HomeBrand Move !!“Interactive Technology Retail” ปฏิวัติวงการ “Luxury Brand” และค้นคำตอบ “Physical Shop” ยังสำคัญหรือไม่ ?

“Interactive Technology Retail” ปฏิวัติวงการ “Luxury Brand” และค้นคำตอบ “Physical Shop” ยังสำคัญหรือไม่ ?

แชร์ :

Interactive Technology Retail

ในขณะที่ยอดขายสินค้า Luxury ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั่วโลก (เสื้อผ้า, เครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ความงาม, น้ำหอม, จิวเวลลี่ และนาฬิกา) นับวันเป็นช่องทางที่มีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดย “Mckinsey” (อ้างอิงข้อมูลจาก Euromonitor และ Forrester) ฉายภาพว่า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune
  • ปี 2016 ยอดขายสินค้าหรูในช่องทางออนไลน์ทั่วโลก อยู่ที่ 20 พันล้านยูโรป คิดเป็น 8% ของมูลค่าตลาดรวมสินค้า Luxury ทั่วโลก 254 พันล้านยูโร 
  • ปี 2020 คาดการณ์ว่ายอดขายสินค้าหรูในช่องทางออนไลน์ทั่วโลก จะอยู่ที่ 37 พันล้านยูโร คิดเป็น 12% ของมูลค่าตลาดรวมสินค้า Luxury ทั่วโลก 312 พันล้านยูโร 
  • ปี 2025 คาดว่ายอดขายสินค้าหรูจากช่องทางออนไลน์ จะเพิ่มเป็น 74 พันล้านยูโร หรือ 19% ของมูลค่าตลาดรวมสินค้าหรูทั่วโลก 383 พันล้านยูโร 
e-Commerce
การเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้า Luxury Brand ในช่องทางออนไลน์ มี 4 เหตุผลหลักคือ 

1. การขยายตัวของ e-Commerce โดยเฉพาะบรรดาแพลตฟอร์มดิจิทัลยักษ์ใหญ่ของโลก ที่สามารถสร้างฐานผู้ใช้งาน และดึงแบรนด์ใหญ่มาเปิด Official Store บนแพลตฟอร์มได้ 

2. ดิจิทัลกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของหลายประเทศทั่วโลกไปแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน

3. ทิศทางของ Luxury Brand ให้ความสำคัญกับช่องทางขายออนไลน์มากขึ้น จากในอดีตเน้น Physical Shop เพราะมองว่าช่องทาง e-Commerce จะกระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ เนื่องจากผู้บริโภคย่อมคาดหวังว่าสินค้าหรูต้องคู่กับบริการ Exclusive จากทางร้าน 

แต่ด้วย Big Data และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ e-Commerce สามารถครีเอทคอนเทนต์สื่อสาร การนำเสนอสินค้า การทำตลาดตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละบุคคลได้แบบ Personalize เพื่อสร้างประสบการดิจิทัลที่ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสปิดการขายได้มากขึ้น 

ผลวิจัย “Deloitte” ฉายภาพว่า แก่นของตลาด Luxury กำลังเปลี่ยนจากเชิงกายภาพ ไปสู่การสร้างประสบการณ์ดิจิทัล โดยผู้บริโภค 37% รู้สึกว่าสินค้าหรู และเทคโนโลยี จะเชื่อมโยงกันมากขึ้น 

อีกทั้งผู้บริโภคกลุ่มที่มีศักยภาพสำหรับตลาด Luxury คือ Gen Millennials และ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้จ่ายผ่านออนไลน์ โดย “Deloitte” ผยว่า 42% ของการซื้อสินค้าหรูในกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ซื้อผ่านคอมพิวเตอร์ หรือผ่านโทรศัพท์มือถือ 

4. ต่อยอดสองช่องทางการขายไปสู่โมเดล “Omni-channel”

ไม่ว่าจะสร้าง Own Channel ของตัวเอง หรือเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์ม e-Commerce รายใหญ่ เพื่อเปิดร้านทางการบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น 

Luxury Brand

เมื่อคนกล้าช้อปปิ้งสินค้าหรู ราคาแพงผ่านช่องทาง e-Commerce มากขึ้น คำถามที่ตามมาคือ แล้วช่องทาง Physical Shop ยังคงสำคัญอยู่หรือไม่ และต่อไปจะโดนลดบทบาทลงไหม ?!? 

คำตอบคือ “Physical Shop” ยังคงเป็นช่องทางสำคัญ และมีบทบาทต่ออุตสาหกรรม Luxury Brand เพราะถึงอย่างไรผู้บริโภคยังคงต้องการเห็นสินค้าจริง ได้สัมผัสกับสินค้า

ที่สำคัญหน้าที่ของ “Physical Shop” คือ สร้าง “Customer Experience” ไม่ว่าจะผ่านบริการระดับพรีเมียมภายในร้าน และได้สอบถามข้อมูลพูดคุยกับพนักงาน ซึ่งเป็น Human Touch ที่ดิจิทัลยังไม่สามารถตอบสนองได้ 100% 

แต่ทว่าการเปิดร้านรูปแบบเดิมๆ (Traditional Store) ไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับการสร้าง Customer Experience ในยุคดิจิทัล 

ถึงตรงนี้เกิดคำถามต่อว่า แล้ว Physical Shop รูปแบบใหม่ที่จะตอบโจทย์ และสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าเป็นแบบไหน ?!

“Physical Shop” ที่ว่านี้คือ การเอา “Retail Tech” มาผสานกับการให้บริการภายในร้านแบบ Seamless เพื่อทำให้ผู้บริโภคสนุกและสร้างประสบการณ์ที่ดีกับการใช้บริการภายในร้านมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามี Retailer และหลายแบรนด์ เริ่มนำหลายเทคโนโลยีไปใช้ให้บริการแล้ว เช่น

Luxury Brand

– Physical Store Merge Online Store 

ในอดีตช่องทางร้านออฟไลน์ กับออนไลน์แยกขาดจากกัน แต่เมื่อพัฒนาการผ่านไปทุกวันนี้ช่องทางขายสองประเภทนี้ ได้ Merge รวมเข้าด้วยกัน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ไม่ได้สนใจว่าจะซื้อสินค้าจากช่องทางไหน แต่เขาให้ความสำคัญกับ “ความสะดวก” เป็นหลักมากกว่า

เช่น หากอยากซื้อสินค้าหนึ่งๆ อาจเข้าไปดูบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ก่อน หรือช่องทางออนไลน์ที่แบรนด์เป็นเจ้าของเอง (Own Channel) และถ้าอยากดูสินค้าจริง จะไปที่ร้าน เมื่อไปถึงร้านแล้ว ผู้บริโภคอาจจะซื้อจากที่ร้านมาเลย หรือซื้อจากออนไลน์ก็ได้ แล้วให้จัดส่งถึงที่บ้าน หรือปลายทางที่ระบุไว้ 

หรือในกรณีร้านค้าออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นสินค้าจริงก่อนการตัดสินใจซื้อ บางแพลตฟอร์ม e-Commerce หรือบางแบรนด์ที่มีช่องทางร้านออนไลน์ของตนเองอยู่แล้ว แต่ต้องการให้ผู้บริโภคได้สัมผัสสินค้าจริง ได้สอบถามข้อมูลรายละเอียดกับพนักงานแบบ Face to Face ไม่ใช่ผ่านแชทบอท หรือผ่านการตอบทางออนไลน์ ได้ใช้วิธีตั้ง “โชว์รูม” โดนเป็นทั้ง Touch Point สร้างประสบการณ์ในแบรนด์ – สินค้า และเป็นจุดรับส่งสินค้า เมื่อลูกค้าสั่งออนไลน์ แล้วสะดวกมารับด้วยตัวเอง หรือต้องการเปลี่ยนคืนสินค้า 

ผลวิจัยชี้ว่า 55% ของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials ชอบแนวคิดการเปิด “ร้านโชว์รูม” ในขณะที่ 28% ของกลุ่ม Baby Boomers ชอบแนวคิดร้านโชว์รูม

Omni-channel

– Smart Mirrors 

ผลสำรวจ Body Labs พบว่า 46% ของผู้บริโภคไม่ชอบการลองเสื้อผ้าในห้องลอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เช่น ต้องสวมเข้า-สวมออก และถ้าลองหลายชุด ก็ไม่สามารถเปรียบเทียบชุด หรือเสื้อผ้าพร้อมๆ กันได้ หรือบางคนไม่ชอบต้องรอคิวห้องลองเสื้อ 

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้บริโภคลองสินค้า เพิ่มโอกาสการปิดการขายให้กับร้าน มากกว่าผู้บริโภคที่ไม่ได้ลองสินค้า โดยผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคที่ลองเสื้อผ้าในสโตร์ หรือในช้อปเกือบ 7 ครั้ง มีโอกาสจะซื้อเสื้อผ้า มากกว่าคนที่ดูสินค้าภายในร้านไปเรื่อยๆ 

ดังนั้นเพื่อทำให้ประสบการณ์การลองสินค้าดีขึ้น ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี “Smart Mirrors” หรือ “Interactive Fitting Room” ในหลายรูปแบบ 

เช่น ลูกค้าเพียงแค่ยืนอยู่หน้ากระจกของ Interactive Fitting Room เลือกชุด/เสื้อผ้ารูปแบบ Virtual บนหน้าจอตามที่ตัวเองต้องการ ทั้งไซส์, สี, แบบ จากนั้นหน้ากระจกจะปรากฏภาพลูกค้าคนนั้นๆ ในชุด/เสื้อผ้าที่เลือกมาในรูปแบบ Virtual 

เทคโลโลยี Smart Mirrors บางอัน ยังนำเสนอ Accessories อื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าทดลอง Mix & Match กับชุด/เสื้อที่ลองแบบ Virtual ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยทำให้ช้อป สามารถทำ Cross Sale ได้อีกทาง 

หรือเทคโนโลยี Smart Mirrors อีกรูปแบบ คือ บนกระจกจะมีกล้อง และหน้าจอที่แสดงมุมมอง 360 องศา เพื่อให้ลูกค้าลองเสื้อ และสามารถดูได้ทุกองศา  ไม่ว่าจะซ้าย-ขวา หน้า-หลัง เพียงแค่ลูกค้านำชุดที่ต้องการลอง มาลองจริงทีละชุด จากนั้นหน้าจอของกระจก จะบันทึกเป็นวิดีโอ 8 วินาที เพื่อให้ลูกค้าที่ลองหลายชุด หรือลองเสื้อผ้าหลายตัว สามารถเรียกดูวิดีโอที่บันทึกไว้ นำมาเปรียบเทียบชุดที่ลองพร้อมกันได้ ซึ่งทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 

นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถส่งวิดีโอที่บันทึกไว้ ไปขอความคิดเห็นกับเพื่อน แฟน คนในครอบครัว หรือใครก็ตาม ผ่านทาง e-mail หรือ social media เพื่อถามความคิดเห็น 

Retail Technology

– Checkout-Free Store 

Pain Point ของผู้บริโภคเวลาไปซื้อสินค้าตาม Physical Store คือ การต่อคิวจ่ายค่าสินค้า ทำให้เกิด Retail Tech ที่ทำให้ร้านค้าปลีกใช้โมเดล Cashierless 

อย่างเมื่อหลายปีก่อน Amazon เปิด “Amazon Go” ร้านค้าไม่ใช้แคชเชียร์ โดยลูกค้าสแกนผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือตอนเข้าไปในสโตร์ และทันทีที่หยิบสินค้าลงตระกร้า รายการสินค้าและราคาจะเด้งไปอยู่ใน Virtual Cart ฟีเจอร์บนแอปฯ และเมื่อซื้อสินค้าเสร็จ เดินออกจากร้านได้เลย โดยจะชำระเงินผ่านแอปฯ โดยอัตโนมัติ  

หรืออีกสอง Retailer รายใหญ่ของจีนอย่าง “Alibaba” และ “JD” เปิดร้านที่ไม่ใช้แคชเชียร์ เพียงแค่ตอนซื้อเสร็จ จะจ่ายค่าสินค้าก่อนออกจากสโตร์ ใช้ Facial Recognition และเทคโนโลยี RFID เพื่อยืนยันตัวตน และสินค้าที่ซื้อ จากนั้นค่าสินค้าจะชำระผ่าน e-Payment โดยอัตโนมัติ

นี่เป็นเพียงตัวอย่าง Retail Tech ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่นำมาผสานเข้ากับการให้บริการทั้งที่ร้าน และบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Augmented Shopping, Roboting Store Assistants ฯลฯ 

Robotic Retail

 

กรณีศึกษา “Burberry” จับมือ “Tencent” สร้าง “Social Retail Store”

“Burberry” ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม และนำเสนอประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่น ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของประสบการณ์การช้อปปิ้งไปอีกขั้น ด้วยการเผยโฉมร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ในเมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่ได้รับฉายาว่าเป็นซิลิคอน วัลเลย์ของฝั่งตะวันออก โดยได้ร่วมพัฒนาคอนเซ็ปต์ของร้านแห่งใหม่นี้กับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกอย่าง “Tencent” มาร่วมสร้างความแตกต่างให้เหล่า Digital Native ที่ผนวกประสบการณ์การช้อปปิ้งในร้านเข้ากับวิถีชีวิตดิจิทัลได้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งร้านสาขานี้จะกลายเป็นต้นแบบให้กับ สโตร์ของ Burberry อีกหลายสาขาทั่วโลก

“Burberry ให้ความสำคัญด้านความคิดสร้างสรรค์ ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด โดยริเริ่มทดสอบความคิดใหม่ๆ และผลักดันข้ามขอบเขตข้อจำกัด 

ในปีที่ผ่านมา เราเล็งเห็นถึงการเจริญเติบโตและความล้ำสมัยทางเทคโนโลยีของผู้บริโภคชาวจีน  เราได้ร่วมมือกับ Tencent บุกเบิก Retail Store ภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์อันเหนือความคาดหมายให้กับเหล่า Digital Savvy เหล่านี้ โดยประเทศจีนถือเป็นเป้าหมายที่เหมาะสม 

เนื่องด้วยกลุ่มลูกค้าคือผู้มีวิถีชีวิตแห่งยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง และ Burberry สโตร์สาขาเซินเจิ้น (Shenzhen) คือจุดเริ่มต้นที่เราจะสร้างปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลง พร้อมพาเหล่าสาวก Burberry ไปสัมผัสกับประสบการณ์นวัตกรรมอันล้ำสมัย” Marco Gobbetti CEO แบรนด์ Burberry กล่าว

ขณะที่ Martin Lau ประธานบริษัท Tencent กล่าวถึงความร่วมมือกับแบรนด์หรูจากอังกฤษในครั้งนี้ว่า “Value for users, tech for good” คือพันธกิจของ Tencent ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาโดยตลอด เราพร้อมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่เหนือความคาดหมายให้กับ Burberry เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของผู้บริโภค 

Burberry Shenzhen store c Courtesy of Burberry

ในการร่วมมือกับ Burberry ครั้งนี้เรามีความมุ่งหวังที่จะยกระดับร้านค้าหรือรีเทลสมัยใหม่ให้พัฒนาไปอีกขั้น พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กันไป

เพราะฉะนั้นเมื่อ หน้าร้าน ยังคงเป็นหัวใจของการสร้างแบรนด์ ในขณะที่การทำ Digital Transformation คือ สิ่งที่ทุกแบรนด์ ทุกองค์กรไม่อาจปฏิเสธได้ เพื่อสร้างโมเดลการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ “Burberry” จึงเปิดตัว “Social Retail Store” สโตร์แห่งอนาคต (a store of tomorrow for today) ครั้งแรกของโลกอย่างเป็นทางการ ณ เมืองเซินเจิ้น ย่าน Bay MixC ศูนย์กลางเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนซิลิคอน วัลเลย์ของซีกโลกตะวันออก ที่ผสานโลกโซเชียลเข้ากับโลกแห่งแฟชั่นอย่าง ไร้รอยต่อ (seemless) 

 

Burberry Shenzhen store c Courtesy of Burberry

 

เผยโฉมเทคโนโลยีสุดล้ำใน Social Retail Store อะไรดี อะไรเด็ด และจะสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่อย่างไร ?!

ประสบการณ์สำคัญที่เหล่ากลุ่มคนรักแฟชั่นจะได้ สัมผัสนั้น Burberry และ Tencent ได้นำการปฏิสัมพันธ์ “สื่อสังคมออนไลน์” มาผนวกเข้ากับ “บรรยากาศ” และ “ประสบการณ์ภายในร้าน” ผ่านช่องทาง WeChat Mini Program ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าถึงคอนเทนต์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ และประสบการณ์อันเหนือระดับได้ อีกทั้งยังสามารถแบ่งปันประสบการณ์สุดประทับใจในโมเมนต์ต่างๆ ผ่าน สื่อสังคมออนไลน์

คอนเซ็ปต์ร้านใหม่มีขนาดพื้นที่ 539 ตารางเมตร ได้แบ่งพื้นที่ให้ผู้ชื่นชอบแฟชั่นได้สัมผัสการเดินทางด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยพื้นที่ภายในร้านนั้นลูกค้าสามารถสนุกไปกับการเดินทางข้ามเวลาไปพร้อมกับแบรนด์ด้วยสื่อ interactive ผ่าน เอกลักษณ์ของแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทรนช์โค้ท ลายโมโนแกรม และ ลายพิมพ์ของเหล่าสรรพสัตว์นานาชนิด

Social Retail Store แห่งใหม่ได้สะท้อนถึงจิตวิญญาณความเป็นผู้บุกเบิกและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาในด้านนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ของ Thomas Burberry ผู้ก่อตั้งแบรนด์ชาวอังกฤษ และยังเป็นพื้นที่สำหรับการทดลองและการเรียนรู้ รวมถึงเป็นร้านต้นแบบเพื่อพัฒนาเครือข่ายแบรนด์ Burberry ในประเทศจีน

ผมได้แรงบันดาลใจจากความสมดุลของธรรมชาติและเทคโนโลยี และองค์ประกอบที่พร้อมจะเชื่อมโยงทั้งสองโลกเข้าด้วยกัน โดยสโตร์แห่งนี้ได้หลอมรวมความสัมพันธ์ระหว่างดิจิทัล และมิติมุมมองกำเนิดเป็นแนวคิดใหม่ 

ผมต้องการที่จะนำความมีชีวิตชีวาสู่สโตร์แห่งนี้ ที่สามารถเห็นผ่านทางลายปริ้นท์ของเหล่าสรรพสัตว์นานาชนิดภายใน Thomas Burberry คาเฟ่และร่วมดื่มด่ำไปกับดีไซน์และวัสดุต่างๆ  อีกทั้งผมต้องการที่จะให้เหล่าชุมชนของ Burberry ร่วมเดินทางไปกับการผจญภัยครั้งนี้ด้วยกัน Riccardo Tisci ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แบรนด์ Burberry กล่าว

Burberry Shenzhen store - QR codes c Courtesy of Burberry

เทคโนโลยีดิจิทัล และการออกแบบประสบการณ์ ภายในร้าน Social Retail Store แห่งนี้ ประกอบด้วย 

WeChat Mini Program

Tencent และ Burberry ได้ร่วมกันพัฒนา Mini Program ในแบบ Personalised Experiences ผ่านแอปพลิเคชัน WeChat Mini Program เพื่อทำให้สโตร์มีชีวิตชีวา สนุกสนาน และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในการใช้บริการ Burberry สโตร์ 

โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงฟีเจอร์ภายในแอปพลิเคชัน เพื่อเข้าชมภายในสโตร์ รวมทั้งศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า นอกเหนือจากนี้ยังมีบริการ ศูนย์บริการลูกค้า การจองเข้าใช้บริการสโตร์ล่วงหน้า รายละเอียดอีเว้นท์ และการจองโต๊ะ Thomas Burberry cafe อีกด้วย

 

Burberry Shenzhen store - WeChat mini program c Courtesy of Burberry

Social Currency 

เปรียบเสมือนเหรียญรางวัล ที่สามารถนำไปแลกรางวัลต่างๆ ยิ่งลูกค้าเข้ามามีบทบาทกับ Burberry มากเท่าไร Social Currency ที่ได้รับก็จะยิ่งทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น 

ประสบการณ์ภายใน Social Retail Store จะเริ่มต้นขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อลูกค้า Log in ผ่าน WeChat Mini Program จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการสร้างคาแรคเตอร์เป็นตัวละคร Animation เพื่อใช้บริการภายในสโตร์ และเลือกสรรสินค้าต่างๆ

Burberry Shenzhen store - WeChat mini program c Courtesy of Burberry
Interactive Store Event 

ตั้งแต่ด้านหน้าของสโตร์ ลูกค้าจะพบกับหน้าจอสัมผัสเป็นสิ่งแรก นำพาพวกเขาท่องโลกแห่งดิจิทัล ซึ่งมีรูปปั้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรันเวย์ Burberry Autumn / Winter 2020 หน้าจอนี้สะท้อนถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่ลูกค้าสามารถร่วมบันทึกเรื่องราว และร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนฝูง อีกทั้งหน้าจอสัมผัสด้านหน้ายังจัดแสดงคอลเล็กชั่นล่าสุดและสินค้าประจำของ Burberry

Burberry Shenzhen store - Interactive store window c Courtesy of Burberry
The Trench Experience 

เพื่อเฉลิมฉลองไอเท็มอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Burberry ได้รังสรรค์พื้นที่ภายในสโตร์ นำเสนอ The Trench Experience ที่จะพาลูกค้าสัมผัสกับเทรนช์โค้ทหลากหลายรูปแบบ 

ไม่ว่าจะเป็นเทรนช์โค้ทผลิตจากวัสดุที่คงทนต่อสภาพอากาศและสัมผัสบรรยากาศในแบบกลิ่นอายธรรมชาติภายในห้อง Trench Experience พร้อมให้ลูกค้าได้สร้างคอนเทนต์และเผยแพร่ลงบนโซเชียลมีเดีย

QR CODE

ลูกค้าสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของคอลเล็กชั่นใหม่ล่าสุด สินค้าประจำซีซั่น และ สินค้าสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่มีขายเฉพาะที่ Shenzhen สโตร์ ผ่านการสแกนป้าย QR Code ที่แนบไว้กับสินค้า 

โดยหลังจากที่สแกนป้าย QR บนหน้าจอมือถือของท่านจะแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นมาของสินค้าผ่าน Wechat Mini Program 

ทุกการสแกนจะเป็นการสะสมคะแนนใน Social Currency อีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้นสโตร์แห่งนี้ยังถือเป็นสโตร์แห่งแรกของ Burberry ที่มี QR แนบร่วมกับป้ายสิ้นค้าทุกชิ้น เรียกได้ว่าเป็นการเปิดประสบการณ์อีกขั้นแห่งยุคดิจิทัล

Burberry Shenzhen store - QR codes c Courtesy of Burberry
Thomas’s Cafe

Thomas’s Cafe แบ่งพื้นที่สำหรับการเชื่อมต่อของคอมมูนิตี้ โดยคาเฟ่นี้ได้รับการตั้งชื่อตาม Thomas Burberry ผู้ก่อตั้งแบรนด์ 

อีกทั้งได้รับแรงบันดาลใจจาก Riccardo Tisci ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ที่นำเอาโทนสีเบจ และ กระจกเงา อีกทั้งลายปริ้นท์รูปสัตว์นานาชนิด จากคลังภาพของ Riccardo รวมไปถึงภาชนะบนโต๊ะอาหารที่พิเศษสำหรับ Thomas’s Cafe โดยเฉพาะ 

ซึ่งเมนูที่ให้บริการได้เฉลิมฉลองวัฒนธรรมการดื่มชาของประเทศอังกฤษและจีน รวมถึงอาหารฟิวชั่นที่ให้ความรู้สึกสนุกสนานและทันสมัย อีกทั้งลูกค้ายังสามารถร่วมกิจกรรมผ่านทาง WeChat  Mini Program ที่สามารถนำเอาSocial Currency มาแลกไอเท็มเมนูใหม่สุดเอ็กซ์คลูซีฟได้อีกด้วย

Burberry Shenzhen store - Thomas's Cafe c Courtesy of Burberry

Fitting Rooms 

ภายในสโตร์ได้แบ่งห้องลองเสื้อผ้าออกเป็น 3 ห้อง แต่ละห้องมีคอนเซปต์ที่แตกต่างกันไป ได้แก่ the Burberry Animal Kingdom, Reflections และ the Thomas Burberry Monogram  ที่ล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเฉลิมฉลองให้กับแนวทางการออกแบบรูปแบบใหม่ของเฮ้าส์แห่งนี้ พร้อมบทเพลงจากเพลย์ลิสต์ที่จะเพิ่มความสุนทรีย์และให้คุณดื่มด่ำกับบรรยากาศภายในห้องลองได้อย่างเพลิดเพลิน และลูกค้าสามารถจองห้องลองที่ต้องการล่วงหน้าได้ผ่านทาง WeChat Mini Program

Burberry Shenzhen store - Fitting Rooms c Courtesy of Burberry

จากกรณีศึกษา “Burberry” จะเห็นถึงการทำ Digital Transformation ที่เอาเทคโนโลยีมาสร้าง Physical Store รูปแบบใหม่ที่ผสานระหว่างสินค้า – บริการเชิงกายกาย เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างแบรนด์ และประสบการณ์ “Omni-channel” ให้กับลูกค้าได้แบบไร้รอยต่อ 

และนี่คือ คำตอบว่าไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างไร “Physical Shop” ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อแบรนด์ หากแต่ว่าแบรนด์ต้องปรับเปลี่ยน Mindset ด้วยการเปิดใจรับเทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีดิจิทับมาประยุกต์ใข้กับองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของธุรกิจ

 

 

Source 

Source

Credit Photo (รูปที่ 2 – 7) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like