ติดยึดกับกฎระเบียบ นำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว  2.ทำงานเหมือนเอสเอ็มอี (Operate like SME) ลดขั้นตอนการทำงานไม่ให้ซับซ้อน เพื่อความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการทำงาน และ 3.วัดผลให้ชัดเจนเหมือนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (Measure like listed company) เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กร ต้องระมัดระวังในการทำงาน

วันนี้หากธุรกิจ SME ต้องการเติบโตเป็นบริษัทมหาชน ต้องเตรียมตัว 3 เรื่องหลัก คือ 1.Foundation  พื้นฐานต้องแข็งแรง เพื่อการเติบโตที่ดีในอนาคต รากฐานที่ต้องมี คือ บุคลากร เหมาะสมตามบิสซิเนส โมเดล ,กระบวนการทำงาน  และเทคโนโลยีที่จะมาช่วยในการทำงาน

2.Business Model ต้องหาโมเดลที่เหมาะสมให้เจอ เพราะโลกถูก Disrupt ตลอดเวลา ก่อนโควิด ก็มี Digital Disruption ซึ่งทำให้เกิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ โมเดลธุรกิจเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยทำงาน สร้างสมดุลรายได้ กระจายความเสี่ยง และ 3.Growth Strategy กลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต  เพื่อเตรียมความพร้อมให้เติบโตไปอีกสเต็ป

สิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่ต้องทิ้ง

แน่นอนว่าการบริหารองค์กรในสถานการวิกฤติ มีหลายสิ่งที่ “ผู้นำ” ต้องทำ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและวางแผนต่อในอนาคต เช่นเดียวกันก็มีบางสิ่งต้องทิ้ง คุณศุภจี สรุป 3 สิ่งทำ 3 สิ่งทิ้งไว้ดังนี้

3 สิ่งต้องทำ

  1. Business Model ให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
  2. Organization Model  ตอบโจทย์รูปแบบธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนแปลง
  3. Financial Model ให้มีสภาพคล่องและกระจายความเสี่ยง

3 สิ่งที่ต้องทิ้ง

  1. ทัศนคติและการทำงานรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์อนาคต
  2. การยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ที่อาจจะใช้ไม่ได้ในอนาคต
  3. การทำงานแบบฉายเดี่ยว เพราะในยุคหน้าการรอดคนเดียวจะไปต่อไม่ได้ ไม่มีใครชนะคนเดียว แต่ต้องอยู่รอดด้วยกันทั้งระดับองค์กร อุตสาหกรรม ประเทศ และโลก

เคล็ดลับพัฒนาทักษะใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้นำหรือบุคลากร ต้อง “เปิดใจ เปิดหู เปิดตา” ศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ดูคนที่ประสบความสำเร็จ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อประยุกต์ใช้ในการทำงาน สิ่งสำคัญผู้นำต้องไม่ยึดติดกับสิ่งที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพราะสถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา เปิดใจให้กว้าง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์เท่านั้น เพราะบางครั้งการดูคนล้มเหลว ก็จะมีข้อคิดที่ดีนำมาปรับใช้และไม่ทำตามสิ่งนั้น

วิกฤติโควิด เป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครมีประสบการณ์รับมือมาก่อน เป็นสถานการณ์ที่บริหารได้ยากมาก ทั้งเรื่องบุคลากรและธุรกิจ แต่ “ผู้นำ” มีหน้าที่ต้องหาหนทางและนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติไปให้ได้


แชร์ :

You may also like