HomeFinancialพิษโควิด-19 ทำพฤติกรรม “ฝากเงิน” คนไทยเปลี่ยนไป ดันครึ่งปีแรก คนแห่ฝากเงินพุ่ง 80 ล้านราย

พิษโควิด-19 ทำพฤติกรรม “ฝากเงิน” คนไทยเปลี่ยนไป ดันครึ่งปีแรก คนแห่ฝากเงินพุ่ง 80 ล้านราย

แชร์ :

ต้องบอกว่า การแพร่ระบาดของวิกฤติโควิด-19 นับเป็นสถานการณ์ที่คนทั่วทั้งโลกรวมถึงประเทศไทยไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก แต่ยังกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิตของทุกคน จากเดิมที่เคยเดินทางออกจากบ้านไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ นั่งรับประทานอาหาร ดื่มกาแฟชิลๆ กันที่ร้าน ทุกอย่างต้องหันมาทำที่บ้าน แม้กระทั่งการช้อปปิ้ง และการฝากเงินยังเปลี่ยนไป โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA ได้เก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในการฝากเงิน เพื่อสะท้อนถึงพฤติกรรมและสถานการณ์การออมเงินของคนไทยในช่วงโควิด-19

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คนไทยกังวลเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 แห่ฝากเงินเพิ่ม

จากข้อมูลสถิติการฝากเงินในสถาบันการเงิน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินฝากในครึ่งปีแรกของปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน พบว่า จำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ. รวม 80.82 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.38% หรือราว 1.1 ล้านราย และมีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวนทั้งสิ้น 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2562 โดยกว่า 98% เป็นผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท และหากย้อนหลังไป 3 ปี พบว่า แนวโน้มจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองของระบบสถาบันการเงินเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2560 – 2562 มีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง จำนวน 12.54 ล้านล้านบาท 13.02 ล้านล้านบาท และ 13.56 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ปัจจุบันปริมาณเงินฝากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากเกือบทุกกลุ่ม โดยปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่ม “ผู้ฝากบุคคลธรรมดา” และ “ผู้ฝากภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และกองทุนต่าง ๆ” ทั้งยังมีการขยายตัวในทุกระดับวงเงินฝาก โดยเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ปริมาณเงินฝากสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 คุณทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) บอกว่า เป็นผลมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน ผู้คนจึงกังวลและทำให้มีการโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเงินฝากมีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นในตลาดเงินที่ผลตอบแทนลดลง และยังมีแนวโน้มการออมเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคต

ผลตอบแทนการฝากเงิน “น้อย” แต่ “ปลอดภัย”

โดยหากดูจากข้อมูลผลตอบแทนตามประเภทสินทรัพย์เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ระหว่างปี 2553 – 2562 จะพบว่า ผลตอบแทนการฝากเงินประเภทออมทรัพย์อยู่ที่ร้อยละ 0.72 ประเภทฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 1.88 ประเภทพันธบัตร 3 ปีอยู่ที่ร้อยละ 2.41 ทองคำอยู่ที่ร้อยละ 2.31 JUMBO25 (หุ้น) อยู่ที่ร้อยละ 10.01

คุณทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)

แม้การฝากเงินยังเป็นช่องทางที่มั่นคงและมีความปลอดภัยสูง แต่ผู้ฝากสามารถพิจารณาการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ตามความเหมาะสมและความต้องการของตนเอง โดยต้องพิจารณาและศึกษาการจัดสรรสินทรัพย์อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการบริหารการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ สคฝ. อยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อพิจารณาขยายการคุ้มครองในอนาคต

สำหรับ สคฝ. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝาก ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินภายใต้กฎหมาย ว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากทั้ง 35 แห่ง ซึ่งจะคุ้มครองทันทีในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน ในบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่ 1. เงินฝากกระแสรายวัน 2. เงินฝากออมทรัพย์ 3. เงินฝากประจำ 4. บัตรเงินฝาก และ 5. ใบรับฝากเงิน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาท โดยวงเงินคุ้มครองดังกล่าว สามารถครอบคลุมการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนของผู้ฝาก 80.51 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.63 ของผู้ฝากทั้งระบบ สำหรับเงินฝากที่เกินวงเงินการคุ้มครอง ผู้ฝากมีโอกาสได้รับเงินฝากคืนเพิ่มเติม จากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการในภายหลัง


แชร์ :

You may also like