HomeBrand Move !!Fitbit ถึงเวลาสร้าง “ความต่าง” บนเส้นทางสมาร์ทวอทช์

Fitbit ถึงเวลาสร้าง “ความต่าง” บนเส้นทางสมาร์ทวอทช์

แชร์ :

Fitbit Sense

เชื่อว่าหลายคนน่าจะกำลังมองหาความเปลี่ยนแปลงของ Fitbit หลังจากมีการประกาศว่าจะควบกิจการกับ Google   ซึ่งบางทีคำตอบนั้นอาจอยู่ในการเปิดตัวสมาร์ทวอทช์รุ่นล่าสุดอย่าง Fitbit Sense เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็เป็นได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยในสมาร์ทวอทช์รุ่นดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นการจัดเต็มด้านฟีเจอร์ ทั้งการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับสัญญาณ EDA (Electrodermal Activity) มาใช้บนสมาร์ทวอทช์เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งผู้ใช้งานสามารถวางฝ่ามือลงบนหน้าปัดของเครื่องเพื่อวัดหาความเปลี่ยนแปลงสัญญาณ EDA จากระดับความเข้มข้นของเหงื่อบนผิว ผ่านแอป EDA Scan ที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการความเครียดได้อีกหลายต่อ เช่น การทราบระดับความเครียดของตัวเอง (ระบบจะให้คะแนนจาก 1 – 100 คะแนนยิ่งมากแปลว่าความเครียดน้อย) หรือการจับคู่กับแอปด้านการนั่งสมาธิ ซึ่งจะมีการติดตามผลของการทำสมาธิว่าช่วยลดความเครียดลงได้อย่างไรด้วย

นอกจากนั้นใน Fitbit Sense ยังมีแอป ECG2 ที่ใช้ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสามารถติดตามความเสี่ยงเรื่องภาวะหัวใจสั่น หรือ atrial fibrillation (AFib) ซึ่งเป็นความปรกติที่พบในประชากรกว่า 33.5 ล้านคนทั่วโลกด้วย (การทำงานคือวางนิ้วมือลงบนมุมข้างใดข้างหนึ่งของวงแหวนนาฬิกาประมาณ 30 วินาที เพื่อให้อุปกรณ์อ่านข้อมูล จากนั้นก็สามารถดาวน์โหลดและแชร์ให้กับแพทย์ได้)

ส่วนแบตเตอรี่นั้น Fitbit บอกว่าสามารถอยู่ได้นานถึง 6 วัน เพื่อให้ผู้ซื้อไม่ต้องชาร์จแบตกันบ่อย ๆ และอีกข้อที่น่าสนใจก็คือ เรื่องผู้ช่วยดิจิทัล จากเดิมที่เคยรองรับ Amazon Alexa ได้รายเดียว ตอนนี้ Fitbit ก็สามารถใช้งาน Google Assistant ได้แล้วเช่นกัน

ถึงเวลาสร้าง “ความต่าง” บนเส้นทางสมาร์ทวอทช์

แต่ทั้งหมดนี้ สิ่งที่เป็นประเด็นหลักของการเปิดตัวสมาร์ทวอทช์รุ่นดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ฟีเจอร์ด้านสุขภาพ และการจัดการความเครียด ซึ่งเป็นสิ่งที่ Fitbit ตัดสินใจใส่ลงไปในสมาร์ทวอทช์รุ่น Sense เพื่อให้มัน “แตกต่าง” จากสมาร์ทวอทช์รายอื่น ๆ อีกทั้งยังตอบโจทย์เทรนด์ด้านสุขภาพที่ทั่วโลกตอนนี้กำลังให้ความสนใจมากขึ้นด้วย

การเลือกที่จะแตกต่างบนเส้นทางสมาร์ทวอทช์ของ Fitbit ส่วนหนึ่งอาจมาจากผลประกอบการในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่บริษัทสามารถทำยอดขายไปได้ทั้งสิ้น 2.5 ล้านชิ้น ลดลง 28.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผลจากยอดขาย 2.5 ล้านชิ้น ทำให้ Fitbit มีรายได้ทั้งสิ้น 261.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ซื้อกลุ่มหลักของ Fitbit ยังเป็นลูกค้าในสหรัฐอเมริกา 63% และที่เหลือมาจากต่างประเทศ

แม้ว่าจะมีความน่าสนใจของผลประกอบการไตรมาสนี้อยู่บ้างอย่างกรณีราคาขายเฉลี่ยของอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น 16% และยังพบว่าช่องทางอย่าง fitbit.com สร้างยอดขายได้สูงถึง 66 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 102% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในอีกด้าน ก็ปฏิเสธถึงผลประกอบการของ Fitbit ที่ลดลงไปไม่ได้

สัญญาณดังกล่าวยังเกิดขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 ที่บริษัททำรายได้ไป 188.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และมียอดขาย 2.2 ล้านชิ้น ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2019 ที่เคยทำได้ถึง 2.9 ล้านชิ้นเช่นกัน

ไฮไลท์ของไตรมาส 1 ที่ผ่านมาอาจเป็นเรื่องของยอดขายที่ Fitbit พบว่า สมาร์ทวอทช์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการทำรายได้ให้กับบริษัท โดยยอดขายสมาร์ทวอทช์ของ Fitbit ครองส่วนแบ่ง 54% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่อุปกรณ์ Tracker ครองส่วนแบ่ง 42% และที่เหลือเป็นรายได้จากเซอร์วิส

ขณะที่การควบรวมกิจการกับ Google นั้น ทาง Fitbit เผยว่ามีแนวโน้มว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ (2020) โดยประเด็นที่อาจทำให้การควบรวมกิจการล่าช้ามาจากการที่คณะกรรมการสหภาพยุโรป (The European Commission : EC) กำลังจะเปิดการไต่สวนกรณีที่มีความกังวลเรื่องการนำข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้งาน Fitbit ไปผนวกเข้ากับระบบ Ad-Targeting ของ Google ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้ Google จะออกมาปฏิเสธว่าจะไม่มีการใช้ข้อมูลด้านสุขภาพของ Fitbit ในการแสดงผลโฆษณาแล้วก็ตาม โดย Fitbit อธิบายเอาไว้ในเอกสารว่า หากการไต่สวนดังกล่าวแล้วเสร็จ บริษัทคาดว่าจะสามารถควบรวมกิจการกับ Google ได้ภายในปีนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงอาจเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ทำให้ Fitbit บริษัทที่ครั้งหนึ่ง (ปี 2014) เคยเป็นผู้นำในตลาด wearable device โดยครองส่วนแบ่งเอาไว้ได้ถึง 44.7% ต้องเร่งสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของทางค่าย และเราอาจต้องรอดูกันว่า Fitbit Sense และเซอร์วิสที่ทางค่ายเพิ่มเข้ามานั้นจะสามารถจับใจผู้บริโภคยุคที่ว่ากันว่ากังวลเรื่องสุขภาพมากกว่ายุคใด ๆ ได้หรือไม่

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like